2 หุ้นความงาม 'หมื่นล้าน' ความมั่งคั่งที่หดหาย

2 หุ้นความงาม 'หมื่นล้าน' ความมั่งคั่งที่หดหาย

'ขาลง' ที่แท้จริงของ '2 ดาวเด่น' หุ้นเครื่องสำอางแบรนด์ไทย ! สารพัดปัญหาถาโถม ฉุด 'ความสวย' BEAUTY & DDD จืดจาง...ที่ครั้งหนึ่งเคยฮอตฮิตในเหล่านักลงทุน 'สร้างกำไร' เป็นกอบเป็นกำ ลุ้นครึ่งหลังจะกลับมาเสน่ห์แรง ออร่าโดนใจได้หรือไม่…?

หากเอ่ยถึง 'หุ้นสตอรี่โดดเด่น !' ทั้งในแง่ของผลประกอบการ กำไรสุทธิ รายได้ และกำไรจากส่วนต่างของราคา (Capital Gain) ของเหล่านักลงทุนไม่เกิน 5 ปีย้อนหลัง หนึ่งในนั้นต้องมี 'หุ้นกลุ่มความงาม' อย่าง บมจ. บิวตี้ คอมมูนิตี้ หรือ BEAUTY ของ 'นายแพทย์สุวิน ไกรภูเบศ' เจ้าของแบรนด์บิวตี้ บุฟเฟต์ (BEAUTY BUFFET) บิวตี้ คอทเทจ (BEAUTY COTTAGE) และเมด อิน เนเจอร์ (MADE IN NATURE) และ บมจ. ดู เดย์ ดรีม หรือ DDD ของ 'สราวุฒิ พรพัฒนารักษ์' เจ้าของแบรนด์ NAMU LIFE โดยมีชื่อกลุ่มผลิตภัณฑ์ว่า SNAILWHITE

เพราะที่ผ่านมาถือว่าเป็นหุ้นที่เต็มไปด้วย 'สตอรี่' มีอัตราการเติบโตที่ดี ทั้งในแง่ของ กำไรสุทธิรายได้ แผนขยายการลง และ ราคาหุ้น !

อีกทั้งนักลงทุนยังเชื่อว่าตลาดเครื่องสำอางทั้งในและต่างประเทศจะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจซบเซา หรือ แม้แต่มีความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศ ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศชะลอตัว แต่ว่าธุรกิจเครื่องสำอางกลับไม่สะเทือน ! เติบโตได้โดยมีขนาดอุตสาหกรรมทะลุ 3 แสนล้านบาทไปแล้ว

ทำให้หุ้นกลุ่มเครื่องสำอางเป็นกลุ่มที่ได้รับความนิยม และมีผลต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) อย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา..

หากลองค้นหาหุ้นในกลุ่มเครื่องสำอางที่อยู่ในตลาดหุ้นไทยพบว่ามีกว่า '10 แบรนด์ดังของไทย' ประกอบด้วย 1.บมจ. บิวตี้ คอมมูนิตี้ หรือ BEAUTY เป็นธุรกิจค้าปลีกเครื่องสำอางแบรนด์ Beauty Buffett, Beauty Cottage, Beauty Market และ Beauty Plaza แบรนด์เครื่องสำอาง Made in Nature, Gino McCray, Scentio, Lansley, และ The Bakery

2. บมจ.ดู เดย์ ดรีม หรือ DDD ธุรกิจค้าปลีกเครื่องสำอางแบรนด์ NAMU LIFE โดยมีชื่อกลุ่มผลิตภัณฑ์ว่า SNAILWHITE 3. บมจ. คาร์มาร์ท หรือ KAMART ธุรกิจค้าปลีกเครื่องสำอาง Karmarts Shop แบรนด์เครื่องสำอาง Cathy Doll, Cathy Choo, Baby Bright, Reunrom, Crayon, Oppa Style, Boya และ Nuna

4. บมจ. อาร์เอส หรือ RS ธุรกิจค้าปลีกเครื่องสำอาง 1781 แบรนด์เครื่องสำอาง Magique, Revive และ Clear Expert 5. บมจ. เอ็มพีจี คอร์ปอเรชั่น หรือ MPG ธุรกิจค้าปลีกเครื่องสำอาง Stardust แบรนด์เครื่องสำอาง Clouda และ Keira 6. บมจ. แกรททิทูด อินฟินิท หรือ GIFT ธุรกิจ จัดจำหน่ายวัตถุดิบผลิตเครื่องสำอาง แบรนด์เครื่องสำอาง DE ‘AMOUR

