'ศรีราชา ครีเอทีฟ ดิสทริค' ดึงฮ่องกงตั้งศูนย์กลางการเงิน EEC

'ศรีราชา ครีเอทีฟ ดิสทริค'  ดึงฮ่องกงตั้งศูนย์กลางการเงิน EEC

ภาคเอกชนวางแผนพัฒนาโครงการ “ศรีราชา ครีเอทีฟ ดิสทริค” อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อสร้างเมืองแบบองค์รวมที่พัฒนาที่อยู่อาศัยที่ใช้ทดแทนพลังงาน 100% เพื่อเป็นเมือง Carbon Positive ECO-SMART แห่งแรกในเอเชีย

นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลฟ แอนด์ ลีฟวิ่ง จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างผลักดันโครงการศรีราชา ครีเอทีฟ ดิสทริค ซึ่งเป็นการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) พื้นที่ 600 ไร่ บริเวณริมถนนมอเตอร์เวย์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยพัฒนาเป็นมิกซ์ยูซประกอบด้วย พื้นที่เชิงพาณิชย์ ที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน มหาวิทยาลัยและพื้นที่สีเขียว รวมทั้งต้องการให้เป็นย่านศูนย์กลางธุรกิจ (ซีบีดี) แห่งใหม่ของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

สำหรับรูปแบบการพัฒนาจะนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เป็นสมาร์ทซิตี้ รวมทั้งจะออกแบบเมืองเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในอนาคต ประกอบด้วย 1.การสัญจรอัจฉริยะ หรือ Smart Mobility เพื่อให้เป็นเมืองคนเดินและลดการใช้รถยนต์ 2.เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม 3.พลังงาน 4.ความปลอดภัย

การพัฒนาโครงการนี้ มีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินของอีอีซี โดยแผนพัฒนาอีอีซีในอนาคตจะให้อีอีซีเป็นศูนย์กลางการเงินของภูมิภาคด้วย ซึ่งในอนาคตจะมีการผ่อนผันการใช้ทำธุรกรรมด้วยเงินตราต่างประเทศในอีอีซี 

รวมถึงการพัฒนาอีอีซีอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการถือครองที่ดินไม่เกิน 50 ปี การการต่ออายุการถือครองที่ดินอีกไม่เกิน 49 ปี ที่แม้จะมีแรงต้านในประเด็นการถือครองที่ดินแต่ไทยยังมีความจำเป็นต้องมีการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต

159556558975

บริษัทได้หารือกับพันธมิตรองค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (HKTDC) เพื่อดึงบริษัทในฮ่องกงเข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ในโครงการ โดยเฉพาะบริษัทในธุรกิจการเงิน ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarters) ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้มีการลงทุนสำนักงานใหญ่ในอีอีซีเพื่อให้กลายเป็นศูนย์กลางการเงินแห่งใหม่ของภูมิภาค 

“การที่บริษัทผลักดันโครงการนี้ในช่วงนี้ จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย”

รวมทั้งเมื่อรวมกับปัจจัยความต้องการย้ายฐานของบริษัทในฮ่องกงจากหลายปัจจัย เช่น สงครามการค้า สถานการณ์การเมืองในฮ่องกง รวมถึงยุทธศาสตร์จีน 2050 ที่อาจมีผลต่อฮ่องกง ซึ่งทำให้หลายบริษัทที่มีสำนักงานใหญ่ในฮ่องกงต้องการย้ายที่ตั้ง จึงทำให้บริษัทได้มาเป็นพันธมิตรกับ HKTDC เพื่อพัฒนาโครงการนี้ โดยในเบื้องต้นได้หารือกับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) แล้วสนับสนุนให้บริษัทพัฒนาเป็นสมาร์ทซิตี้

นอกจากนี้ เท่าที่สอบถามกับ HKTDC ยังมีความสนใจต่อเนื่อง โดยได้รับข้อมูลว่านักลงทุนต้องการสิทธิประโยชน์การลงทุนเพิ่มขึ้นจากมาตรการด้านภาษีของบีโอไอ โดยต้องการให้ สกพอ.พิจารณามาตรการสนัลสนุนเพิ่มเติมเพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน 

โดยเฉพาะมาตรการที่เกี่ยวกับการส่งเสริมให้อีอีซีเป็นศูนย์กลางทางการเงิน ซึ่ง สกพอ.อาจต้องหารือกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อมีมาตรการผ่อนผันทางการเงินในอีอีซี เช่น การเคลื่อนย้ายเงินทุน การใช้เงินตราต่างประเทศในอีอีซี รวมทั้งอาจจะต้องเพิ่มมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ เช่น ข้อกำหนดให้ชาวต่างชาติซื้อคอนโดมีเนียมได้ 49% ของจำนวนห้องทั้งหมด ซึ่งควรกำหนดให้อีอีซีเป็นพื้นที่ผ่อนปรนให้ชาวต่างชาติซื้อห้องพักได้ 100% ของจำนวนห้องทั้งหมด

“ที่ผ่านมาบริษัทได้ประสานโครงการนี้กับนายกอบศักดิ์ภูตระกูล อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ซึ่งได้ลาออกแล้วและหลังจากนี้จะมีการประสานงานต่อกับ สกพอ.”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาภาครัฐได้สนับสนุนการพัฒนาสมาร์ทซิตีในหลายพื้นที่ แต่ยังไม่ตอบสนองด้านการลงทุน เพราะการลงทุนพัฒนาทรัพย์สินยังเป็นของรัฐ แต่โครงการนี้จะให้พันธมิตรฮ่องกงเป็นผู้เข้ามาลงทุน ซึ่งประเมินเบื้องต้นจะใช้เงินลงทุนในการพัฒนา 100,000 ล้านบาท เป็นการคำนวณเฉพาะมูลค่าของอาคารและโครงสร้างพื้นฐาน และยังไม่ได้คำนวณรวมถึงมูลค่าทางธุรกิจ

บริษัทต้องดึงพันธมิตรต่างชาติเข้ามาลงทุนโครงการนี้เพราะมีผู้สนใจในประเทศยังไม่มาก แต่เท่าที่หารือกับสถาบันการเงินในประเทศสนใจโครงการนี้ เพียงแต่ต้องการเห็นพันธมิตรของบริษัทที่ชัดเจนขึ้น

“บริษัทมีที่ดินในบริเวณมอเตอร์เวย์ที่กำลังจะเป็นเส้นทางหลักเพื่อเข้าตัวเมืองศรีราชา จึงต้องการพัฒนาเป็นเมืองใหม่ในพื้นที่ 600 ไร่ เพื่อให้เป็นซีบีดีแห่งใหม่ดีกว่าพัฒนาเป็นบ้านจัดสรร ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าเพราะจะมีผู้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ต่อตารางเมตรได้มากกว่าบ้านจัดสรร รวมทั้งการพัฒนาเป็นสมาร์ทซิตี้จะสร้างพื้นที่สาธารณะได้มากกว่า ซึ่งเหมาะสมกับอนาคตที่คนจะอาศัยในเขตเมืองมากขึ้น และความเป็นเมืองจะกระจายเพิ่มมากขึ้น”

บริษัทคาดว่าจะใช้เวลาในการพัฒนาเมืองให้สมบูรณ์ประมาณ 20 ปี โดยความสมบูรณ์ของเมืองขึ้นกับปัจจัยการสนับสนุนจากภาครัฐ เพราะโครงสร้างพื้นฐานบางส่วนมีรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งสถานการณ์ตลาดทุนในปัจจุบันถือว่ามีความเหมาะสมเพราะมีเงินทุนในระบบมาก รวมทั้งเป็นการลงทุนที่ยั่งยืนและไม่ได้มุ่งหวังผลกำไรสูงสุด จึงทำให้มีโอกาสในการระดมทุนผ่านตราสารหนี้เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) 

รวมทั้งต้องได้รับการสนับสนุนจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่จะดึงบริษัทต่างชาติเข้ามาตั้งสำนักงานในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักธุรกิจต่างชาติเพิ่มมากขึ้นและทำให้ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทย