12 ปีคดี 'ฝายแม้ว' 770 ล้าน ป.ป.ช. เพิ่งเรียก 'อนงค์วรรณ'

12 ปีคดี 'ฝายแม้ว' 770 ล้าน ป.ป.ช. เพิ่งเรียก 'อนงค์วรรณ'

ป.ป.ช. เพิ่งเรียก อนงค์วรรณ เทพสุทิน อดีต รมว.ทรัพยากรฯ พร้อมพวก ชี้แจงโครงการในปี 2551 งบ 770 ล้าน  ส่วนคดีอีเวนท์โรดโชว์ไทยแลนด์ ส่งศาลฎีกาฯ นักการเมืองฟันอาญา “ยิ่งลักษณ์-สุรนันท์-นิวัฒน์ธำรง” และสื่อ

 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)แถลงความคืบหน้าการพิจารณาคดีต่างๆ วานนี้(22ก.ค.) โดยนายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ชี้แจงคดีโครงการ Roadshow สร้างอนาคตไทย Thailand 2020 ที่เกี่ยวข้องกับอดีตรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการพิจารณากรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับพวก กรณีเมื่อปี 2556 อนุมัติและดำเนินโครงการ Roadshow สร้างอนาคตไทย Thailand 2020 โดยได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนแล้ว มีมติดังนี้

1. การกระทำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล และนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 123/1 ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 192 และตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 และ 13

2. การกระทำของบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และนายฐากูร บุนปาน บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) และนายระวิ โหลทอง มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 123/1 ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2561 มาตรา 192 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงาน ของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4 ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับ การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 และมาตรา 13 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86

ทั้งนี้ ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็นพร้อมสำเนาอิเล็กทรอนิกส์ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายนิวัฒน์ธำรง นายสุรนันทน์ บมจ.มติชน นายฐากูร บมจ.สยามสปอร์ต ซินดิเคท และนายระวิ

ทั้งนี้ในการแถลง โฆษก ป.ป.ช.ได้อธิบายพฤติการณ์ทั้งหมดของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างละเอียด

สำหรับพฤติการณ์ทั้งหมด ป.ป.ช.ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้แล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยในนโยบายข้อ 3.4 ได้กล่าวถึงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางราง ระบบรถไฟทางคู่เชื่อมชานเมืองและหัวเมือง ศึกษาและพัฒนารถไฟความเร็วสูง

ต่อมาเมื่อเดือน ม.ค.2556 ครม.ได้มีมติยกร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ หรือที่เรียกว่า “ร่าง พ.ร.บ. สองล้านล้านบาท” และเมื่อเดือน ก.พ.2556 ครม.มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งประเทศเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำร่าง พ.ร.บ. สองล้านล้านบาท และเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการจัดนิทรรศการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน โดยให้นำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนครบถ้วน ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินโครงการจัดนิทรรศการไปแล้ว ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้แก่ กทม. หนองคาย นครราชสีมา และพิษณุโลก

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้มีดำริให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจัดนิทรรศการ การสัมมนา และการโฆษณาประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งของประเทศให้แก่สาธารณชนทราบอีก ภายใต้ชื่อ “โครงการ Roadshow สร้างอนาคตไทย Thailand 2020” 

โดยเมื่อปลายเดือน ส.ค.2556 นายสุรนันทน์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ขณะนั้น ก็ได้เรียกประชุมเพื่อเตรียมการจัด Roadshow โดยมีนายฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการทั่วไป บมจ.มติชน และตัวแทน บมจ.สยามสปอร์ต ซินดิเคท เข้าพบนายสุรนันทน์ ที่ห้องทำงาน ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เพื่อรับทราบและตกลงเป็นผู้รับจัดงาน 12 จังหวัด ทั่วประเทศ จังหวัดละ 20 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 240 ล้านบาท โดยมี บมจ.มติชน เป็นแม่งานหลักในการคิดรูปแบบการจัดงาน ทั้งที่ยังไม่มีกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบ

เมื่อตรวจสอบงบประมาณประจำปี 2556 ก็ไม่ได้ระบุแผนงานโครงการดังกล่าวไว้ ประกอบกับงบประมาณประจำปี 2557 ประกาศใช้ไม่ทันวันที่ 1 ต.ค.2556 แต่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้อนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น วงเงิน 40 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดโครงการ Roadshow และเห็นชอบให้จัดโครงการใน 2 จังหวัดก่อน ได้แก่ หนองคายและนครราชสีมา ทั้งที่

สถานการณ์ในขณะนั้นมีหลายฝ่ายออกมาทักท้วงว่าร่าง พ.ร.บ.สองล้านล้านบาท อาจขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหลายประการ และมีการเตรียมยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย

เช่น ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ผู้นำฝ่ายค้านและ ส.ส.ฝ่ายค้าน เป็นต้น

อีกทั้งการจัดงานดังกล่าวยังซ้ำซ้อนกับงานนิทรรศการที่กระทรวงคมนาคมได้จัดไปก่อนแล้ว ประกอบกับไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดว่า หากไม่ดำเนินการโครงการ Roadshow ในขณะนั้นแล้วทางราชการหรือประชาชนจะได้รับความเสียหายแต่อย่างใด จึงยังไม่มีเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนที่จะออกไป Roadshow

