“บีซีพีจี”จ่อบุกชิงงานประมูลระบบผลิตความเย็นย่านเมืองใหม่

“บีซีพีจี”จ่อบุกชิงงานประมูลระบบผลิตความเย็นย่านเมืองใหม่

“บีซีพีจี”เตรียมแผนรุกธุรกิจใหม่ ระบบผลิตความเย็น เล็งเจาะตลาดพื้นที่เมืองใหม่ ทั้งในและต่างประเทศ ล่าสุด ผนึก 2 พันธมิตร "เคพเพล และ ทีมกรุ๊ป" คว้าโปรเจค “เมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ” สัญญา 20 ปี คาด สร้างรายได้ 7,500 ล้านบาท

นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บีซีพีจี ได้รุกเข้าสู่ธุรกิจระบบผลิตความเย็นจากส่วนกลาง (District Cooling System) ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจใหม่ และเป็นพลังงานสีเขียว ซึ่งจะเริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยมีแผนที่จะขยายการเติบโตเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าในพื้นที่เมืองใหม่ เช่น อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุม คอมมูนิตี้มอลล์ สนามบิน มหาวิทยาลัย และสวนอุตสาหกรรม รวมถึงโครงการที่เป็นรูปแบบมิกซ์ยูส ที่มีความต้องการระบบทำความเย็นภายในอาคารรวมถึงยังมองโอกาสขยายการเติบโตของธุรกิจใหม่นี้ ไปสู่ต่างประเทศ เช่น เวียดนาม และลาว ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่กำลังสร้างเมืองใหม่จำนวนมาก

“บริษัทฯ พร้อมจะเข้าไปแข่งขันประมูลงานในลักษณะนี้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้มองโอกาสขยายตลาดไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียน อย่าง ลาว เมียนมา กัมพูชา และเวียดนามที่มีการขยายเมืองใหม่”

นายบัณฑิต กล่่าวว่า  เมื่อเร็วๆนี้ บีซีพีจี ยังได้ร่วมกับพันธมิตร คือ บริษัท เคพเพล ดีเอชซีเอส จากสิงคโปร์ และ ทีมกรุ๊ป เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกให้ดำเนินงานระบบผลิตความเย็นจากส่วนกลาง (District Cooling System) ในโครงการ “เมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ” (Chula Smart City) บริเวณพื้นที่เขตพาณิชย์ สวนหลวง-สามย่าน ซึ่งบริหารโดยสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยระบบผลิตความเย็นจากส่วนกลาง มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง (Cooling Load) 18,000 ตันความเย็น (Refrigeration Tons /RT)) ให้บริการพื้นที่โดยรอบโครงการฯ ครอบคลุมอาคารสํานักงาน ร้านค้าปลีกและที่อยู่อาศัย คาดว่าจะสามารถเริ่มเปิดดําเนินการในเฟสแรก พร้อมรับรู้รายได้ในปี 2565 และดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบในปี 2570

 

โดยการพัฒนาพื้นที่เขตพาณิชย์สวนหลวง-สามย่านดังกล่าวถือเป็นโครงการต้นแบบด้านการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและ สิ่งแวดล้อม ด้วยพลังงานทดแทน และนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการพลังงาน คาดว่าช่วยประหยัดพลังงาน และลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 35-50% สำหรับโครงการฯนี้ มีอายุสัญญา 20 ปี คาดว่า จะมีรายได้รวม 7,500 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) อยู่ในระดับ 10% ขึ้นไป

“การคว้างานโครงการ “เมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ” ครั้งนี้แสดงถึงความมุ่งมั่นและแผนการเติบโตที่ชัดเจนของบริษัทฯ ในการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรมที่ล้ำสมัย ผนึกด้วยพันธมิตรที่แข็งแกร่ง”

อย่างไรก็ตาม บีซีพีจี ยังมีแผนขยายธุรกิจสู่ นวัตกรรมด้าน Smart Energy อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาเมืองรูปแบบใหม่ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเราได้เริ่มพัฒนาด้านนี้มาตั้งแต่ปี 2561 จากความสำเร็จของโครงการ Peer to Peer Trading โดยใช้เทคโนโลยีบล็อคเชน ในโครงการ T77 และโครงการมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ (smart University) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น