‘ไทยแอร์เอเชีย’ เก็บคองอเข่าสู้โควิด จี้คลังเร่งอุ้ม ‘แอร์ไลน์’ ก่อนล้มครืน

‘ไทยแอร์เอเชีย’ เก็บคองอเข่าสู้โควิด  จี้คลังเร่งอุ้ม ‘แอร์ไลน์’ ก่อนล้มครืน

ระหว่างรอความชัดเจนว่าเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเป็นของ “ปรีดี ดาวฉาย” ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกสิกรไทย ตามโผรายชื่อตัวเต็งหรือไม่

กลุ่มธุรกิจสายการบินก็เตรียมขอเข้าหารือกับ รมว.คลังป้ายแดงทันทีที่รับตำแหน่ง หลังเรียกร้องให้คลังเร่งพิจารณาปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) เพิ่มสภาพคล่องแก่ 8 สายการบินมาตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา กระทั่งเกิดเหตุช็อกวงการแอร์ไลน์ไทย เมื่อ “นกสกู๊ต” ประกาศปิดกิจการเมื่อปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา เพราะไปต่อไม่ไหว หลังถูกวิกฤติโควิด-19 รุมเร้าหนักจนมองไม่เห็นหนทางฟื้นตัว

ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชียเอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ผู้ถือหุ้นใหญ่ของสายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวภายหลังการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 ของ AAV วานนี้ (22 ก.ค.) ว่า คาดว่าธุรกิจ “สายการบิน” จะอั้นเรื่องสภาพคล่องได้ถึงเดือน ต.ค.นี้ถ้าไม่เปิดประเทศ

จึงอยากให้รัฐบาลเร่งตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง จะเปิดประเทศหรือไม่ ถ้าไม่เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็อยากให้พิจารณาปล่อยซอฟท์โลนแก่สายการบินอย่างเร่งด่วน ไม่เช่นนั้นสายการบินก็คงล้มตายกันหมด! เพราะไม่มีเงินมาหมุนสภาพคล่อง

“ประเทศอื่นๆ เช่นในยุโรป และสิงคโปร์ เขาให้เงินแก่สายการบินฟรีๆ เพื่อประคองธุรกิจ ไม่ใช่เฉพาะสายการบินของรัฐ แต่รวมถึงสายการบินเอกชนด้วย แต่ของไทยเรา แค่ขอกู้ยังไม่ให้เลย”

โดยทั้ง 8 สายการบินในไทยได้ยื่นเรื่องขอซอฟท์โลนและรอนานกว่า 3 เดือนแล้ว ระหว่างนี้สายการบินต้องช่วยตัวเองไปก่อน ใครตายก็ตาย ใครอยู่ก็อยู่ หรือรัฐบาลจะปล่อยให้ตาย อย่าว่าแต่สายการบินเลย ได้คุยกับทุกสมาคมท่องเที่ยวแล้ว ทุกคนเดี้ยงหมด รอก็แต่รัฐบาลว่าจะตัดสินใจอย่างไร

“เปิดประเทศก็ดี ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้เปิดในไตรมาส 4 นี้ แต่ถ้าไม่เปิดประเทศก็ต้องดูแลเรากันหน่อย ไม่ใช่ว่าพอภาคท่องเที่ยวฟื้น ทุกคนตายหมดแล้ว นักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวไทย ไม่มีร้านสปานวด ไม่มีร้านอาหารกิน ไม่มีรถเช่า เพราะไม่มีเงินเข้ามาช่วยแต่แรก หรืออยากเห็นภาคท่องเที่ยวไทยเป็นซอมบี้ ตายก็ไม่ตาย รอดก็ไม่รอด ถ้าฟื้นตัวมาก็คงเหลือกันอยู่ไม่กี่ราย”

ธรรศพลฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ระหว่างนี้ไทยแอร์เอเชียเองก็ต้องปรับตัว สนใจเปิดศูนย์ปฏิบัติการบิน (ฮับบิน) ที่สนามบิน “สุวรรณภูมิ” เพิ่ม หลังจากเคยย้ายจากที่นั่นมาประจำที่ฮับบินดอนเมืองเกือบ 8 ปี โดยเล็งเห็นว่ามีตลาดทั้งเส้นทางภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพราะเที่ยวบินของการบินไทยก็หายไปมาก ไทยสมายล์ก็ไม่มีเที่ยวบินเพิ่ม ไทยเวียตเจ็ทเองก็คงเพิ่มเที่ยวบินไม่ได้มาก

“และที่สำคัญคือสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) ที่สุวรรณภูมิมีเจ้าเดียวคือไทยเวียตเจ็ท ในขณะที่ดอนเมืองมี 3-4 ราย ตอนนี้ก็รอบอร์ดของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT พิจารณาอนุมัติสัปดาห์หน้า ถ้าอนุมัติ ก็น่าจะเริ่มให้บริการที่สุวรรณภูมิได้ราวเดือน ก.ย.นี้ ในช่วงแรกๆ อาจเริ่มให้บริการ 5-6 ลำ”

สันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอเชียเอวิเอชั่น และไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า หลังจากเกิดวิกฤติโควิด-19 ระบาดตั้งแต่ปลายปี 2562 บริษัทฯได้ปรับลดเป้าหมายจำนวนผู้โดยสารปี 2563 เหลือ 10.8 ล้านคน ลดลงประมาณ 50% จากจำนวนผู้โดยสาร 22.1 ล้านคนของปี 2562 โดยมีอัตราขนส่งผู้โดยสาร (โหลดแฟคเตอร์) เฉลี่ย 80%

นอกจากนี้ยังได้ปรับแผนปีนี้ด้วยการกระจายแหล่งที่มาของรายได้ ตั้งเป้าผลักดันให้ airasia.com เป็นมากกว่าเว็บไซต์จองตั๋วเครื่องบิน ยกระดับเป็นแพลตฟอร์มจองสินค้าท่องเที่ยวออนไลน์ (Online Travel Agent : OTA) และเตรียมเปิดแพลตฟอร์ม OURSHOP รุกตลาดชอปปิงออนไลน์ รวมถึงนำแบรนด์ SANTAN อาหารบนเครื่องบินมาลุยตลาดฟู้ดดิลิเวอรี่ และบุกตลาดขนส่งสินค้าทางอากาศ (คาร์โก้) มากขึ้นผ่านแบรนด์ Teleport ด้วยการปรับเครื่องบินมารับคาร์โก้ได้มากขึ้น

ด้านมาตรการควบคุมต้นทุนและสภาพคล่อง ที่ผ่านมาผู้บริการและพนักงานสมัครใจรับเงินเดือนลดลงตามระดับตำแหน่งระหว่าง 10-75% นอกจากนี้ยังได้ระงับการเดินทางที่ไม่จำเป็นของพนักงานและระงับการจ้างงานพนักงานไว้ชั่วคราว เจรจาเพื่อขอผ่อนผันและยืดอายุการชำระหนี้กับเจ้าหนี้ พร้อมทั้งยังคงแสวงหามาตรการลดต้นทุนเพิ่มเติม โดยบริษัทชะลอการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงและลดฝูงบินเหลือ 59 ลำ ณ สิ้นสุดปี 2563 ลดลงจาก 63 ลำเมื่อสิ้นปี 2562 ให้สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารที่ปรับตัวลดลง

หลังไทยแอร์เอเชียหยุดบินไปเมื่อปลายเดือน มี.ค.-เม.ย. 2563 ตามที่รัฐบาลประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน และระงับการเดินทาง บริษัทฯกลับมาทำการบินเส้นทางในประเทศเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ใช้เครื่องบิน 7 ลำ ให้บริการ 20 เส้นทาง และเพิ่มเป็น 15 ลำในเดือน มิ.ย. ก่อนเพิ่มเป็น 20-25 ลำในเดือน ก.ค.นี้ ส่วนเส้นทางระหว่างประเทศยังต้องใช้เวลา เพราะขณะนี้หลายๆ ประเทศยังไม่เปิดประเทศ และไทยเองก็ยังจำกัดการเดินทาง คาดว่าในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้น่าจะเริ่มให้บริการได้ แต่เป็นไปอย่างจำกัด

“ปี 2563 จึงเป็นปีแห่งการ เก็บคองอเข่า เน้นระมัดระวังตัว ประคองธุรกิจให้ไปรอด และรักษาพนักงานเอาไว้” สันติสุขกล่าว