ทั้งนี้ ก่อนที่จะเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ บมจ.มติชน ได้เข้าพบผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นเอกสารข้อเสนอด้านราคา วงเงิน 40 ล้านบาท แต่เนื่องจากสำนักงบประมาณยังไม่ได้แจ้งใบงวด ทำให้ยังไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ จึงได้นัดหมาย บมจ.มติชน มายื่นเสนอราคาใหม่ โดยในวันดังกล่าวเจ้าหน้าที่บริษัทได้มอบเอกสารข้อเสนอด้านราคาวงเงิน 40 ล้านบาท ไว้ให้ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง

ต่อมานายสุรนันทน์ ได้เห็นชอบราคากลางโครงการ Roadshow จ.หนองคาย และนครราชสีมา ในวงเงิน 40 ล้านบาท ซึ่งตรงกับข้อเสนอด้านราคาของบมจ.มติชน ที่ได้ยื่นไว้ต่อ ผอ.สำนักบริหารกลางและได้มีการสืบราคาเพิ่มเติมจากสื่อ 3 ราย แต่เป็นสื่อในเครือเดียวกับบมจ.มติชนทั้งสิ้น และในวันเดียวกัน บมจ.มติชนได้ยื่นเอกสารเสนอราคา ซึ่งนายสุรนันทน์ และนายนิวัฒน์ธำรง รองนายกฯ ขณะนั้น ก็เห็นสมควรอนุมัติจัดจ้างบมจ.มติชน เป็นผู้รับจ้างจัดโครงการ Roadshow 2 จังหวัดดังกล่าว และมอบอำนาจให้ ผอ.สำนักบริหารกลางลงนามในหนังสือสั่งจ้างต่อไป

โดยกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง จนถึงขั้นตอนการลงนามในหนังสือสั่งจ้างใช้เวลาดำเนินการเพียง 2 วัน เท่านั้น นายสุรนันทน์ และนายนิวัฒน์ธำรง ได้ร่วมกันอนุมัติหลักการจัดโครงการ Roadshow อีก 10 จังหวัดที่เหลือ วงเงิน 200 ล้านบาท โดยครั้งนี้ นายสุรนันทน์ และนายนิวัฒน์ธำรง ได้อนุมัติให้นำราคากลางที่ได้กำหนดตรงกับข้อเสนอด้านราคาของบมจ.มติชน ไว้แล้ว มาเป็นราคากลางในครั้งนี้

โดยแบ่งการจัดจ้างเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 5 จังหวัด โดยตกลงแบ่งงานให้มติชน และสยามสปอร์ตฯ บริษัทละ 5 จังหวัด โดยในส่วนของ บริษัทสยามสปอร์ตฯ มีนายระวิ โหลทอง ลงนามยื่นเอกสารการเสนอราคาด้วยตนเอง ซึ่งนายสุรนันทน์ และนายนิวัฒน์ธำรง เห็นสมควรอนุมัติจัดจ้างทั้ง 2 บริษัทดังกล่าว ซึ่งกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างจนถึงขั้นตอนการลงนามในหนังสือสั่งจ้างใช้เวลาดำเนินการเพียงวันเดียวเท่านั้น

โดยครั้งนี้ ได้เบิกจ่ายจากงบประมาณประจำปี 2557 ค่าใช้จ่ายในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แต่พบว่าการลงนามในหนังสือสั่งจ้างได้กระทำไปก่อนที่ได้รับเงินประจำงวดจากสำนักงบประมาณ ทั้งที่ส่วนราชการทราบดีว่าการลงนามในหนังสือสั่งจ้างได้ ก็ต่อเมื่อสำนักงบประมาณได้แจ้งจัดสรรเงินงบประมาณมาให้แล้วเท่านั้น (ใบงวด) ตามพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502

ต่อมาได้มีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ. สองล้านล้านบาท ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งในท้ายที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีคำวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.สองล้านล้านบาท ตราขึ้นโดยมิใช่กรณีจำเป็นเร่งด่วน ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญมีผลให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นอันตกไป ส่งผลให้โครงการต่าง ๆ ตามที่ได้ออกไป Roadshow มิได้เกิดขึ้นจริง การใช้งบในโครงการ Roadshow 240 ล้านบาท จึงเกิดความสูญเปล่า เป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย

ปักหมุด 928 ท้องถิ่นใช้งบโควิด

นายนิวัฒน์ไชย ยังกล่าวถึงแนวทางการป้องกันการทุจริตในสถานการณ์วิกฤติ กรณีศึกษาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยว่า ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีโครงการ “การปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19” เพื่อให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการสอดส่องและแจ้งเบาะแสการทุจริตทั่วประเทศ เพื่อสามารถป้องกัน ป้องปรามยับยั้งการทุจริต ไปก่อนหน้านี้

ปัจจุบันสำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักส่งเสริมและบูรณาการมีส่วนร่วมต้านทุจริต สำนักวิจัยและบริหารวิชาการด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม ได้ต่อยอดการดำเนินการจากการปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตฯ พัฒนาไปสู่การวิจัยเชิงกรณีศึกษา เรื่องการทุจริตในสถานการณ์วิกฤติ : กรณีศึกษาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และเสนอแนวทางการป้องกันการทุจริตในกรณีดังกล่าวรวมทั้งในกรณีภาวะวิกฤติอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต นำเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณา 

75% มีความเสี่ยงทุจริตงบโควิด

โดยผลของการดำเนินการ สรุปได้ดังนี้ 1. ผลการปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตฯ ซึ่งผลจากการมีส่วนร่วมของประชาชนร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดทั่วประเทศ ได้นำมาจัดทำเป็น “แผนที่พื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต (Corruption Risk Mapping)” ที่จะแสดงผลให้เห็นความเสี่ยงในการทุจริตและระดับความรุนแรงของการทุจริตของ อำเภอ/เขต ในจังหวัด ในครั้งนี้พบว่า จากพื้นที่ทั้งหมด 928 แห่งทั่วประเทศ พบว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการทุจริต โดยมีความเสี่ยงในระดับที่เป็นไปได้สูงมากร้อยละ 13, มีความเป็นไปได้สูงร้อยละ 35 และมีความเป็นไปได้ปานกลางร้อยละ 48

2. ผลการวิจัยเชิงกรณีศึกษาเรื่องการทุจริตในสถานการณ์วิกฤตฯ พบพฤติการณ์ส่อการทุจริตคือ มีการกักตุนสินค้า/จำหน่ายสินค้าในราคาสูง มีพฤติการณ์ทุจริตเกี่ยวกับการบริหารจัดการงบประมาณในสถานการณ์ฉุกเฉิน การจัดซื้อจัดจ้าง การเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการเอกชนที่เป็นพรรคพวก และมาตรการเกี่ยวกับการเยียวยา โดยปัจจัยเหตุที่ส่งผลคือ ความต้องการที่สินค้าที่มีลักษณะเฉพาะ มาตรการควบคุมราคาสินค้าของภาครัฐไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การกำหนดคุณสมบัติและราคากลางในการจัดซื้อพัสดุของหน่วยงานของรัฐไม่ครอบคลุมสินค้าจำเป็นในช่วงวิกฤติ ความไม่สมบูรณ์ของระบบฐานข้อมูลภาครัฐ เป็นต้น

3. ผลการวิเคราะห์และข้อเสนอแนวทางการป้องกันการทุจริตในสถานการณ์วิกฤติฯ ทั้งกรณีศึกษาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมทั้งในกรณีภาวะวิกฤติอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ได้ผลสรุปจำแนกตามพฤติการณ์การทุจริต ได้แก่ การทุจริตเชิงนโยบายในการบริหารจัดการงบประมาณในสถานการณ์ฉุกเฉิน การทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การทุจริตในการเอื้อประโยชน์ การทุจริตในการกักตุนสินค้า การค้ากำไรเกินควร การทุจริตเงินเยียวยา และฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ การทุจริตสิ่งของหรือเงินบริจาคช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ

ชงเปิดข้อมูล-ตรวจสอบเชิงรุก 

โดยในรายละเอียดของข้อเสนอแนะในแต่ละพฤติการณ์นั้น ประกอบด้วยหลักการสำคัญได้แก่ 1. การทบทวนกฎหมายและกำหนดแนวทางปฏิบัติในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2. การบูรณาการและเปิดเผยข้อมูลผ่าน “Online Platfrom” 3. การตรวจสอบเชิงรุก 4. การสอดส่องและแจ้งเบาะแส (Watch and Voice)

ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาเห็นชอบแนวทางการป้องกันการทุจริตในสถานการณ์วิกฤติ : กรณีศึกษาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ในขั้นตอนต่อไปก็จะมีการจัดทำข้อเสนอแนะดังกล่าวเสนอต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ทั้งนี้ ประชาชนที่สนใจเกี่ยวกับรายละเอียดของแนวทางการป้องกันการทุจริตในสถานการณ์วิกฤติ : กรณีศึกษาการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 เพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ www.nacc.co.th

คดีฝายแม้วเพิ่งแจ้ง‘อนงค์วรรณ’

ขณะที่คดีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง ที่คงค้างใน ป.ป.ช. มีรายงานว่า กรณีกล่าวหานางอนงค์วรรณ เทพสุทิน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับพวกกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเกี่ยวกับโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและป่าไม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อลดผลกระทบ ภาวะวิกฤติโลกร้อน (ฝายแม้ว) วงเงินงบประมาณปี 2551 จำนวน 770 ล้านบาท กรณีการก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสานและการเพาะชำ/ปลูกหญ้าแฝก โดยมิชอบ และหักเงินโครงการดังกล่าว เพื่อประโยชน์ สำหรับตนเองและผู้อื่นโดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ซึ่งมีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเมื่อปี 2555

ล่าสุดเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการรวบรวมข้อมูลหลักฐาน เสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่พิจารณาแล้ว มีมติแจ้งข้อกล่าวหานางอนงค์วรรณ เพื่อให้มีหนังสือรับทราบ และให้เข้าชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด