'โซลาร์รูฟท็อป' ฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก ลดค่าไฟฟ้าในครัวเรือน

'โซลาร์รูฟท็อป' ฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก ลดค่าไฟฟ้าในครัวเรือน

กรีนพีซ เสนอรัฐบาลนำงบฟื้นฟูมาลงทุน "โซลาร์รูฟท็อป" 1 ล้านหลังคาเรือน เพื่อเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม ลดค่าไฟฟ้าของครัวเรือน โรงพยาบาล และโรงเรียน

กรีนพีซ ประเทศไทย เปิดตัวปฏิบัติการ 'โซลาร์รูฟท็อป 1 ล้านหลังคาเรือน' ผลักดันให้รัฐบาลนำงบประมาณที่ใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นธรรม และกระตุ้นการลงทุนระบบพลังงานหมุนเวียนแบบกระจายศูนย์ที่ก่อให้เกิดการจ้างงานที่มีคุณค่า ลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

แม้อาจกล่าวได้ว่า ไทยเป็นผู้นำการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่มากกว่าร้อยละ 90 ของการติดตั้งเป็นแบบโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่ แทนที่จะเป็นหลังคาบ้านสำหรับที่อยู่อาศัย แท้ที่จริงแล้ว ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าจากหลังคาบ้านตนเองและเปลี่ยนเป็นผู้ผลิตและบริโภคในเวลาเดียวกัน(prosumer)

ในรายงาน “ปฎิวัติพลังงานบนหลังคา ข้อเสนอเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืนและเป็นธรรมผ่านระบบโซลาร์รูฟท็อปในประเทศไทย (พ.ศ.2564-2566)” ของกรีนพีซ ประเทศไทย ได้เสนอมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 โดยการติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อป 1 ล้านครัวเรือน

โรงพยาบาล 8,170 แห่ง และโรงเรียน 31,021 แห่งทั่วประเทศ โดยมีกำลังผลิตรวม 2,471 เมกะวัตต์ และใช้เงินลงทุนรวม 90,273 ล้านบาท ภายในเวลา 3 ปี (พ.ศ.2564-2566)

159552287884

ภาพจาก : https://www.greenpeace.org/thailand/act/netmetering-sign-up/

จริยา เสนพงศ์ หัวหน้างานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า แผนการปฏิวัติโซลาร์รูฟท็อป 1 ล้านหลังคาเรือนจะเกิดขึ้นได้ นอกจากการนำงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด19 เพื่อการลงทุนอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมแล้ว คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ต้องนำเอามาตรการหักลบกลบหน่วยไฟฟ้า Net Metering มาใช้ เพื่อสนับสนุนทุกครัวเรือนที่มีระบบโซลาร์รูฟท็อป โดยสามารถหักลบหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้กับไฟฟ้าที่ต้องซื้อจากการไฟฟ้า และราคาที่ซื้อไฟฟ้ากับราคาขายเป็นราคาเดียวกันหรือใกล้เคียงที่สุด

“จากการวิเคราะห์ แผนการนี้จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก ลดค่าไฟฟ้าของครัวเรือน โรงพยาบาล และโรงเรียนรวมกัน 17,139 ล้านบาทต่อปี มีการจ้างงานมากกว่า 50,000 ตำแหน่ง หากประเมินว่า ประเทศไทยจะใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า แผนการปฏิวัติโซลาร์รูฟท็อปนี้จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ประมาณ 4.52 ล้านตันต่อปีหรือเทียบเท่ากับการดูดซับของพื้นที่ป่าไม้ที่มีพรรณไม้อเนกประสงค์ 3 ล้านไร่ และลดการปล่อยออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ซึ่งเป็นคู่หูตัวร้ายของ PM2.5 ลงประมาณ 10,098 ตันต่อปี” เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการเศรษฐศาสตร์และพลังงาน กล่าวเสริม

ขณะที่ รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายถึงแผนการดังกล่าวว่า ได้คำนึงถึงการบริหารจัดการความมั่นคงในระบบไฟฟ้าในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยมีแนวทาง 2 ส่วนคือ ดังนี้

1. ความมั่นคงในระบบสายส่งรวม ได้แก่ การบริหารจัดการโรงไฟฟ้าที่มีความยืดหยุ่นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การปรับระบบค่าไฟฟ้าที่คิดตามช่วงเวลา (Time of Use หรือ TOU) การออกแบบและบริหารจัดการรถยนต์ไฟฟ้า การเก็บพลังงานไฟฟ้าในแบตเตอรี่ การเก็บพลังงานไฟฟ้าเป็นความเย็นหรือเป็นความร้อน

2. ความมั่นคงในระบบสายส่งย่อยในพื้นที่ ได้แก่ การจับคู่ (Demand Matching) ระหว่างกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปกับผู้ใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวัน การลงทุนเชื่อมระบบจ่ายไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ (Feeder) เข้าด้วยกัน การปรับหม้อแปลง โดยปรับการตั้งค่าที่หม้อแปลงหรือเปลี่ยนหม้อแปลงเฉพาะบางตัวที่แรงดันล้นเกิน

159552290257

ภาพจาก : https://www.greenpeace.org/thailand/act/netmetering-sign-up/

"การดำเนินการต่างๆ เหล่านี้ร่วมกัน เราจะสามารถบริหารจัดการการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นและลดลงของโซลาร์รูฟท็อปและพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงสามารถรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนเต็มร้อยในระยะยาวได้เป็นอย่างดี”

ด้าน นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ กล่าวปิดท้ายว่า “ความสำเร็จของโรงพยาบาลแสงอาทิตย์ 7 แห่ง ภายใต้กองทุนแสงอาทิตย์(Thailand Solar Fund) ในช่วงปี 2552 ที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นว่า แผนการโซลาร์รูฟท็อปเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรมนี้สามารถทำได้จริง รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับนโยบายสาธารณะที่สร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันให้กับสังคมไทยเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและฉับพลัน และทบทวนยกเลิกนโยบายที่เอื้อต่อกลุ่มผลประโยชน์อุตสาหกรรมที่นำไปสู่การทำลายสิ่งแวดล้อม”