รวมมาตรการ 'ออมสิน' ช่วยผู้ได้รับผลกระทบ 'โควิด-19' (อัพเดท 24 ก.ค. 63)

รวมมาตรการ 'ออมสิน' ช่วยผู้ได้รับผลกระทบ 'โควิด-19' (อัพเดท 24 ก.ค. 63)

อัพเดทความคืบหน้า และมาตรการใหม่ จากธนาคาร "ออมสิน" ที่มีจุดประสงค์ช่วยผู้ได้รับผลกระทบ "โควิด-19" พร้อมช่องทางในการสมัครเข้าร่วมโครงการ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

"ธนาคารออมสิน" เป็นอีกหนึ่งธนาคารที่ขานรับนโยบายภาครัฐ ช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ "โควิด-19" นับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ที่มีการแพร่ระบาดของ "ไวรัสโคโรนา" ในประเทศไทย

ปัจจุบัน "ธนาคารออมสิน" ยังคงมีมาตรการต่างๆ ที่เดินหน้าช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ทั้งในมิติของ "สินเชื่อ" เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระหว่างที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก ไปจนถึงมาตรการช่วย "ลูกหนี้" ในลักษณะต่างๆ เพื่อลดภาระในระหว่างที่ยังต้องต่อสู้กับวิกฤติครั้งนี้

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวมมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก "โควิด-19" ของธนาคาร "ออมสิน" ที่ยังเปิดรับสมัครเข้าร่วมโครงการ ณ วันที่ 24 ก.ค. 63 ดังต่อไปนี้

  •  ขยายมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย ถึง ธ.ค.63

ถือเป็นข่าวดี สำหรับลูกหนี้ทั้งหลาย เมื่อ วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ออกมาเปิดเผยวานนี้ (23 ก.ค.) ว่า ธนาคารเตรียมขยายมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไปจนถึงสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ จากเดิมมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดในเดือน ก.ย. นี้

เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ยังคงมีอยู่ ทำให้รายได้ต่างๆ ของลูกค้ายังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ จึงขยายมาตรการดังกล่าวออกไป แต่จะให้เลือกออพชั่นได้ว่าจะพักชำระหนี้ในลักษณะไหน ทั้งพักทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย หรือจะชำระเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าที่พักชำระหนี้ทั้งหมด 3.10 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ 1.14 ล้านล้านบาท

สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าร่วมมาตรการ มาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย รวมไปถึงมาตรการ พัก จ่าย คืน ขยาย สามารถลงทะเบียนออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th หรือติดต่อเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ Call Center 1115

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :  

  

  •  ซอฟต์โลน (เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ) สำหรับผู้ประกอบการ 

โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) สำหรับผู้ประกอบการ Non – Bank ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID – 19 วงเงิน 150,000 ล้านบาท ในส่วนของธนาคารออมสินได้ปล่อยไปให้ผู้ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดแล้ว 14,800 ราย คิดเป็นวงเงิน 136,800 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้เตรียมจะปล่อยมาตรการสินเชื่อซอฟต์โลน ก้อนใหม่วงเงิน 100,000 ล้านบาท สำหรับกลุ่มท่องเที่ยว โดยขณะนี้ได้ส่งเรื่องให้กับกระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว ในอาจได้เห็นความคืบหน้าของการช่วยเหลือในเร็ววันนี้

คุณสมบัติผู้ขอสินเชื่อ

ผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) ที่ให้บริการให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้รายย่อย ได้แก่  สินเชี่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ลิซซิ่ง เช่าซื้อ เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ และสินเชื่อทะเบียนรถ
- ในรอบปีบัญชี 2562 ต้องมีผลกำไรสุทธิจากการดำเนินกิจการ
- กำหนด D/E Ratio ไม่เกิน 10 เท่า และมี NPLs ไม่เกิน 5.00%
- เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัส โคโรนา (COVID-19) ทั้งทางตรงและทางอ้อม
- ต้องมีมาตรการพักชำระหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ในวงกว้างที่ชัดเจน และได้ประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน และต้องมีมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ ที่ผ่อนปรนมากกว่ามาตรการขั้นต่ำ ที่ ธปท. กำหนด

วัตถุประสงค์ เป็นการให้สินเชื่อใหม่ เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการธุรกิจ Non-Bank  ให้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของแต่ละบริษัทที่ได้รับผลกระทบจาก การระบาดของโรค COVID-19  ให้ได้รับการผ่อนปรนเงื่อนไข  

ประเภทสินเชื่อ เงินกู้ระยะยาว (L/T)

จำนวนเงินให้กู้ ให้กู้ได้สูงสุดไม่เกินรายละ 5,000 ล้านบาท โดยพิจารณาตามความสามารถและความจำเป็นของกิจการ โดยกำหนดให้กู้ได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของพอร์ตสินเชื่อของผู้กู้แต่ละราย สิ้นเดือนก่อนการอนุมัติ โดยพิจารณาเฉพาะพอร์ตลูกหนี้รายย่อยบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ที่มีสถานะปกติ และต้องไม่เกินยอดคงค้างของลูกหนี้ที่มีคุณภาพดีที่บริษัทจะให้ความช่วยเหลือ    

