'ดีแทค' หลบสมรภูมิ '5จี' เบนสู่ต่างจังหวัด

'ดีแทค' หลบสมรภูมิ '5จี' เบนสู่ต่างจังหวัด

ดีแทคยังไร้แผนเปิด5จีแม้คู่แข่งยึดหัวหาดไปหมดแล้ว ระบุไม่ใช่องค์กรหวือหวาแต่ต้องการเสิร์ฟลูกค้าในสิ่งที่จับต้องได้

นายชารัด ชี้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้นได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของผู้บริโภคไทยขนานใหญ่ กล่าวคือ ปริมาณการใช้งานดาต้าเฉลี่ยในแต่ละเดือนนั้นเติบโตขึ้นกว่า 44% จากเดือนมกราคมถึงมิถุนายน หลังความนิยมในแอปพลิเคชันสำหรับการทำงานที่บ้านอย่าง Zoom และ MS Teams และบริการที่จำเป็นจำพวกระบบการเรียนออนไลน์ การใช้บริการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ต่างก็เติบโตพุ่งพรวด

ดังนั้น ดีแทคจึงการขยายบริการคลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์บนคลื่นที่ดีแทคเป็นพันธมิตรกับบมจ.ทีโอที เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยตั้งเป้าจะเพิ่มสถานีฐานบนเครือข่าย 4จี-ทีดีดีเป็นจำนวนมากกว่า 20,000 สถานีฐานจากปัจจุบันที่ขยายไปแล้ว 18,000 สถานีฐานภายในปี 2563 โดยวางเงินลงทุนด้านโครงข่ายไว้ที่ 8,000-10,000 ล้านบาท แม้ว่าจะลดลงหากเทียบกับปีที่ผ่านๆมา แต่ก็มั่นใจว่าสามารถให้บริการได้ครอบคลุมลูกค้าทั้ง 18.8 ล้านรายได้อย่างเต็มที่ และเป็นการตอกย้ำสถานะของดีแทคในฐานะผู้นำในการให้บริการบนระบบ 4จี-ทีดีดีซึ่งเป็นระบบที่สมาร์ทโฟนส่วนใหญ่รองรับการใช้งานลูกค้าไม่ต้องหาซื้อสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่มาใช้งาน และจากกรณีที่มีกระแสข่าวว่าดีแทคจะอัพเกรดคลื่น 2300 เพื่อให้บริการ 5จีนั้น คงต้องไปสอบถามกับทางทีโอทีว่าจะดำเนินการเช่นนั้นหรือไม่ เพราะคลื่นดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิของทีโอที

นอกจากนี้ พร้อมกับการเร่งขยาย Massive MIMO ในพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่นทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานที่ดีกว่าเดิม 3 เท่า และยกระดับประสบการณ์ใช้งานทั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนมือถือและเน็ตบ้านแบบใหม่ (dtac@home) เดินหน้าติดตั้งสถานีฐาน 5จีคลื่น 26 กิกะเฮิรตซ์ในพื้นที่ที่กำหนดเปิดให้บริการ โดยเริ่มติดตั้งในไตรมาส 2 ในรูปแบบทดสอบการใช้งาน (use case) สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม ในโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อให้บริการในไตรมาส 3 อาทิ กล้องตรวจการณ์อัจฉริยะ และ Fixed Wireless Access (FWA) หรือบริการอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงประจำที่

“ลูกค้าของเราได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะเดียวกัน ปริมาณการใช้งานดาต้าและช่องทางดิจิทัลของลูกค้าดีแทคก็เพิ่มสูงขึ้นกว่าในอดีต ดังนั้น เป้าหมายสำคัญของเราจึงเป็นการเดินหน้าพัฒนาประสิทธิภาพเครือข่ายสำหรับลูกค้าทุกคน รวมทั้งมอบข้อเสนอและบริการที่จะช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินของลูกค้าด้วย”

เขา ยังกล่าวว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ดีแทคได้เดินหน้าปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานภายในองค์กรให้สอดรับกับยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน การนำระบบออโตเมชั่นหรือ ‘ระบบควบคุมอัตโนมัติ’ มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และช่วยย่นระยะเวลาให้สามารถส่งมอบสินค้าและบริการถึงมือผู้บริโภคได้รวดเร็วยิ่งขึ้น อันจะยิ่งช่วยเพิ่มศักยภาพองค์กรในการแข่งขันในตลาดได้อย่างสำคัญ ลดภาระงานของมนุษย์ และการสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ ปัจจุบัน ออฟฟิศทุกแห่งของดีแทคนั้นอนุญาตให้พนักงานกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ทำงานแบบยืดหยุ่น โดยพนักงานจะสลับกันเข้าออฟฟิศในแต่ละสัปดาห์หรือในวันที่จำเป็นเท่านั้น