'สมศักดิ์' คาใจ 12 ปี เพิ่งแจ้งข้อทุจริตฝายแม้ว

"สมศักดิ์" ตั้งข้อสังเกต 12 ปี เพิ่งแจ้งข้อกล่าวหา"อนงค์วรรณ" ทุจริตฝายแม้ว คาใจ กระบวนการสอบ หลังชื่อผู้ร้องแจงชัดไม่ได้ยื่นสอบ ชี้ตั้งกรรมการสอบ พบสร้างจริง มีรูปถ่ายชัดเจน เผย "กรมบัญชีกลาง" ยันมีประสิทธิภาพ ย้ำฝายมีประโยชน์ช่วยชะลอน้ำ

เมื่อวันที่  23 ก.ค.63  นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณี อนุกรรมการป.ป.ช. มีมติแจ้งข้อกล่าวหา นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน ทุจริตโครงการ "ฝายแม้ว" 770 ล้านบาท สมัยเป็น รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ปี 2551 ว่า เรื่องนี้คงต้องย้อนเวลากลับไปกว่า 12 ปี สมัยนั้นตนถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง นางอนงค์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) สาเหตุที่มีการร้องเรียนในสมัยนั้น ตนเข้าใจว่ามีการลงชื่อร้องเรียน แต่การตรวจสอบข้อเท็จจริง คนที่ลงชื่อร้องเรียนก็ได้ยืนยันกับผู้ตรวจสอบว่าตัวเขาเองไม่ได้ลงชื่อร้องเรียน กระบวนการสอบเหมือนจงใจจะชี้นำหรือหาเหตุผลในการจับผิดให้ได้หรือไม่ การพิจารณาเรื่องนี้ยาวนานมีการเปลี่ยนอนุกรรมการ หลายชุด จนตนนั้นเข้าใจว่าเรื่องนี้ได้ยุติไปแล้ว จนกระทั่งเวลาผ่านมาเป็น 12 ปี ป.ป.ช. ก็เพิ่งมาแจ้งให้รับทราบว่า นางอนงค์วรรณ เกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นรัฐมนตรีในขณะนั้น

นายสมศักดิ์ ยังเปิดเผยอีกว่า ตนนั้นทราบมาว่าที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ตั้งกรรมการสอบสวนตรวจสอบเรื่องนี้หลายครั้ง ว่าได้การดำเนินงานจริงหรือไม่ โดยมีรูปถ่ายยืนยันพร้อมค่าพิกัดของฝายทุกตัว และเมื่อ สตง. ไปตรวจสอบ ก็ได้ทำหนังสือให้กรมบัญชีกลางเข้าตรวจสอบด้วย ผลการชี้แจงของกรมบัญชีกลาง ยืนยันว่างานที่ออกมานั้นมีประสิทธิภาพ และคุ้มค่ากับการลงทุน

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่าตนได้ไปศึกษาสาเหตุของการสร้าง "ฝายแม้ว" จำนวนมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ มีความลาดชันสูง จึงต้องสร้างฝายให้ถี่ เพื่อที่จะอนุรักษ์ดินและน้ำ ฝายดังกล่าวยังช่วยป้องกันไฟป่าเพราะทำให้ดินมีความชุ่มชื้นในเวลานั้นจึงไม่มีไฟป่ามากแต่ขณะเดียวกันในเวลานี้ประเทศกลับถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ประชาชนต้องเป็นโรคทางเดินหายใจ ในส่วนของการออกแบบฝายเป็นไปตามหลักวิชาการกรมอุทยานที่ได้ศึกษาและกำหนดค่าพิกัดพื้นที่ไว้หลายปี และขั้นตอนการออกแบบก็มีมาก่อนที่นางอนงค์วรรณจะรับตำแหน่ง

โครงการนี้มีการผลักดันมานานแต่ไม่สำเร็จเพราะงบประมาณไม่เพียงพอประโยชน์ของฝายนั้นก็เพื่อดักตะกอน และชะลอการไหลของน้ำ เพื่อให้น้ำซึมลงดินเหมือนกับธนาคารน้ำใต้ดินที่เราพูดถึงกันในปัจจุบัน ซึ่งพื้นที่ป่าต้นน้ำตนขอย้ำว่ามีความสำคัญ เพราะเป็นแหล่งที่จะเติมน้ำให้น้ำกับเขื่อนต่างๆ ดังนั้น การทำฝายชะลอน้ำ ในราคาประมาณตัวละ 5,000 บาท มีอายุการใช้งาน 3-5 ปี จึงเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยในปัจจุบันทั้งกรมป่าไม้ กรมอุทยาน และหน่วยงานอื่น ก็ยังดำเนินการกิจกรรมนี้อยู่

อย่างไรก็ตาม นายสมศักดิ์ บอกว่า เรื่องนี้ยาวนานมาถึง 12 ปี คุณอนงค์วรรณ ไม่เคยถูกเชิญให้เข้าชี้แจงใดใดเลย และผมเชื่อว่าเวลานี้ ภรรยาของผมพร้อมที่จะไปให้ข้อมูลในวันที่ 3 สิงหาคม อย่างแน่นอน