ร.ฟ.ท.ดันส่วนต่อขยายไฮสปีดเทรน นำร่อง'อู่ตะเภา-แกลง'

ร.ฟ.ท.ดันส่วนต่อขยายไฮสปีดเทรน นำร่อง'อู่ตะเภา-แกลง'

ร.ฟ.ท.ดันลงทุนต่อขยายรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยอง-จันทบุรี-ตราด 1 แสนล้านบาท นำร่องเฟสแรกอู่ตะเภา-แกลง ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูง 9%

นายสุชีพ สุขสว่าง วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อประเมินความสนใจเบื้องต้นของภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการวิเคราะห์และศึกษารถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 2 ส่วนต่อขยายจังหวัดระยอง–จันทบุรี-ตราด โดยระบุว่า ขณะนี้ ร.ฟ.ท.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม การเงิน แนวทางการลงทุนที่เหมาะสม ออกแบบและประมาณราคาค่าก่อสร้าง

โดยผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในเดือน ส.ค.นี้ หลังจากนั้นจะเสนอโครงการให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอได้ภายในปี 2564 และคาดว่าจะเริ่มจัดทำรายละเอียดเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี) ในได้ช่วงปี 2565 ก่อนจัดหาผู้ลงทุน และออกแบบการก่อสร้างในปี 2567 ทดสอบรถและเปิดให้บริการในปี 2571

สำหรับผลการศึกษาพบว่าโครงการดังกล่าวมีผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) เพียง 5.39% มีระยะก่อสร้างทางรวม 190 กิโลเมตร (กม.) ใช้ระยะเวลาเดินรถรวม 64 นาที โดยมีอัตราค่าโดยสารแรกเข้า 95 บาท และบวกเพิ่มอีกกิโลเมตรละ 2.1 บาทตลอดเส้นทาง รวมตลอดเส้นทางระยอง–จันทบุรี-ตราด ค่าโดยสารสูงสุด 494 บาท

ส่วนจำนวนผู้โดยสาร คาดการณ์ว่าปีแรกที่เปิดให้บริการจะมีผู้โดยสารวันละ 7,429 คน หลังจากนั้นจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2581 เป็นในวันละ 10,896 คน ปี 2591 เพิ่มเป็น 15,251 คน และปี 2601 เพิ่มขึ้นเป็น 19,575 คน ตามลำดับ

นายสุชีพ ยังกล่าวด้วยว่า รูปแบบการลงทุนจะเป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เบื้องต้น ร.ฟ.ท.ได้เสนอรูปแบบร่วม แบบ PPP Net Cost โดยเสนอเป็น 3 แนวทางเลือก คือ

แบบที่ 1 เอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ทั้งงานโยธา งานระบบ ขบวนรถ และ งาน Operation & Maintenance โดยภาครัฐเป็นผู้จัดหาที่ดิน

แบบที่ 2 เอกชนเป็น ผู้ดำเนินงานเฉพาะงานระบบและตัวรถ และ งาน Operation & Maintenance โดยภาครัฐเป็นผู้จัดหาที่ดิน และงานโยธา

แบบที่ 3 เอกชนเป็นผู้ดำเนินการเฉพาะงาน Operation & Maintenance โดยภาครัฐเป็นผู้จัดหาที่ดิน งานโยธา งานระบบ และขบวนรถ

สำหรับโครงการดังกล่าวพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor) รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยว เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่ง และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านการเดินทางและการขนส่งสินค้าในนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก

รายงานข่าวจาก ร.ฟ.ท. เปิดเผยว่า โครงการส่วนต่อขยายไฮสปีดเทรน จังหวัดระยอง – จันทบุรี – ตราด ระยะทางรวม 190 กม. ใช้งบประมาณลงทุน 101,728 ล้านบาท ประเมินวงเงินค่าเวนคืนที่ดิน 12,999 ล้านบาท งานโยธา 69,148 ล้านบาท งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) 12,088 ล้านบาท เป็นต้น

แต่กลับพบว่าระยะทางช่วงดังกล่าวผลการศึกษาชี้ว่าไม่มีความคุ้มค่าในการลงทุน เนื่องจากมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ 5.39% ซึ่งต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่รับกำหนด 12%

นอกจากนี้ แนวเส้นทางช่วงจังหวัดระยอง – จันทบุรี – ตราด คาดว่าจะต้องดำเนินการเวนคืนที่ดินเพื่อการก่อสร้างรวมประมาณ 2 – 3 พันหลังคาเรือน จึงมีความเป็นไปได้ที่ ร.ฟ.ท. อาจจะก่อสร้างระยะแรกก่อน คือ ต่อขยายจากสถานีอู่ตะเภา ไปยังสถานีระยอง และสถานีแกลง รวมระยะทางประมาณ 100 กม.วงเงินลงทุนประมาณ 4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ 9% ซึ่งคุ้มค่ากว่าการสร้างตลอดทั้งเส้นทาง ส่วนช่วงจากสถานีแกลง ไปยังสถานีจันทบุรีและสถานีตราด อาจจะพิจารณาในระยะเวลาที่เหมาะสมต่อไป เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลมีงบประมาณจำกัด

สำหรับอายุสัมปทานตามกฎหมายพีพีพี ระบุให้ไม่เกิน 50 ปี ซึ่งโครงการนี้ก็อาจจะให้อายุสัมปทานเท่ากับไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ส่วนการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี (TOD) เอกชนจะต้องลงทุนจัดหาพื้นที่เองเนื่องจาก ร.ฟ.ท.ไม่มีพื้นที่รอบสถานีเพียงพอที่จะให้พัฒนาเชิงพาณิชย์ อีกทั้งโครงการนี้ เป็นการพัฒนาจากแนวเวนคืนที่ดินของประชาชน ดังนั้น ร.ฟ.ม.จึงไม่สามารถนำไปพัฒนาโครงการอื่นนอกเหนือจากการคมนาคมขนส่ง

อย่างไรก็ตาม การเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากภาคเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศจำนวนมาก รวมกว่า 200 ราย ทั้งจากภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภาคธนาคาร และภาคการก่อสร้าง อาทิ

บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท อิตัลไทยวิศวกรรม จำกัด, บริษัท รสา พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท มารูเบนิ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท มิตซูบิชิ อิเล็คทริค เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)

รวมทั้งยังมีตัวแทนจากกลุ่มบริษัทซีพี ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานก่อสร้างและเดินรถไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน และ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มพันธมิตรบีเอสอาร์ ที่ยื่นประมูลไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินด้วย

ทั้งนี้ ส่วนต่อขยายจังหวัดระยอง–จันทบุรี-ตราด มีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) หรือโครงการไฮสปีดเทรนระยะที่ 1 โดยจะเชื่อมต่อฝั่งตะวันออกของสนามบินอู่ตะเภา ผ่านสถานีรถไฟบ้านฉาง เข้าสู่สถานีระยอง ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 3574 (ระยอง- บ้านค่าย) ห่างจากสี่แยกเกาะลอยประมาณ 3 กม.

จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งหน้าสู่อำเภอแกลง เข้าสู่สถานีแกลง ซึ่งตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 344 (ชลบุรี-แกลง) ห่างจากสามแยกแกลง ประมาณ 2 กม.วิ่งตามแนวเส้นทางรถไฟทางคู่บางช่วง ผ่านอำเภอนายายอาม อำเภอท่าใหม่ เข้าสู่สถานีจันทบุรี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณแยกเขาไร่ยา

ผ่านอำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอมะขาม อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เข้าอำเภอเขาสมิงและมาสิ้นสุดโครงการบริเวณสถานีตราด ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บนทางหลวงหมายเลข 3 (ถ.สุขุมวิท) ห่างจากสามแยกตราด ประมาณ 2 กม.รวมระยะทาง 190 กม. โดยมีสถานีรวมทั้งสิ้น 4 สถานี คือ สถานีระยอง สถานีแกลง สถานีจันทบุรี และสถานีตราด