ภารกิจตลท.ปั้นธุรกิจใหม่ เพิ่ม‘เสน่ห์’ตลาดหุ้นไทย

ภารกิจตลท.ปั้นธุรกิจใหม่  เพิ่ม‘เสน่ห์’ตลาดหุ้นไทย

การลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังคง “ผันผวน” ต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นผลจาก “นักลงทุนต่างชาติ” ที่เทขายหุ้นไทยต่อเนื่อง

 โดยถ้าดูตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน นักลงทุนกลุ่มนี้มียอดขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยรวมแล้วกว่า 2.23 แสนล้านบาท และไม่เฉพาะปีนี้เท่านั้นที่ นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยต่อเนื่อง หากย้อนดูช่วง 8 ปีที่ผ่านมา พบว่า นักลงทุนกลุ่มนี้ขายสุทธิหุ้นไทยออกมารวมแล้วกว่า 8 แสนล้านบาท

...คำถาม คือ เพราะเหตุใด “นักลงทุนต่างชาติ” จึงเทขายหุ้นไทยต่อเนื่อง ตลาดหุ้นไทยกำลังหมดเสน่ห์แล้วใช่หรือไม่?

“ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ให้ความเห็นกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า โดยส่วนตัวแล้วยังมั่นใจว่า นักลงทุนต่างชาติยังให้น้ำหนักกับการลงทุนในตลาดหุ้นไทยอยู่ และตลาดหุ้นไทยก็ยังมีเสน่ห์ในตัวเอง เนื่องจากตลาดหุ้นไทยมีหุ้นที่อยู่ในดัชนี MSCI รวมกว่า 40 บริษัท ถือเป็นตลาดหุ้นที่มีหุ้นเข้าคำนวณในดัชนี MSCI มากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา MSCI ยังได้ปรับเพิ่มน้ำหนักหุ้นไทยที่เข้าคำนวณในดัชนีฯ ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.67% ซึ่งการปรับเพิ่มน้ำหนักหุ้นไทย เป็นผลจากการที่ MSCI ยอมรับให้นำ NVDR เข้ามาเป็นฟรีโฟลทในปีที่ผ่านมา

“การที่ MSCI ยอมให้นำ NVDR มาร่วมคำนวณด้วย ส่วนหนึ่งเพราะการผลักดันของเรา(ตลาดหลักทรัพย์) ที่ทำเรื่องนี้มาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้หุ้นไทยใน MSCI ได้รับการปรับน้ำหนักขึ้นมาเป็น 2.5% จากเดิม 2.1% ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นมากสุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อันนี้ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้การซื้อขายช่วงนั้น (ช่วงที่ MSCI ประกาศเพิ่มน้ำหนักหุ้นไทย) มีวอลุ่มสูงถึง 2 แสนล้านบาท”

อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดหุ้นไทยจะได้รับการปรับน้ำหนักเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องผลักดันต่อ เพราะ MSCI จะมีการเพิ่มน้ำหนักหุ้น A-share ของจีนเข้ามาคำนวณในดัชนีฯมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้น้ำหนักหุ้นไทยลดลงไปเรื่อยๆ จึงเป็นจังหวะที่ต้องกลับมานั่งคิดว่าธีมหุ้นใหม่ๆของไทยที่จะช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติคืออะไร ซึ่งหนึ่งในกลุ่มที่น่าสนใจขณะนี้ คือ อินฟราสตรักเจอร์ฟันด์ เพราะอนาคตประเทศต่างๆในภูมิภาคจะมีการลงทุนพวกโครงสร้างพื้นฐานอีกจำนวนมาก

“หากเอาโครงการที่เสร็จแล้วมาใช้เป็นสินทรัพย์ในการระดมทุนได้ แล้วทำไมจะเอาเขื่อนในประเทศสปป.ลาว,ในประเทศเมียนมาร์ หรืออ่างเก็บน้ำในประเทศกัมพูชามารวมกันเป็นก้อนแล้วมาระดมทุนเป็นดอลลาร์ไม่ได้ ผมมองว่าไทยเป็นจุดศูนย์กลางที่จะทำเรื่องพวกนี้ได้ดีมาก แต่ว่าเราอาจต้องมีมุมมองที่ดีที่จะทำเรื่องเหล่านี้”

ภากร ย้ำด้วยว่า เสน่ห์ของตลาดหุ้นไทยในมุมมองของต่างชาติ ถ้าเป็นในเรื่องธุรกิจที่เราเป็น “ผู้นำ” เชื่อว่าไม่มีตลาดหุ้นไหนดีเท่าเรา เพราะตลาดหุ้นไทยมีหุ้นที่เป็นผู้นำโลกถึง 7 บริษัท อยู่ใน DJSI และยังเป็นผู้นำของกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวก็เป็นชั้นนำและอยู่ในกลุ่ม well-being ที่ผู้ลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ 

ส่วนโจทย์ตอนนี้ คือ ความเซ็กซี่ที่คนเขาหากันอยู่ เช่น กลุ่มเทคโนโลยี เรามองว่าอาจต้องใช้เวลา เพราะปัจจุบันกำลังพยายามโปรโมทเพื่อสร้างบริษัทพวกนี้ให้เกิดมากขึ้น

“ในอดีตเรามักจะบอกว่าเราไม่มีบริษัทพวกเทคโนโลยีไปขาย แต่ตอนนี้รู้แล้วว่าจะไปขายอะไร ผมจะไปแสดงให้คนเห็นว่าบริษัทที่มีการปรับตัว บริษัทที่ทำเรื่อง ESG ดูแลพวกสิ่งแวดล้อมดีๆ ขายได้แน่นอน ตลาดหุ้นไทยมีบริษัทเหล่านี้อยู่ ต้องนำมาเป็นจุดขาย  และลุ่มใหม่ที่เราต้องช่วยกันสร้าง ซึ่งอาจต้องใช้เวลาบ้าง เช่น พวกเทคโนโลยี,ดิจิทัล,โลจิสติกส์ หรือเรื่องอะไรที่เป็นโลกแบบใหม่ ซึ่งอันนี้ข้อดี คือเราหวังว่าตรงอีอีซีจะเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา"

ส่วนสาเหตุที่นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยออกมาต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมานั้น พบว่า คนที่ขายส่วนใหญ่เป็นกลุ่มโปรแกรมเทรดดิ้ง ส่วนผู้ลงทุนเป็นเน้นลงทุนระยะยาวไม่ได้ขายออกมามากนัก 

ภากร บอกด้วยว่า สัดส่วนของนักลงทุนต่างชาติที่เพิ่มขึ้นมาเกือบๆ 40% จากเดิม 20% ส่วนใหญ่ก็มาจากโปรแกรมเทรดดิ้ง เป็นกลุ่มที่ซื้อขายเร็ว ขณะเดียวกันยังพบว่า หุ้นที่ขายออกมาก็ไม่ใช่หุ้นที่ต่างชาติถือโดยตรง แต่เป็นหุ้นใน NVDR กับนักลงทุนในประเทศ 

โดยมองว่าปัจจุบันสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติขยับขึ้นมาจาก 20% มาเป็นเกือบ 40% ส่วนที่เพิ่มก็เป็นพวกโปรแกรมเทรดดิ้งหรือกลุ่มที่ซื้อขายเร็วทั้งนั้น นอกจากนี้หากดูสัดส่วนการถือครองหุ้นไทยของต่างชาติพบว่าปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 27% ซึ่งลดลงจากระดับ 30% หรือลดลงไปเพียง 3% เท่านั้น ไม่ได้ถือว่ามากนัก