'กอช.' VS 'ประกันสังคมมาตรา 40' ช่องทางสร้างบำเหน็จ บำนาญ ของ 'อาชีพอิสระ'

'กอช.' VS 'ประกันสังคมมาตรา 40' ช่องทางสร้างบำเหน็จ บำนาญ ของ 'อาชีพอิสระ'

"ประกันสังคมมาตรา 40" หรือ "กองทุนการออมแห่งชาติ" หรือ "กอช." ทางเลือกในการออมไว้ใช้หลังเกษียณ สำหรับแรงงานนอกระบบ และผู้ประกอบอาชีพอิสระ

จาก สถิติแรงงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2561 พบว่าประเทศไทยมี แรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือแม้แต่หนุ่มๆ สาวๆ ชาวฟรีแลนซ์ทั้งหลาย รวมมากกว่า 21.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 55.3% ของแรงงานทั้งหมด 38.3 ล้านคน

ที่สำคัญพบว่าขณะที่พนักงานของภาครัฐมี กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ มีกองทุนสงเคราะห์ครู หรือประกันสังคมส่งเสริมการเก็บเงินสมทบลูกจ้างนายจ้าง ด้านภาคเอกชนมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพรองรับชีวิตหลังเกษียณ แต่ กลุ่มแรงงานนอกระบบ และ ผู้อาชีพอิสระ ที่มีสัดส่วนมากกว่าครึ่งของแรงงานไทยทั้งหมดกลับไม่มีสวัสดิการ หรือวางแผนการออมเพื่อชีวิตหลังเกษียณเลย

แต่ปัจจุบันมีช่องทางที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระสามารถสะสมเงินไว้ใช้ยามเกษียณได้คล้ายกับพนักงานประจำในบริษัทเอกชน และภาครัฐ ผ่านการบริหารกองทุนที่ยืดหยุ่นสอดคล้องกับรายได้ที่ไม่แน่นอนของอาชีพอิสระ และไม่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากอีกด้วย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

159616984687

 ช่องทางที่ 1 "กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)" 

กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. เป็นหน่วยงานที่รัฐจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นกองทุนกลางที่ช่วยสนับสนุนการสะสมเงินเพื่อชีวิตวัยเกษียณของคนไทยที่ประกอบอาชีพอิสระ โดยเปิดรับสมัครสมาชิกครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นมาภายใต้คอนเซปต์ "คุณออม รัฐช่วยออม คุณได้บำนาญ"

สำหรับกติกาในการออมเงินกับ กอช. นั้น ผู้สมัครจะต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย อายุ 15-60 ปี มีอาชีพอิสระ เช่น ค้าขาย รับจ้างทั่วไป ขับรถรับจ้าง เกษตรกร หรือแม้แต่นักเรียน นักศึกษา

กอช. จะนำเงินสะสมของสมาชิกไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น พันธบัตร ตราสารหนี้ เงินฝาก ตราสารทุน(หุ้น) และอื่นๆ เพื่อให้เงินของสมาชิกงอกเงย โดยผลตอบแทนการลงทุนจะเป็นไปตามหน่วยลงทุน และมูลค่าตลาด

ซึ่งรัฐบาลจะค้ำประกันผลตอบแทนให้สมาชิกที่ออมถึงอายุ 60 ปีบริบูรณ์ ในอัตราไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ย 7 ธนาคาร

หน้าที่ของสมาชิกคือส่งเงินสมทบสะสมขั้นต่ำ 1,200 บาทต่อปี สูงสุดไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี โดยการส่งเงินสมทบแต่ละงวดไม่จำเป็นต้องเป็นจำนวนที่เท่ากัน แต่ไม่ต่ำกว่า 50 บาทต่อครั้ง

เช่น เดือนมกราคม ส่งเงินสมทบ 300 บาท เดือนกุมภาพันธ์อาจจะส่งเงินสมทบ 100 บาท เดือนมีนาคมอาจจะส่งเงินสมทบ 200 บาท และเดือนอื่นๆ ต่อเนื่องไปในอัตราที่แตกต่างกัน แต่รวมกันไม่ต่ำกว่า 1,200 บาทต่อปี

159617009385

ความพิเศษของการวางแผนเกษียณกับ กอช. คือทุกครั้งที่ส่งเงินสะสม รัฐฯจะช่วยสมทบตามอัตราที่กำหนดในแต่ละช่วงอายุ

  • ช่วงอายุระหว่าง 15-30 ปี รัฐช่วยสมทบ 50% ของเงินสะสม สูงสุด 600 บาทต่อปี
  • ช่วงอายุ 31-50 ปี รัฐช่วยสมทบ 80% ของเงินสะสม สูงสุด 960 บาทต่อปี
  • ช่วงอายุ 51-60 ปี รัฐช่วยสมทบ 100% ของเงินสะสม สูงสุด 1,200 บาทต่อปี

โดยผู้สมทบเงินเข้ากองทุนมีโอกาสได้รับเงินบำนาญทุกเดือนไปตลอดชีวิต 6xx-7,xxx บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับการสมทบ

จากข้อมูลที่ กอช. ลองคำนวณที่ผลตอบแทนที่ 3.5% หากส่งเงินสมทบ ตั้งแต่อายุ 15-60 ปี เต็มจำนวน (13,200 บาทต่อปี) ต่อเนื่องทุกเดือนเป็นเวลา 45 ปี จะมีโอกาสรับเงินบำนาญประมาณ 7,xxx บาทต่อเดือน

ขณะที่คนที่สมทบช่วงโค้งสุดท้าย อายุ 50-60 ปี แต่ส่งเงินสมทบเต็มจำนวน (13,200 บาทต่อปี) ต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปี จะมีโอกาสรับเงินบำนาญประมาณ 6xx บาทต่อเดือน

สองเคสข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างการจ่ายเงินบำนาญสูงสุด และต่ำสุดเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงสัดส่วนของแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไปตามจำนวนเงินที่สมทบ และช่วงอายุที่แตกต่างกันไปนั่นเอง

กติกาที่สำคัญคือ รัฐจะสมทบเงินให้เฉพาะคนที่สะสมจนครบอายุ 60 ปีเท่านั้น หากนำเงินออกจาก กอช. ก่อนอายุ 60 ปีจะไม่ได้รับเงินสมทบจากรัฐ เนื่องจากรัฐต้องการให้เงินก้อนนี้เป็นเงินบำนาญสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณ

และไม่สามารถขอรับเป็นเงินก้อนแบบ “บำเหน็จได้เพราะหลักการของ กอช. ต้องการให้คนไทยมีเงินใช้ตลอดชีวิต ซึ่งที่ผ่านมาการรับเงินก้อนใหญ่ก้อนเดียวมีโอกาสหมดตั้งแต่เกษียณยังไม่ถึงปี จากการลงทุนกิจการด้วยเงินก้อนสุดท้าย แบ่งปันลูกหลาน หรือใช้จ่ายอย่างเพลิดเพลิน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนทำให้ชีวิตหลังเกษียณเข้าสู่วังวน "เกษียณจน" อย่างที่ไม่ควรจะเป็น

ตัวเลขที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน สะท้อนว่าการสะสมเงินในระยะยาว และวางแผนเกษียณตั้งแต่เนิ่นๆ แม้จะสะสมเป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่มากกว่า เพียงพอกับชีวิตวัยเกษียณที่มากกว่าด้วย

ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถสมัครได้ฟรี และสามารถสะสมเงินผ่าน กอช.ได้ที่กรมบัญชีกลาง สำนักคลังจังหวัดทั่วประเทศ สถาบันการเงินชุมชนที่เข้าร่วม และเครือข่ายรับสมัครทั่วประเทศ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เคาน์เตอร์เซอร์วิส ธนาคารกรุงไทย เทสโก้ โลตัส ธนาคารออมสิน ตู้บุญเติม ฯลฯ

สำหรับคนขี้ลืม สามารถเลือกหักเงินผ่านบัญชีออมทรัพย์แบบอัตโนมัติผ่านแอปพลิเคชัน กอช. ได้ จากระบบ K PLUS และ KTB netbank ได้อีกด้วย

159617020086

 ช่องทางที่ 2 "กองทุนประกันสังคม มาตรา 40" 

อีกหนึ่งทางเลือกวางแผนเกษียณของผู้ประกอบอาชีพอิสระคือ "กองทุนประกันสังคม มาตรา 40"

จริงๆ แล้วกองทุนประกันสังคมมีหลายมาตรา แต่มาตรา 40 เป็นมาตราที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับกลุ่มแรงงานนอกระบบ และผู้ประกอบอาชีพอิสระโดยเฉพาะ

ซึ่งคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 40 ต้องเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ เช่น พ่อค้าแม่ค้า จักรยานยนต์รับจ้าง คนขับแท็กซี่ ฯลฯ โดยจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 65 ปี

ที่สำคัญคือจะต้องไม่เป็นบุคคลที่เป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชนตามมาตรา 33 และไม่เคยสมัครเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39 (บุคคลที่เคยทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนในมาตรา 33 มาก่อนแล้วลาออกแต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมไว้)

ปัจจุบัน กองทุนประกันสังคม มาตรา 40 มีให้เลือก 3 ทางเลือก ซึ่งแต่ละทางจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกัน สำหรับผู้ที่สมทบเงินเข้ากองทุนประกันสังคมตามมาตรา 40 นี้ จะถูกเรียกว่า "ผู้ประกันตน"

ทางเลือก 1 จ่ายเงินสมทบเดือนละ 70 บาท สิทธิ์ที่ได้รับ คือ

  • เงินทดแทนการขาดรายได้

(1) นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป วันละ 300 บาท

(2) ไม่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป วันละ 200 บาท

(3) ไปพบแพทย์ (ผู้ป่วยนอก) และแพทย์ไม่มีความเห็นให้หยุดพักรักษาตัว หรือ ให้หยุดพักรักษาตัวไม่เกิน 2 วัน (มีใบรับรองแพทย์มาแสดง) ครั้งละ 50 บาท ไม่เกิน 3 ครั้ง ต่อปี

*ภายใน 1 ปี ได้รับสิทธิตาม (1) และ (2) รวมกันไม่เกิน 30 วันต่อปี

  • กรณีทุพพลภาพ

ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 15 ปี

*เสียชีวิตระหว่างรับเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ ได้รับเงินค่าทำศพ 20,000 บาท

  • กรณีเสียชีวิต

ได้รับเงินค่าทำศพ 20,000 บาท ก่อนเดือนที่ตาย จ่ายให้กับผู้จัดการศพ

ได้รับเงินสงเคราะห์กรณีตาย 3,000 บาท หากจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 60 เดือน ก่อนเดือนที่ตาย

ทางเลือก 2 จ่ายเงินสมทบเดือนละ 100 บาท สิทธิ์ที่ได้รับ คือ

เงินทดแทนการขาดรายได้, กรณีทุพพลภาพ และกรณีเสียชีวิต เหมือนทางเลือก 1 ทุกประการ แต่ได้รับสิทธิ์เพิ่มเติมกรณีชราภาพ เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ (เงินสมทบ 50 บาท คูณ จำนวนเดือนที่จ่ายเงินสมทบ บวก เงินออมเพิ่ม) พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนรายปีตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด และสามารถจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติม (ออมเพิ่ม) ได้ไม่เกิน 1,000 บาท ต่อเดือน

ทางเลือกที่ 3 จ่ายเงินสมทบเดือนละ 300 บาท สิทธิ์ที่ได้รับคือ

  • เงินทดแทนการขาดรายได้

(1) นอนพักรักษาในโรงพยาบาลตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป ได้รับวันละ 300 บาท

(2) ไม่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป

วันละ 200 บาท*ภายใน 1 ปี รับสิทธิตาม (1) และ (2) รวมกันไม่เกิน 90 วัน

  • กรณีทุพพลภาพ

ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ต่อเดือน ตลอดชีวิต

*เสียชีวิตระหว่างรับเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ ได้รับเงินค่าทำศพ 40,000 บาท

  • กรณีเสียชีวิต

ได้รับเงินค่าทำศพ 40,000 บาท ก่อนเดือนที่ตาย จ่ายให้กับผู้จัดการศพ

  • กรณีชราภาพ

เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ (เงินสมทบ 150 บาท คูณ จำนวนเดือนที่จ่ายเงินสมทบ บวก เงินออมเพิ่ม) พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนรายปีตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด โดยผู้ประกันตนสามารถจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติม (ออมเพิ่ม) ได้ไม่เกิน 1,000 บาท ต่อเดือน และหากเมื่อจ่ายครบ 180 เดือน จะได้รับเงินก้อนอีก 10,000 บาท

  • กรณีสงเคราะห์บุตร

จ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 24 ใน 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน และต้องจ่ายเงินสมทบทุกเดือนขณะรับเงินสงเคราะห์บุตรต่อเนื่อง

จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรรายเดือน ตั้งแต่แรกเกิดแต่ไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์ คนละ 200 บาท คราวละไม่เกิน 2 คน

ช่องทางสมทบเงินกับกองทุนประกันสังคม

สำหรับผู้ที่ต้องการเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 40 จะต้องจ่ายเงินสมทบเป็นรายเดือน เดือนละ 1 ครั้ง และจ่ายเงินสมทบล่วงหน้าได้ครั้งละไม่เกิน 12 เดือน แต่ไม่สามารถจ่ายเงินสมทบย้อนหลังได้

สามารถจ่ายเงินสมทบได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา หน่วยบริการเคลื่อนที่ของสำนักงานประกันสังคม รวมถึงเคาน์เตอร์เซอร์วิส เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ห้างเทสโก้ โลตัส และจ่ายเป็นธนาณัติผ่านทางไปรษณีย์

นอกจากนี้ยังสามารถหักผ่านบัญชีธนาคารต่างๆ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารออมสิน, ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ ผู้ที่ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 2 และ 3 จะไม่สามารถสมัครสมาชิก กอช. ได้อีกเนื่องจากมีโอกาสได้รับเงินบำเหน็จกรณีชราภาพจากประกันสังคมแล้ว ขณะที่ผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือก 1 สามารถสมัครสมาชิก กอช. เพราะไม่มีสิทธิ์ทับซ้อนนั่นเอง

นอกจากนี้ จากการโทรสอบถามที่ Call Center 1506 เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลกับ "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ว่า ผู้ประกันตนที่เริ่มสมัครเป็นผู้ประกันตน มาตรา 40 หลังจากที่มีอายุครบ 60 ปีไปแล้วนั้นสามารถขอรับเงินบำเหน็จชราภาพได้ ตามความประสงค์โดยไม่มีเกณฑ์กำหนดระยะเวลา ซึ่งจำนวนเงินที่ผู้ประกันตนจะได้รับมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับการสมทบของผู้ประกันตน โดยสามารถส่งเงินสมทบได้ไปตลอดชีวิต และสถานะผู้ประกันตนจะสิ้นสุดลงหลังจากรับเงินบำเหน็จชราภาพเรียบร้อยแล้ว

สำหรับผู้ที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม มาตรา 40 สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคม หรือโทร 1506 

ที่มา: สำนักงานประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