7. บมจ. โอ ซี ซี หรือ OCC ธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องสำอาง Covermark, KMA, Sungrace, Shiseido Professional, Zotos, BSC Hair Care และ Paul & Joe 8. บมจ. ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ ICC ธุรกิจค้าปลีกเครื่องสำอาง Beauty Station จัดจำหน่ายเครื่องสำอาง BSC Pure Care, SHEENE´, Arty Professional, Honei V, St. Andrews และ Enfant

9. บมจ. แจ๊กเจียอุตสาหกรรม (ไทย) หรือ JCT ธุรกิจเครื่องสำอางตาบู เคลีย และห้านกยูง และ 10. บมจ. อี ฟอร์ แอล เอม หรือ EFORL ธุรกิจคลินิกความงามวุฒิศักดิ์คลินิก แบรนด์เครื่องสำอาง Siam Snail และ That’s so

ทว่า พักหลังสถานการณ์ของหุ้นกลุ่มเครื่องสำอาง กลับไม่เป็นเช่นเดิม! ในช่วงปี 2561 หุ้นเครื่องสำอางเริ่มมีผลประกอบการชะลอตัวลง นับจากการปราบปรามเครื่องสำอางเมจิกสกิน ที่ปลอมแปลงเครื่องหมายอาหารและยา (อย.) ฉุดความเชื่อมั่นจากลูกค้าต่างประเทศ กระทบต่อยอดขายเครื่องสำอางทุกบริษัทของไทยอย่างยากจะหลีกเลี่ยง

ต่อมาในเดือนก.ค. 2561 จากเหตุการณ์เรือล่มในจังหวัดภูเก็ต ทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยเจอวิกฤตินักท่องเที่ยววูบลุกลามหนัก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนที่เป็นลูกค้ารายสำคัญของหุ้นเครื่องสำอางในไทย กระทั้งช่วงครึ่งแรกปี 2562 สถานการณ์กำลังจะฟื้นตัว หลังนักท่องเที่ยวจีนเริ่มทยอยกลับมาบ้างแล้ว

ทว่า ยังไม่ทันไรก็มาเจอกับ 'วิกฤติครั้งใหญ่ !' ที่ส่งผลกระทบทั่วโลกอย่าง การระบาดเซื้อไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภค 'หดหาย' ทั้งในประเทศและส่งออก หลังหลายประเทศใช้มาตรการปิดเมือง (ล็อกดาวน์) เพื่อสกัดกันโควิด-19

ทว่า ประเด็นดังกล่าวยังไม่จางหายอุตสาหกรรมความงามต้องสั่นสะเทือนอีกครั้ง! เมื่อมีประเด็นใหม่เข้ามาเขย่าอุตสาหกรรม จากกรณีสถานบริการความงามอย่าง 'วุฒิศักดิ์ คลินิก' ผู้ประกอบการคลินิกความงามวุฒิศักดิ์คลินิก แบรนด์เครื่องสำอาง Siam Snail และ That’s so ต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลล้มละลายกลางขอฟื้นฟูกิจการ เพราะว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว...นับเป็นข่าวที่สร้างความ 'ฮือฮา' ในกลับวงวงความงามไม่น้อย เพราะใคร? จะคาดคิดว่าจากธุรกิจความงามที่แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัว มีความวุ่นวาย ทางการเมือง ก็ยังไม่สะเทือนและสามารถสร้างกำไรจากผู้หญิงจำนวนมาก

แต่เมื่อเจอวิกฤติโควิด-19 เป็นเหมือนปฏิกิริยาตัวเร่งที่ทำให้ธุรกิจแย่ลง จากธุรกิจที่เคยเฟื้องฟูที่ครั้งหนึ่งทุ่มเงินซื้อโฆษณาจำนวนมาก และดึงดาราดังๆ เข้ามาเป็นพรีเซ็นเตอร์มากมาย ทำให้คลินิกแห่งนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในเวลาอันรวดเร็ว

ทว่า มาวันนี้กลับจะต้องเดินเข้าสู่กระบวกการฟื้นฟูกิจการ...!!

