สัมพันธ์สหรัฐระอุ! เมื่อ 'จีน' จีบ 'เวียดนาม-อาเซียน'

สัมพันธ์สหรัฐระอุ! เมื่อ 'จีน' จีบ 'เวียดนาม-อาเซียน'

ปักกิ่งเดินหน้าแก้ไขความขัดแย้งกับเวียดนามและเพื่อนบ้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระชับสัมพันธ์ทางเศรฐกิจ เสนอให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูประเทศหลังโควิด-19 ในช่วงที่กำลังระอุกับวอชิงตันเรื่องทะเลจีนใต้

เว็บไซต์เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์รายงานว่า หวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน พยายามลดความเป็นปรปักษ์กับรัฐบาลฮานอยที่กำลังเพิ่มความตึงเครียดขึ้นทุกขณะ เมื่อวันอังคารที่่ผ่านมา (20 ก.ค.) เขาประชุมเสมือนจริงกับฟาม บินห์มินห์ รัฐมนตรีต่างประเทศเวียดนาม หนึ่งวันหลังจากโหล่ จ้าวฮุย รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ พยายามรับรองกับประเทศเพื่อนบ้านว่า จีนต้องการสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค

นอกจากนี้ เมื่อวันจันทร์ (20 ก.ค.) จีนยังเจรจาหาข้อสรุปเรื่องข้อตกลงการค้าเสรีกับกัมพูชา พันธมิตรใกล้ชิดที่สุดในบรรดา 10 ชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)และเป็นคู่ปรับกับเวียดนาม ประเทศที่ท้าทายการขยายอิทธิพลในทะเลจีนใต้ของจีนมากที่สุด

ขณะที่ข้อตกลงการค้าเสรีอาจเป็นเพียงเชิงสัญญลักษณ์เพราะมูลค่าทางการค้าระหว่างกันมีไม่มาก แต่นักวิเคราะห์กล่าวว่า ข้อตกลงการค้าชี้ให้เห็นยุทธศาสตร์ของปักกิ่งใช้แรงจูงใจทางเศรษฐกิจชักชวนนานาประเทศให้ปันใจออกห่างจากสหรัฐ

ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า การที่จีนอ้างกรรมสิทธิเกือบ 90% ของทะเลจีนใต้ เป็นเรื่องไม่ถูกกฎหมายอย่างสิ้นเชิง ความเคลื่อนไหวนี้ยิ่งเติมเชื้อความตึงเครียดของสองมหาอำนาจออกไปอีก

ส่วนการพบกันระหว่าง รมต.ต่างประเทศจีน-เวียดนาม หวังกล่าวระหว่างการประชุมกับฟาม โดยอ้างถึงการโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และประธานาธิบดีเหวียน ฝูจ่องของเวียดนามเมื่อ 6 เดือนก่อน

"การเผชิญกับการระบาดของวิด-19 ทั้งจีนและเวียดนามได้กระชับความสัมพันธ์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกันเราต่างประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของไวรัส และเราจะสร้างความร่วมทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างกันต่อเนื่องไป"

ฟาม รัฐมนตรีต่างประเทศและรองนายกรัฐมนตรีเวียดนามให้คำมั่นบริจาคเงิน 100,000 ดอลลาร์ “เป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพระหว่างเรา” เพื่อจีนที่ประสบอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี เสียหาย 27 มณฑล ประชาชนเดือดร้อนกว่า 38 ล้านคน

“ผมต้องการแสดงความเห็นใจอย่างจริงใจต่อจีน ที่กำลังต่อสู้ภัยธรรมชาติ" รมต.ต่างประเทศเวียดนามกล่าว

ซู หลี่ปิง ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันเอเชียแปซิฟิกศึกษา แห่งสถาบันสังคมศาสตร์จีน คาดว่า การประชุมของทั้งสองฝ่ายครอบคลุมในหลายประเด็น รวมถึงข้อพิพาททางทะเล

159566981877

“การประชุมเกิดขึ้นท่ามกลางฉากหลังการเจรจาเรื่องแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ระหว่างจีนและอาเซียนเขม็งเกลียวขึ้นทุกขณะเพราะกำลังเข้าสู่จุดล่อแหลม" นักวิชาการกล่าว

จีนและเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พยายามแสวงหาข้อตกลงเรื่องแนวปฎิบัติในทะเลจีนใต้มานานหลายปีซึ่งจีนหวังว่าจะได้ข้อสรุปภายในปี 2564 แต่การพูดคุยต้องเลื่อนออกไปเพราะการระบาดของโควิด-19 และประเทศที่เกี่ยวข้องต่างยังคงแตกแยกร้าวลึก เรื่องวิธีนิยามการอ้างกรรมสิทธิให้ชัดเจน และวิธีการระงับข้อพิพาทในอนาคต

ซูกล่าวว่า จากความไม่แน่นอนของการเจรจา เวียดนามจึงกระตือรือร้นที่จะใช้ตำแหน่งประธานอาเซียนปีนี้และท่าทีแข็งกร้าวของสหรัฐในทะเลจีนใต้ต่อกรกับจีน

จีนและเวียดนาม เพื่อนบ้านที่ต่างก็เป็นคอมมิวนิสต์ด้วยกันทั้งคู่ ประกาศว่าจะพักความขัดแย้งเรื่องข้อพิพาทดินแดนและความขมขื่นในอดีตไว้ก่อน แต่ความสัมพันธ์ก็ยังไม่ราบรื่นเมื่อฮานอยหันไปหาสหรัฐ แล้วทั้งจีนและเวียดนามก็แข่งกันอ้างกรรมสิทธิเหนือทะเลจีนใต้ที่มีพลังงานอุดมสมบูรณ์ ฮานอยกล่าวหาปักกิ่งว่า “พฤติกรรมก้าวร้าว” ในทะเลจีนใต้ เช่น ในเดือน เม.ย. เรือประมงเวียดนามถูกเรือจีนชนจนล่มลง

ด้านโหล่ รมช.ต่างประเทศจีน มีท่าทีแข็งกร้าวกว่า วิจารณ์ท่าทีของสหรัฐต่อข้อพิพาททะเลจีนใต้ และการที่สหรัฐส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำเข้ามาในภูมิภาค เป็นเครื่องพิสูจน์ยุทธศาสตร์สกัดจีนของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

“เราเชื่อว่าประเทศสมาชิกอาเซียนจะมองทะลุถึงวาระซ่อนเร้นของสหรัฐในการเล่นบทบาทในทะเลจีนใต้ และยังคงยึดแนวทางการมีนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระ และทำงานร่วมกันกับจีนผลักดันการเจรจาแนวปฎิบัติในทะเลจีนใต้ให้เสร็จสมบูรณ์โดยเร็ว"แถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศจีนระบุ

จู เฟิง ผู้อำนวยการศูนย์จีน เพื่อความร่วมมือศึกษาแห่งทะเลจีนใต้ มหาวิทยาลัยหนานจิง กล่าวว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐ ระบุ

“เรากำลังเป็นประจักษ์พยานของความตึงเครียดในภูมิภาคและสิ่งสำคัญลำดับแรกของเราคือการจัดการวิกฤติและป้องกันการเผชิญหน้าทางการทหาร” เขากล่าว

เมื่อวันอังคาร (21 ก.ค.) มาร์ก เอสเปอร์ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ เผยว่า มีแผนไปเยือนจีนในปีนี้เพื่อเจรจาเรื่อง “การสื่อสารในภาวะวิกฤติ” หลังจากวอชิงตันใช้ท่าทีเข้มขึ้นขึ้นต่อต้านปักกิ่งในทะเลจีนใต้

เอสเปอร์กล่าวว่า เขาคุยกับรัฐมนตรีกลาโหมจีนหลายครั้ง และหวังว่าจะเดือนทางไปเยือนได้ภายในสิ้นปี เป้าหมายหนึ่งของการเยือนคือ สถาปนาระบบที่จำเป็นต่อการสื่อสารในภาวะวิกฤติ สนับสนุนเจตนารมณ์สหรัฐในการแข่งขันอย่างเปิดเผยในระบบสากลที่ทุกคนต่างเป็นเจ้าของ