'พลังงาน' เตรียมถก 'ปตท.สผ.-เซฟรอน' หาทางออกแหล่งเอราวัณ

'พลังงาน' เตรียมถก 'ปตท.สผ.-เซฟรอน' หาทางออกแหล่งเอราวัณ

กรมเชื้อเพลิงฯ คาด 1 เดือนชัดเจน ปตท.สผ.เข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ ติดตั้งแท่นผลิต เตรียมนัดหารือร่วม 3 ฝ่ายกับ เชฟรอนฯเร็วๆนี้ ด้าน “พลังงาน” คาด รัฐสูญค่าภาคหลวงปี63 ราว 20% หลังราคาน้ำมันดิบร่วงและก๊าซฯถูกลง

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมฯ อยู่ระหว่างประสานนัดหมายกำหนดวันเพื่อหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย ระหว่างบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในฐานะผู้ดำเนินการ (Operator) แหล่งเอราวัณในปัจจุบัน บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ในกลุ่ม ปตท.สผ.ในฐานะผู้ดำเนินการ (Operator) รายใหม่ และกรมเชื้อเพลิงฯ ในฐานะหน่วยงานกลาง เพื่อให้บรรลุข้อตกลงเข้าพื้นที่ (Site Access Agreement) ระยะที่ 2 ระหว่าง เชฟรอนฯ และ ปตท.สผ. ซึ่งจะเปิดทางให้ ปตท.สผ. สามารถเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ ได้ตามแผนงานในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ที่จะมีกิจกรรมการติดตั้งแท่นหลุมผลิต และการเจาะหลุมผลิตบนแท่นใหม่ เป็นต้น

 “คาดว่า 1 เดือน ก็น่าจะเห็นอะไรออกมา เท่าที่ดู ก็มีกิจกรรมบางส่วนที่ ปตท.สผ. น่าจะสามารถเข้าไปดำเนินการในแหล่งเอราวัณได้ก่อน ก็ขอให้ทั้ง 3 ฝ่ายได้คุยกันก่อน” นายสราวุธ กล่าว

159541410215

ส่วนสถานการณ์ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศ พบว่า ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-มิ.ย.2563) ลดลงเหลือประมาณกว่า 4,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปกติอยู่ที่ประมาณกว่า 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งในส่วนนี้สะท้อนต่อความต้องการใช้ก๊าซฯ ในอ่าวไทย ลดลงเหลือ ประมาณ 2,300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปกติใช้อยู่ประมาณ 2,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งเป็นไปตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้การใช้พลังงานในประเทศลดลง โดยเฉพาะความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอลง เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นต้น ขณะที่ความต้องการใช้ก๊าซฯเพื่อผลิตไฟฟ้ายังลดลงไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT ก็ได้บริหารจัดการเรียกรับก๊าซฯจากผู้รับสัมปทานแหล่งต่างๆ เท่าที่จำเป็น หรือตามเงื่อนไขสัญญารับก๊าซฯขั้นต่ำ เพื่อไม่ให้กระทบต่อสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติหลัก หรือ Global DCQ ทั้งกับผู้รับสัมปทานในอ่าวไทย และผู้รับสัมปทานแหล่งก๊าซฯ จากเมียนมาร์ และต้องไม่ให้เกิดภาระไม่ได้ใช้ก็ต้องจ่ายเงิน (Take or Pay) ด้วย

รวมถึง ก็ได้จัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ในช่วงที่ตลาดโลกราคาต่ำ เข้ามาเฉลี่ยต้นทุนราคาก๊าซฯในประเทศให้ถูกลงด้วย ซึ่งคาดว่า ในปีนี้ มีโอกาสที่ ปตท. จะนำเข้า LNG ในรูปแบบตลาดจร(Spot) ได้ครบตามแผน 11 ลำ

ขณะที่แนวโน้มความต้องการใช้ก๊าซฯในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เบื้องต้น ประเมินว่ามีทิศทางทรงตัว แต่ก็ต้องรอติดตามการฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจหลังผ่านสถานการณ์โควิด-19 ด้วย ซึ่งหากกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมามากขึ้น ก็จะส่งผลให้ความต้องการใช้ก๊าซฯเริ่มกลับมาด้วย

“ก็เป็นไปได้ที่ปีหน้า จะเห็นการนำเข้า LNG Spot เข้ามาเพิ่ม หากราคา LNG ยังถูกกว่าราคาก๊าซฯในอ่าวมาก ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศ แต่ก็ยังต้องดูดีมานด์ก๊าซฯด้วยว่าจะฟื้นตามเศรษฐกิจหรือไม่” นายสราวุธ กล่าว

159541425822

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน ประเมินว่า แนวโน้มราคาก๊าซฯในอ่าวไทย ที่ถูกลงต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา จากระดับเกือบ 200 บาทต่อล้านบีทียู ลดลงมาเหลือประมาณ 160-170 บาทต่อล้านบีทียู และมีจะลดลงอีกมากในช่วงเดือน ต.ค.ปีนี้ รวมถึง ราคาน้ำมันดิบที่ลดลงอย่างมาก จากระดับกว่า 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงต้นที่ ลดลงไปต่ำสุดอยู่ที่ราว 19 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา 

ก่อนขึ้นมาอยู่ในระดับกว่า 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปัจจุบัน จะส่งผลกระทบต่อรายได้กิจการปิโตรเลียม ปี 2563 โดยคาดว่า ค่าภาคหลวง จะลดลงประมาณ 20% จากปี 2562 ที่ทำรายได้ส่งเข้ารัฐ ประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท

สำหรับปี 2562 อุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศ สร้างรายได้เข้ารัฐ 1.6 แสนล้านบาทโดยภาพรวมการจัดหาปิโตรเลียมจากแหล่งในประเทศในช่วงปี 2562 มีสัมปทานปิโตรเลียม ในประเทศที่ดำเนินการอยู่ 38 สัมปทาน 48 แปลงสำรวจ แบ่งเป็นแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย 29 แปลง และแปลงสำรวจบนบก 19 แปลง