ระยะเวลาชำระเงินกู้ ระยะเวลากู้ 2 ปี 

อัตราดอกเบี้ย

- อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เท่ากับ 2% ต่อปี
- อัตราดอกเบี้ยกรณีผู้กู้ออกจากโครงการ  และอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดไม่ชำระหนี้ ให้เป็นไปตามโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID – 19”

หลักประกันการกู้เงิน

ให้มีหลักประกัน เช่น สิทธิเรียกร้องจากลูกหนี้ของผู้กู้ (พอร์ตลูกหนี้) เท่ากับวงเงินกู้ โดยจดทะเบียนหลักประกันตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ และ/หรือ บุคคลที่ธนาคารเชื่อถือ และ/หรือ หลักประกันอื่นๆ ตามเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด

วงเงินโครงการ

วงเงิน 70,000 ล้านบาท (ภายในวงเงินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID – 19 150,000 ล้านบาท”)

ระยะเวลาโครงการ

ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถยื่นขอสินเชื่อกับธนาคาร  ได้ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 หรือจนกว่าจะหมดวงเงินสินเชื่อรวม ในโครงการ แล้วแต่ระยะเวลาใดจะถึงก่อน  และให้เบิกจ่ายสินเชื่อให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือนนับตั้งแต่วันสิ้นสุดรับคำขอกู้ หรือจนกว่าจะหมดวงเงินสินเชื่อรวมในโครงการ แล้วแต่ระยะเวลาใดจะถึงก่อน

หมายเหตุ: หลักเกณฑ์เงื่อนไขอื่นๆ เป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด

สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าร่วมมาตรการ "โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) สำหรับผู้ประกอบการ Non – Bank ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID – 19" ของธนาคารออมสิน สามารถกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อแจ้งสิทธิประโยชน์ ผ่านเว็บไซต์ www.gsb.or.th 

159557282820

ตัวอย่างหน้าเว็บไซต์ สำหรับกรอกข้อมูลโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) สำหรับผู้ประกอบการ Non – Bank ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID – 19

"สินเชื่อฉุกเฉิน" 10,000 บาท จากธนาคารออมสิน เริ่มเปิดให้ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนด สามารถขอสินเชื่อได้ผ่านช่องทางของ เว็บไซต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th ตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย. 63 ท่ีผ่านมาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน (20 ก.ค. 63)

ทั้งนี้ สินเชื่อดังกล่าว ยังสามารถขอกู้ได้จนถึงวันที่ 30 ธ.ค. 63 หรือจนกว่าวงเงินจะเต็ม ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ต้องการขอสินเชื่อจะต้องมีคุณสมบัติตรงตามที่ธนาคารกำหนด ดังนี้ 

คุณสมบัติผู้ขอสินเชื่อ

- มีที่อยู่อาศัยแน่นอนที่ติดต่อได้ 
- มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 30,000 บาท
- สัญชาติไทย และอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ทั้งนี้เมื่อรวมอายุผู้กู้กับระยะเวลากู้แล้วอายุต้องไม่เกิน 70 ปี
- ผู้ประกอบอาชีพอิสระนอกภาคการเกษตร (เช่น พ่อค้าแม่ค้า ลูกจ้าง/รับจ้างทั่วไป ขับแท็กซี่ มัคคุเทศก์ เป็นต้น)
- ได้รับผลกระทบ "โควิด-19"

วงเงินสินเชื่อ สูงสุด 10,000 บาท

อัตราดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) 0.10% ต่อเดือน 

หลักประกัน ไม่ต้องมีหลักประกัน

การชำระคืน ระยะเวลาให้กู้ไม่เกิน 2 ปี ปลอดการผ่อนชำระหนี้ใน 6 งวดแรก เริ่มชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยในงวดที่ 7 โดยหักเงินชำระจากบัญชีเงินฝากของผู้กู้

ระยะเวลาขอสินเชื่อ ระยะเวลาอนุมัติเงินกู้และจัดทำสัญญา สิ้นสุดวันที่ 30 ธ.ค. 2563 หรือจนกว่าจะครบวงเงินโครงการจำนวน 20,000 ล้านบาท 

สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าร่วมมาตรการ " สินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ " ของธนาคารออมสิน สามารถกรอกข้อมูล คลิกที่นี่ gsb.or.th 

159557340745

ตัวอย่างหน้าเว็บไซต์ สำหรับกรอกข้อมูล โครงการสินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ 

 

นอกจากสินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ วงเงิน 10,000 บาท ที่กล่าวถึงในข้างต้นแล้ว ธนาคารออมสินยังเคยปล่อย สินเชื่อฉุกเฉินสำหรับ สำหรับผู้มีรายได้ประจำ วงเงิน 50,000 บาท พร้อมกันตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย. 63 และมีผู้ลงทะเบียนขอสินเชื่อ 50,000 บาท เต็มวงเงินแล้ว จึงปิดระบบการลงทะเบียนชั่วคราว จนกว่าจะมีวงเงินใหม่ออกมาช่วยเหลือประชาชนกลุ่มนี้อีกครั้ง

159557354435