อบจ.ระยองรุกกำจัดขยะ เร่งตั้งโรงไฟฟ้า 10 เมกะวัตต์

อบจ.ระยองรุกกำจัดขยะ  เร่งตั้งโรงไฟฟ้า 10 เมกะวัตต์

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการพื้นที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการแก้ปัญหาขยะที่ต้องวางแผนรองรับประชากรที่จะมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ในระยองมีการนำร่องสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง อปท.และเอกชน

นายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง (อบจ.ระยอง) เปิดเผยว่า กำลังผลักดันแผนการกำจัดขยะและน้ำเสียของ อบจ.ระยอง เพราะระยองเป็นหนึ่งในจังหวัดที่สำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่จะมีการขยายตัวทั้งในด้านการลงทุนภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ รวมไปถึงการเพิ่มขึ้นของประชากรอีกมากในอนาคต ซึ่งจะทำให้มีปริมาณขยะจากภาคครัวเรือชุมชนต่างๆ และโรงงานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก หากบริหารจัดการได้ไม่ดี ก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง

ดังนั้น องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง (อบจ.ระยอง) จึงได้ร่วมกับบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ จีพีเอสซี ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท.ดำเนินโครงการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจร จังหวัดระยอง ตั้งอยู่ในพื้นที่คาบเกี่ยว 4 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลน้ำคอก ตำบลทับมา ตำบลมาบข่า และตำบลหนองตะพาน 

ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 429 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินของเทศบาลนครระยองและเทศบาลเมืองมาบตาพุดซื้อไว้ติดกัน และได้รับความยินยอมจากสภาเทศบาลทั้ง 2แห่ง มอบให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยองดำเนินโครงการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจร จังหวัดระยอง

สำหรับศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจร ประกอบด้วยโรงคัดแยกขยะ และแปลงเป็นเชื้อเพลิง Refuse Derived Fuel (RDF) และโรงเผาขยะผลิตกระแสไฟฟ้ามีกำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ กำจัดขยะได้ 500 ตันต่อวัน ได้เริ่มก่อสร้างไปแล้วตั้งแต่ปี 2562 จะแล้วเสร็จภายในปี 2564 

จากนั้นจะเร่งดำเนินการก่อสร้างโรงเผาขยะแห่งที่ 2 และ 3 ภายในพื้นที่เดียวกัน โดยแห่งที่ 2 จะเริ่มก่อสร้างในปี 2564 แล้วเสร็จในปี 2565 และแห่งที่ 3 จะเริ่มก่อสร้างในปี 2565 และจะแล้วเสร็จในปี 2566 ซึ่งโรงเผาขยะทั้ง 3 โรงสามารถกำจัดขยะได้ถึงวันละ 1.5 พันตัน ผลิตกระแสไฟฟ้าได้รวม 30 เมกะวัตต์

สำหรับเงินลงทุนก่อสร้างระบบเตาเผาขยะผลิตไฟฟ้า จีพีเอสซี จะเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด รายได้จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจะช่วยลดค่าดำเนินการกำจัดขยะลงได้มากเกลือเพียงตันละ 400 บาท ซึ่งต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับระบบกำจัดขยะในพื้นที่อื่น ซึ่งจะทำให้จังหวัดระยองสามารถกำจัดขยะได้ทั้งหมดที่มีประมาณวันละ 1 พันตัน โดยไม่มีขยะตกค้าง 

159556643860

รวมทั้งสามารถรองรับปริมาณขยะจากการขยายตัวของ อีอีซี ได้ไม่ต่ำกว่า 20 ปี รวมทั้งจะทยอยนำขยะสะสมจากการฝังกลบที่มีกว่า 1 ล้านตัน ขึ้นมาเผากำจัดให้หมด ซึ่งจะทำให้สภาพแวดล้อมของจังหวัดระยองดีขึ้นในระยะยาว

นอกจากนี้ โรงเผาขยะผลิตไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง จะสามารถรองรับปริมาณขยะอุตสาหกรรมที่ไม่อันตรายในจังหวัดระยองที่มีประมาณวันละ 500 ตัน ซึ่งจะทำให้จังหวัดระยองปลอดจากปัญหาขยะทั้งจากชุมชนและภาคอุตสาหกรรมได้ในระยะยาวไม่ต่ำกว่า 20 ปี โดยจะเป็นพื้นที่ตัวอย่างให้กับจังหวัดอื่นเข้ามาศึกษาเพื่อนำไปจัดทำระบบกำจัดขยะครบวงจรต่อไป ช่วยให้ประเทศไทยแก้ไขปัญหาขยะได้อย่างปลอดภัยและยั่งยืน

“โครงการนี้เป็นการลงทุนในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (พีพีพี) ทำให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณ และโครงการเดินหน้าได้รวดเร็ว ทำให้สามารถแก้ปัญหาขยะที่สะสมมานานของจังหวัดระยองได้อย่างเบ็ดเสร็จ และยั่งยืน และยังมีการดำเนินงานตามมาตรฐานสากล ทำให้ไม่มีกลิ่น และมลพิษต่างๆ กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ชุมชนโดยรอบให้การยอมรับ ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่นๆ นำไปประยุกต์ใช้ได้ทั่วประเทศ”

อบจ.ระยอง ยังได้ขยายโมเดลระบบกำจัดขยะในรูปแบบนี้นำไปย่อส่วนก่อสร้างในพื้นที่เกาะเสม็ด โดยได้เข้าไปสร้างศูนย์คัดแยกขยะ และผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF จากนั้นก็ขนส่งมาเผาที่โรงเผาขยะในจังหวัดระยองต่อไป โดยศูนย์กำจัดขยะของเกาะเสม็ดได้ก่อสร้างเสร็จแล้วและเปิดดำเนินการมาได้ 5-6 เดือน สามารถกำจัดขยะได้ถึงวันละ 10 ตัน และสามารถขยายได้เพิ่มอีกรวมเป็น 20 ตันต่อวัน รองรับการขยายตัวในอนาคต ซึ่งจะเพียงต่อต่อปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวันโดยไม่มีขยะตกค้าง

พื้นที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจรแห่งนี้ อบจ.ระยอง ได้สร้างศูนย์บริการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ โดยได้ให้บริการเก็บ ขน และกำจัดมูลฝอยติดเชื้อกับสถานบริการการสาธารณสุขในพื้นที่จังหวัดระยอง และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการมูลฝอยติดเชื้อในพื้นที่ให้เป็นไปตามหลักสุขาภิบาลและ สอดคล้องกับกฎกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ.2545 

159556647512

โดยใช้เทคโนโลยีเตาเผามูลฝอยติดเชื้อที่เป็น ระบบเตาเผาแบบหมุน Rotary Kiln ทำงานได้ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง รองรับมูลฝอยได้ 3.6 ตันต่อวัน สามารถแสดงผลการตรวจวัดมลพิษทางอากาศ ตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บขนจนถึงขั้นตอนการส่งมูลฝอยติดเชื้อเข้าสู่ระบบเตาเผา มีการดำเนินงานติดตามตรวจสอบทุกขั้นตอน เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรค

สำหรับ ปัญหาใหญ่ของการจัดการขยะ คือ มีขยะอินทรีย์ปะปนมากับขยะชุมชน ซึ่งมีปริมาณมากถึง 40% ของขยะ เนื่องจากเป็นขยะเปียกทำให้มีน้ำหนักมากกว่าองค์ประกอบอื่น ซึ่งการนำไปฝังกลบจะทำให้มีปัญหาเรื่องกลิ่นรบกวน 

อบจ.ระยอง จึงได้นำขยะอินทรีย์ ซึ่งผ่านการคัดแยกแล้ว เข้าสู่ระบบหมักก๊าซชีวภาพ ซึ่งเป็นระบบปิดทำให้ไม่มีกลิ่นรบกวน และสามารถนำไปผลิตไฟฟ้าได้ 1 เมกะวัตต์ เป็นพลังานทดแทนมที่นำมาใช้ภายในศูนย์กำจัดขยะ รวมทั้งยังมีผลพลอยได้ คือ ตะกอนจากการหมักที่สามารถนำมาปรับสภาพเป็นวัสดุปรับปรุงดินคืนสู่ชุมชนโดยรอบศูนย์กำจัดขยะที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร เพื่อลดต้นทุนในการทำการเกษตร