'ความสันโดษ' ทักษะสำคัญที่ต้องฝึกฝน ในยุคดิจิทัล

'ความสันโดษ' ทักษะสำคัญที่ต้องฝึกฝน ในยุคดิจิทัล

ยิ่งโลกเชื่อมต่อมากเท่าไหร่ การรู้จักตัวเองยิ่งสำคัญมากขึ้นเท่านั้น ลองทำความรู้จักกับศิลปะแห่ง "ความสันโดษ" ท่ามกลางความวุ่นวาย ที่อาจทำให้ค้นพบความสุขในชีวิตมากขึ้น

หลายคนอาจเคยรู้สึก ถึงความโดดเดี่ยว แม้จะถูกรายล้อมไปด้วยคนรู้จักมากมาย มีเพื่อนในโซเชียลมีเดียที่คอยติดตาม ให้กำลังใจในแทบทุกจังหวะชีวิต

เทคโนโลยีที่ทันสมัย และโซเชียลมีเดียต่างมอบความสะดวกสบายในการเชื่อมต่อ ผ่อนคลาย ฯลฯ ได้เพียงชั่วนิ้วสัมผัส แต่ในทางตรงกันข้าม คมอีกด้านของการเชื่อมต่อฉับไวเหล่านี้ กลายเป็นผลกระทบหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สภาพจิตใจ ไปจนถึงการพัฒนาตัวเอง

แนวทฤษฎีของ Pascal นักคณิตศาสตร์ นักฟิสิกส์และนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ระบุไว้ว่า "ปัญหาทั้งหมดของมนุษยชาติเกิดจากการที่มนุษย์ไม่สามารถนั่งเงียบๆ ในห้องคนเดียว เรากลัวความเงียบของการมีชีวิตอยู่เรากลัวความเบื่อหน่าย และเลือกความฟุ้งซ่านไร้จุดหมายแทน และปัญหาหลักที่แท้จริง อาจมาจากการที่เราไม่เคยเรียนรู้ศิลปะแห่งความสันโดษ"

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" พาไปดู "ศิลปะของความสันโดษ" ที่มีส่วนช่วยให้คนในยุคดิจิทัล ผละตัวออกจากความยุ่งเหยิงเกินความจำเป็น และมีโอกาสเจอความสุขของตัวเองได้มากขึ้น 

  •  สันโดษ เพื่อลดการเชื่อมต่อ ที่มากเกินไป 

"เราต่างอาศัยอยู่ในโลกที่เราเชื่อมต่อกับทุกสิ่งยกเว้นตัวเราเอง เพราะมีสิ่งเย้ายวนใจอื่นๆ ที่น่าสนใจกว่า"

"เทคโนโลยี" เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตของคนเรามากขึ้นเรื่อยๆ จากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่ยุคโทรศัพท์ โทรทัศน์ วิทยุ มาจนถึงอินเทอร์เน็ต และนวัตกรรมการติดต่อสื่อสารสารพัดที่ล้วนเป็นวิธีที่มนุษย์คิดค้นเพื่อจะทำให้คนใกล้ชิดกันมากขึ้น และเชื่อมต่อกับโลกใบนี้ได้อย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้มีข้อดีอยู่มหาศาล และเกิดโทษอย่างมหันต์ได้หากใช่ไม่เป็น

กรมสุขภาพจิต เปิดเผยข้อมูลปี 2561 ว่า ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้งานเฟซบุ๊กเกือบ 600 ล้านคนทั่วโลก และมีคนในไทยร่วม 10 ล้านคนใช้งานเฟซบุ๊ก

ทุกๆ 20 นาที มีการโพสต์รูปถ่ายมากกว่า 3.7 ล้านรูป แชร์ลิงก์ และแสดงความรู้สึกผ่านสเตตัสมากว่าล้านข้อความ โดยสิ่งที่ซ่อนอยู่ในตัวเลขเหล่านี้ คือการ "ติดโซเชียล" มากขึ้นทุกวัน

เหตุผลสำคัญที่ทำให้คนทั่วโลกมีแนวโน้มจะติดโลกโซเชียลมากขึ้น คือ การไม่อยากอยู่อย่างโดดเดี่ยว ต้องการการมีตัวตนมากกว่าที่เป็นอยู่มากกว่าที่คิด มีความอยากรู้อยากเห็นเรื่องคนอื่น พอๆ กับต้องการให้คนอื่นรู้เรื่องของตน และการโหยหาแรงสนับสนุนและการยอมรับจากสังคม

พฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียแบบไม่ระมัดระวัง ทำให้หลายคนอาจลืมไปว่าในความเป็นจริงแล้วการท่องโซเชียลมีเดียไม่ได้ทำให้ความรู้สึกไม่สบายใจเหล่านั้นหายไป เพียงแต่ระงับไว้ชั่วขณะเท่านั้น