จุดเปลี่ยนสำคัญของ วุฒิศักดิ์ คลินิก เกิดขึ้นในปี 2557 เมื่อ บมจ. อี ฟอร์ แอล เอ็ม หรือ EFORL ผู้ประกอบธุรกิจตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของวุฒิศักดิ์ ด้วยจำนวนเงินประมาณ 4,500 ล้านบาท ที่กู้ยืมจากสถาบันการเงินราว 3,000 ล้านบาท แม้วุฒิศักดิ์จะทำเงินในระยะแรก

แต่ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา บริษัทก็มีปัญหาจนต้องเปลี่ยนแปลงตัวผู้บริหารหลายครั้ง รวมถึงมีรายได้ที่ลดลงและขาดทุนอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 มีผลการประกอบการขาดทุนสูงถึง 1,163 ล้านบาท ! นอกจากนี้ยังมีประเด็นการเติบโตของสถานบริการด้านความงามที่เปิดเป็นจำนวนมากราวกับดอกเห็ดจึงทำให้ความแข็งแกร่งของวุฒิศักดิ์คลินิกเริ่มลดลง

จากความตั้งใจแรกเริ่มของ EFORL มาถือวุฒิศักดิ์ จะปั้นให้ วุฒิศักดิ์ ระดมทุน IPO เข้าตลาดหุ้น แล้วเอาเงินที่ได้จาก IPO มาใช้หนี้ ทว่าวันนี้กลับต้องเดินเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ !

จากปัญหาสารพัดของอุตสาหกรรมความงาม ไม่เฉพาะวุฒิศักดิ์ ทำให้หุ้นกลุ่มดังกล่าวได้รับ sentiment เชิงลบตามไปด้วย สะท้อนผ่าน '2 หุ้น' กลุ่มเครื่องสำอาง 'ดาวเด่น' ที่เคยเป็น 'จุดดึงดูดเงิน' ของนักลงทุนหน้าเก่า-ใหม่ ที่เคยทำ 'กำไรจากส่วนต่างของราคา' (Capital Gain) ขยับขึ้นไปทำราคา 'สูงสุด' (New High) ในช่วงที่ผ่านมาอย่าง 'หุ้น BEAUTY และ DDD' แต่วันนี้นักลงทุนคงจำได้ดีว่าหุ้นในกลุ่มนี้ 'ทำให้เจ็บหนักเช่นกัน'

โดย หุ้น BEAUTY เคยทำจุดสูงสุดที่ราคา 23.70 บาท หลังจากนั้นราคาหุ้นปรับตัวลงลงอย่างต่อเนื่องจนทำจุดต่ำสุดที่ราคา 1.85 บาท และ หุ้น DDD เคยทำจุดสูงสุดที่ราคา 121 บาท หลังจากนั้นราคาหุ้นก็ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จนทำจุดต่ำสุดที่ราคา 15.10 บาท

ขณะที่ 'มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด' (มาร์เก็ตแคป) ของ 'หุ้น BEAUTY' ปรับตัว 'ลดลง' จากในอดีต โดยปี 2560 บริษัทมีมาร์เก็ตแคปในระดับ 62,456.88 ล้านบาท เหลือ 4,871.13 ล้านบาท ใน 6 เดือนแรกปี 2563 เท่ากับว่ามาร์เก็ตแคปหายไปรวม 57,585.75 ล้านบาท ขณะที่ 'หุ้น DDD' ปรับตัวลดลงจากในอดีตปี 2560 บริษัทมีมาร์เก็ตแคปในระดับ 27,966.00 ล้านบาท เหลือ 4,895.47 ล้านบาท ใน 6 เดือนแรกปี 2563 เท่ากับว่ามาร์เก็ตแคปหายไปรวม 23,070.53 ล้านบาท

เป็นไปในทิศทางเดียวกับผลประกอบการ 3 ปีย้อนหลัง (2560-2563) พบว่าทั้ง 'รายได้-กำไรสุทธิ' ลดลงต่อเนื่อง โดย BEAUTY มีกำไรสุทธิ 1,229.32 ล้านบาท 991.59 ล้านบาท 232.58 ล้านบาท และล่าสุดไตรมาส 1 ปี 2563 พลิกขาดทุนสุทธิ 39.68 ล้านบาท ด้านรายได้ 3,735.37 ล้านบาท 3,501.24 ล้านบาท 2,020.77 ล้านบาท และล่าสุดไตรมาส 1 ปี 2563 อยู่ที่ 270.32 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่ หุ้น DDD มีกำไรสุทธิ 351.06 ล้านบาท 181.41 ล้านบาท และปี 2562 และไตรมาส 1 ปี 2563 พลิกขาดทุนสุทธิ 53.79 ล้านบาท และ 10.86 ล้านบาท ตามลำดับ ด้านรายได้ 1,684.38 ล้านบาท 1,303.98 ล้านบาท 796.44 ล้านบาท ล่าสุดไตรมาส 1 ปี 2563 อยู่ที่ 212.81 ล้านบาท ตามลำดับ