ที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือ ยิ่งเราเสพติดการใช้โซเชียลมีเดียมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เราห่างจากการทำความรู้จักตัวเอง และอาจนำไปสู่ปัญหาในการพัฒนาตัวเองในอนาคตด้วย

ขณะเดียวกันข้อเสียของเทคโนโลยีก็เริ่มปรากฏขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผู้ใช้ต้องสูญเสียความเป็นส่วนตัว และมีการเก็บข้อมูลต่างๆ ที่อาจมีผลต่อเนื่องที่อาจกระทบต่อการใช้ชีวิตได้ในระยะยาว

  •  เปลี่ยนการแก้เบื่อไปด้วยเทคโนโลยี มาเรียนรู้ที่จะโอบกอดความเบื่อหน่าย และเผชิญหน้ากับมัน  

หลายคนอาจเคยรู้สึกว่า แม้เราจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสิ่งต่างๆ รอบตัวไปเสียหมด แต่ยังรู้สึกว่ายังรู้สึกเหงา และยิ่งวิตกกังวล นั่นเป็นเพราะคุณอาจไม่เคยเผชิญกับความว่างเปล่า ไม่เผชิญหน้ากับตัวเอง และปัญหานั้นๆ 

ความเกลียดชังต่อความเหงาและความเบื่อหน่ายของตัวเอง จึงเป็นตัวกระตุ้นให้คนส่วนใหญ่หันมาติดเทคโนโลยีหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยหาเหตุผลมาสนับสนุนว่า ผลประโยชน์ที่ได้รับจากเทคโนโลยีมีค่ามากกว่ามีข้อเสีย

ทว่า รายงานการศึกษาผลกระทบจาการติดโซเชียล ของกรมสุขภาพจิต กลับสะท้อนภาพหัวกลับที่ว่า การท่องโลกไซเบอร์อย่างหนักหน่วงมีแนวโน้มมีข้อเสียมากกว่าข้อดี โดยจะมีอาการข้างเคียงตามมาไม่ว่าจะเป็นเสพติดอาหารและช้อปปิ้ง 29.5% ทำให้มีปัญหาภาวะซึมเศร้า 27.7% และทำให้เกิดอาการวิตกกังวล และภาวะอารมณ์แปรปรวน 21.1% 

นอกจากนี้ ยังพบว่าการติดโซเชียลก่อให้เกิดผลเสียทั้งต่อตัวเอง และต่อสังคมที่รุนแรงในแต่ละช่วงวัย เช่น ในกลุ่มวัยก่อนเรียน พบปัญหาสมาธิสั้น สูญเสียทักษะสังคม เสียการเรียนรู้จากประสบการณ์ และการลงมือทำ 

กลุ่มวัยเรียนก่อให้เกิดปัญหาด้านความรุนแรง อ้วน สายตาเสีย เสียวินัย และผลการเรียนลดลง ขณะที่กลุ่มวัยรุ่น ทำให้เกิดค่านิยมการบริโภคติดอินเทอร์เน็ต การรังแกกันทางโซเชียล การล่อลวง ค่านิยมไม่เหมาะสม และพฤติกรรมทางเพศ ผิดปกติ เป็นต้น 

ฉะนั้นทางออกของความรู้สึกโดดเดี่ยว ความเหงา และความวิตก จึงไม่ใช่การพุ่งเข้าหาคนจำนวนมาก แต่อาจเป็นการเผชิญหน้ากับสิ่งเหล่านั้น ลองปล่อยให้ความเบื่อหน่ายพาคุณไปในที่ที่มันต้องการ เพื่อให้คุณสามารถจัดการกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับความรู้สึกของคุณอย่างแท้จริง

การให้เวลากับสิ่งเหล่านี้ไม่ว่าจะทุกวันหรือทุกสัปดาห์ด้วยการนั่งคิดนิ่งๆ ตามลำพัง คุณจะถูกล้อมรอบด้วยตัวของตัวเอง จะได้ยินเสียงความคิดของตัวเอง นี่เป็นช่วงเวลาแห่งความสันโดษ และความเงียบสงบ คุณจะค่อยๆ คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมของตัวเองอย่างใกล้ชิด และเข้าใจตัวเองมากขึ้นได้

“การกอดความเบื่อในบางครั้งจะช่วยให้คุณค้นพบความแปลกใหม่ในสิ่งที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน มันเหมือนกับการเป็นเด็กที่ไม่มีเงื่อนไขมองเห็นโลกเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ยังแก้ไขข้อขัดแย้งภายในตัวเองได้”

ซึ่งทั้งหมดนี้คือภูมิปัญญาทางปรัชญาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ที่อาจไม่เคยถูกสอนในตำรา แต่เป็นหนทางที่พยายามทำให้มนุษย์รู้จักตัวเอง รู้จักการอยู่คนเดียว และเชื่อมโยงภายใน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าการเชื่อมต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์แทบทุกคนกำลังทำอยู่

ที่มา: Quartz และ กรมสุขภาพจิต