159559493088

ตารางผลประกอบการ 2 หุ้นเครื่องสำอาง 

สอดคล้องกับ 'ชนกนันท์ เทียมรัตน์' เลขานุการ บมจ. ดู เดย์ ดรีม หรือ DDD เล่าให้ฟังว่า คาดว่าผลประกอบการในปีนี้จะสามารถ 'พลิกมีกำไรสุทธิ' ได้ ซึ่งยอดขายจะเริ่มกลับมาได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 63 จากการออกผลิตภัณฑ์สินค้าใหม่อย่างต่อเนื่องจากกลุ่ม DDD และทางคิวรอน ซึ่งจะมีการออกผลิตภัณฑ์เรื่องจัดแต่งทรงผม และผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก รวมถึงผลิตภัณฑ์เครื่องฟอกอากาศ ส่วนธุรกิจที่ฟิลิปปินส์จะเน้นยอดขายออนไลน์ให้มากขึ้น

'จิตรลดา หวังสวาสดิ์' ผู้อำนวยการบัญชี DDD เล่าให้ฟังว่า บริษัทคาดว่าผลประกอบการในไตรมาส 2 ปี 2563 ยังมีผลขาดทุนสุทธิต่อเนื่องไม่ได้ลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2563 เนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศมาตรการ Lock down ในช่วงเดือนเม.ย.และต่อเนื่องไปจนถึงเดือนพ.ค. ซึ่งทำให้เดือนเม.ย.มียอดขายในปริมาณที่น้อยมาก แต่เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวในปลายเดือนพ.ค. หลังมีการคลายล็อกดาวน์

ขณะเดียวกัน ที่ประเทศฟิลิปปินส์ มีการประกาศมาตรการ Lock down ด้วยเช่นกัน และมีการผ่อนคลายที่ล่าช้ากว่าประเทศไทย จึงทำให้บริษัทยังได้รับผลกระทบดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทได้เน้นการผลิตขายสินค้าในรูปแบบออนไลน์ให้เพิ่มมากขึ้น

'ปิยวัชร ราชพลสิทธิ์' ประธานเจ้าหน้าที่สายงานบัญชีและการเงิน DDD บอกต่อว่า คาดผลประกอบการในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 จะเติบโตได้ดีกว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 เนื่องจากในปีนี้จะสามารถรับรู้ผลประกอบการของกลุ่มบริษัทคิวรอน ที่ทาง DDD ได้ซื้อกิจการ โดยการถือหุ้นในสัดส่วน 76% ประกอบกับเชื่อว่าภาพรวมของการท่องเที่ยวจะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางกลับเข้าประเทศไทยได้ในช่วงปลายปี 63

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าขณะนี้จะมีโควิด-19 แต่ทางกลุ่มคิวรอน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการขายสินค้าออนไลน์อย่างมาก จึงช่วยส่งผลบวกต่อ DDD

ก่อนหน้านี้ 'ดร.พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์' รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. บิวตี้ คอมมูนิตี้ หรือ BEAUTY เล่าให้ฟังว่า ยอดขายปี 2563 จะเติบโตไม่ถึงเป้า 20% เนื่องจากได้รับผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 และมีแนวโน้มจะลากยาวไปถึงช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 อีกด้วย แต่ประเมินว่ายอดขายจะเริ่มทยอยฟื้นตัวปลายไตรมาส 3 ปี 2563 ทำให้ BEAUTY ต้องลดค่าใช้จ่ายให้ได้ 50% เพื่อรักษาสมดุลทางการเงิน

'ปกติ หลังวิกฤติจบลงการฟื้นตัวของธุรกิจมักจะค่อยๆ ฟื้นตัว ไม่ค่อยมีการฟื้นตัวแบบรุนแรงให้เห็น ซึ่งช่วงไตรมาส 2-3 ของปีนี้ ถือเป็นช่วงประคองตัวและคาดว่าจะกลับมาดีอีกครั้งในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งหากประเมินล่วงหน้าในกรณีโควิด-19 ไม่กลับมารุนแรงอีก ช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 ยอดขายคงยังไม่กลับมา 100% แต่เชื่อว่าปีหน้ากำไรจะโตจากปีนี้แน่นอน'

สำหรับการลดค่าใช้จ่ายตามที่ตั้งเป้าไว้ 50% นั้น บริษัทจะดำเนินการปิดสาขาที่ไม่ทำกำไรเพื่อลดค่าเช่าและค่าน้ำ-ไฟฟ้า ประมาณ 40 ล้านบาท ขณะเดียวกันหลังเปิดห้างสรรพสินค้าวันแรกเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา เห็นความต้องการผู้บริโภคเข้าใช้บริการมากกว่าที่คิด แต่ด้วยกฎการเข้าใช้บริการห้างสรรพสินค้าเข้มงวดขึ้น จึงอาจทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป เช่นมาเร็วไปเร็ว และซื้อของเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งถือว่ายังมีความเสี่ยง

ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้ 80% ของรายได้ต่างประเทศมากจากจีน ซึ่งปัจจุบันมีรายได้เข้ามา 10-20% จากปกติ แต่ BEAUTY ได้ร่วมพัฒนาสินค้ากับพาร์ทเนอร์ในประเทศจีน ซึ่งคาดว่าจะสามารถวางจำหน่ายได้ช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 และประเมินว่าจะเป็นช่วงฟื้นตัวของยอดขายในจีนด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม BEAUTY พยายามมุ่งเน้นการขายตลาดต่างประเทศที่คลายล็อคดาวน์เป็นหลักเช่นภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งขณะนี้ มียอดขายจากประเทศมาเลเซีย, เมียนมา และเวียดนาม คิดเป็น 30% ของยอดขายปกติแล้ว โดยเชื่อว่าช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 จะเริ่มกลับสู่ภาวะปกติเช่นกัน

-----------------

โบรกฯ มองยังขาดทุนต่อ  

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ ระบุว่า คาดช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของปี 2563 BEAUTY ยัง 'ขาดทุนสุทธิ' ต่อเนื่อง จากคาดยอดขายยังชะลอตัวจากการปิดสาขาในเดือนเม.ย.-พ.ค. ก่อนกลับมาเปิดในปลายเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา แต่ยังมองว่ายังต้องใช้เวลาในการกระตุ้นยอดขายให้กลับมา จากกำลังซื้อที่หดตัวตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในไทย และลูกค้าที่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวของบริษัทที่อาจยังไม่กลับมาเดินทาง คาดอัตรากำไรของบริษัทยังถูกกดดันจากการต้องทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย

ดังนั้น บล.ทิสโก้ ประเมินปี 2563 ของ BEAUTY จะขาดทุน 68 ล้านบาท และคาดกลับมามีกำไรสุทธิ 122 ล้านบาท ในปี 2564 ถือว่ายังเป็นปีที่ไม่ดีของ BEAUTY ยังคงแนะนำ 'ขาย' โดยต้องรอดูผลจากการกลับมาของลูกค้าและยอดขายหลังจากเปิดสาขา

โดย BEAUTY รายงานขาดทุนใน 1 ปี 2563 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ และคาดจะขาดทุนต่อเนื่องไปอีก 2 ไตรมาสข้างหน้า (ไตรมาส 2 และ 3) เป็นผลมาจากผลกระทบการระบาดของ COVID-19 ที่กระทบต่อฐานลูกค้าของบริษัทในทุกช่องทางเนื่องจากลูกค้าของบริษัทเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนักและได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรก และการปิดสาขาจากมาตรการ Lockdown ส่งผลให้บริษัทไม่มีรายได้

โดยมองว่ายังต้องใช้เวลาในการกลับมาเติบโตสำหรับบริษัท และบริษัทยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรงหลังจากการกลับมาเปิดจำหน่าย ซึ่งเรามองว่าในแต่ละแบรนด์จะต้องมีการทำโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขาย

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า ผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2563 ขาดทุน 11 ล้านบาท ซึ่งแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจาก SG&A/Sales ที่สูงกว่าคาด โดยแย่ลงช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายในประเทศที่ปรับตัวลดลง และได้รับผลกระทบจากการปิดห้าง โดยไตรมาส 2 ปี 2563 ยังขาดทุนสุทธิ และทำจุดต่ำสุดในรอบปี จากผลกระทบ COVID-19 , การ lock down เมือง และแผนการออกสินค้าต้องเลื่อนออกไป

อย่างไรก็ตาม มีมุมมองเชิงบวกจากการซื้อกิจการคิวรอน (แบรนด์ Lesasha, Sparkle, Jason) เนื่องจากเป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับจากลูกค้า สามารถ leverage ช่องทางการขาย online , เกิด Synergy อีกทั้งบริษัทยังมีกลยุทธ์เปลี่ยนจากออกผลิตภัณฑ์ด้านความงาม มาเป็นด้าน Healthcare มากขึ้น เป็นการปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีฐานะทางการเงินแข็งแกร่งอีกด้วย