#ถ้าการเมืองดี 'แฮชแท็ก' สะท้อนใจชาว 'มิลเลนเนียม'

#ถ้าการเมืองดี 'แฮชแท็ก' สะท้อนใจชาว 'มิลเลนเนียม'

#ถ้าการเมืองดี "แฮชแท็ก" ปลายเปิดในทวิตเตอร์ที่ชวนให้คนแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง คือภาพสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของชาว "มิลเลนเนียม" ได้อย่างน่าสนใจ

ถ้าอะไรจะดี ขอให้ ‘การเมืองดี’

#ถ้าการเมืองดี คือ 'แฮชแท็ก' ร้อนแรงในทวิตเตอร์เมื่อต้นสัปดาห์ อันที่จริงมีร้อนกว่านี้อีก แต่ที่อยากพูดถึง เพราะเป็นแฮชแท็กปลายเปิดที่ชวนให้คนแสดงความคิดเห็นได้กว้างขวาง และสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของยุคสมัยได้ดีมากๆ

ถ้า Line คือแอพลิเคชั่นที่ช่วยให้คนสูงวัยได้สื่อสารกับเพื่อนนักเรียนสมัยมัธยมได้สะดวกยิ่งขึ้น ‘ทวิตเตอร์’ ก็คือโลกที่คนรุ่นใหม่ อายุน้อยๆ ใช้เป็นโทรโข่งส่งเสียงของพวกเขาให้สังคมได้ฟังเสียงหัวใจของพวกเขา

ที่มาของแฮชแท็ก #ถ้าการเมืองดี เริ่มจากใคร ก็ยากจะสืบค้น แต่เอาเป็นว่าทำให้เรารู้ว่าคนรุ่นใหม่ เขาคิดกันอย่างไร ดังตัวอย่างเช่น

#ถ้าการเมืองดี คุณภาพชีวิตคนในประเทศมันก็จะดี ถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำประปา การศึกษา ความสะดวกสบายต่างๆ เอาจริงๆ ก็แทบจะทุกอย่างเลยด้วยซ้ำ ถ้าการบริหารจัดการดี สิ่งเหล่านี้มันก็จะดีไปด้วย เนี่ย แค่คิดก็น่าอยู่แล้วปะ แต่ดูไทยแลนด์นี้ ออกจากบ้านก็คืออันตรายอยู่รอบตัว ตัดภาพไปที่ประเทศอื่น

คนนี้มองว่าการเมืองเป็นเรื่องของการจัดสรรผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเราโดยตรง ทั้งสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และการเมืองยังมีบทบาทในการกระจายความเจริญไปยังคนทุกกลุ่มด้วย ซึ่งไปในทางเดียวกับ...

#ถ้าการเมืองดี ทางสำหรับจักรยาน ทางเท้า คนเดินก็คงไม่ต้องคอยหลบรถจักรยานยนต์ หรือรถยนต์ คนพิการก็ไม่ต้องเข็นอยู่ที่ถนน สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยสภาพแวดล้อมไม่พาพิการไปหนักกว่าเก่า

บางคนก็บอกว่า ชอบ hashtag นี้ #ถ้าการเมืองดี เพราะมันคือเรื่องจริงมากๆ โดยไม่ต้องอ้างอิงฝ่ายไหนหรือใครเลย แค่ลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า คุณไม่อยากมีคุณภาพชีวิต มีสุขภาพจิต มีการศึกษา มีการงาน มีรายได้ มีโอกาส มีสวัสดิการ มีสิ่งแวดล้อม มี facility และมีอนาคตที่ดีกว่านี้กันเหรอ..?? เราอยากมีนะ

ข้อมูลจาก Statista ระบุว่า ประเทศไทยมีบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ 5.7 ล้านคน มากเป็นอันดับที่ 15 ของโลก เติบโตเฉลี่ยปีละ 35 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าโตเร็วที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ส่วนกลุ่มคนที่ใช้งานมากที่สุดอยู่ในช่วงวัย 16-24 ปี มีประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ อายุ 25-34 ปี 26 เปอร์เซ็นต์, อายุ 35-44 ปี 19 เปอร์เซ็นต์, อายุ 45-54 ปี 11 เปอร์เซ็นต์ และอายุ 55-64 ปี 4 เปอร์เซ็นต์

หากเรานับคนอายุ 25-44 ปี คือแรงงานหลักของประเทศ ก็จะพบว่าคนกลุ่มนี้ใช้ทวิตเตอร์สูงถึง 45 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว และช่วงวัยนี้แหละมีกลุ่มวัยที่เราเรียกรวมๆ ว่า ชาวมิลเลนเนียล หรือคนที่มีอายุอยู่ระหว่าง 24-39 ปีรวมอยู่ด้วย

แม้แฮชแท็กถ้าการเมืองดีบอกไม่ได้ว่าใครเป็นคนเริ่ม และเริ่มโดยคนวัยใด แต่เมื่อเกิดในสังคมออนไลน์ที่คนอายุน้อยๆ รวมตัวกันอยู่ คือสิ่งที่น่าสนใจและต้องมาพิเคราะห์ และใครที่คิดว่าการแสดงออกของคนวัยนี้ ‘หน่อมแน้ม’ ‘มุ้งมิ้ง’ อาจจะต้องทบทวนใหม่ เพราะพวกเขารู้สึกรู้สาเกินกว่าคาดคิด ในจำนวนนี้ก็มีไม่น้อยที่ผ่านการทำงานและเห็นความเป็นไปของบ้านเมืองมาพอสมควร ดังนั้นการผลักตัวเองให้มีส่วนร่วมกับทุกความเปลี่ยนแปลง คือสิ่งที่สมาชิกในสังคมทุกคนพึงเป็น

การเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย แต่ที่เราทำให้มันไกลจากตัวเรา ไม่อยากเข้าไปมีส่วนร่วมหรือเข้าไปรับรู้ใดๆ เพราะรูปแบบหรือกระบวนการทางการเมืองของไทยอยู่ในวังวนของการจัดสรรผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มตน ไม่ได้กระจายประโยชน์ใดๆ สู่สมาชิกอื่นในสังคมเลย เราจึงเบื่อหน่าย เพิกเฉยกับการเมืองแบบไทยๆ มาโดยตลอด

การลุกขึ้นมาทวงถามด้วย #ถ้าการเมืองดี จึงนับเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่เห็นถึงความสำคัญของการเมืองที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกชีวิต หากไม่เปลี่ยนแปลงใดๆ สิ่งที่คนไทยพึงมีพึงได้ก็ไม่มีวันเกิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ หรือชาวมิลเลนเนียลก็อาจจะตกอยู่ในวังวนสังคมเดียวกับที่รุ่นพ่อแม่เคยผ่านๆ มา

ที่ผ่านมานั้นคนไทยรุ่นใหม่วัยมิลเลนเนียลเจออะไรมาเยอะมาก ประสบการณ์กับการเมืองไทยมากล้นเหลือ เริ่มต้นชีวิตยังไม่จบป.6 ก็มีรัฐประหารปี 2534 ต่อด้วยพฤษภาทมิฬปี 2535 ถัดมาไม่มีปี อยู่ดีๆ พ่อก็ถูกเลิกจ้างเพราะวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 เรียกได้ว่าเริ่มด้วยความขลุกขลักมาโดยตลอด

เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน การเมืองได้เข้ามากระทบกับการทำมาหากินอีก นับตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน ไม่เคยมีปีไหนที่การงานราบรื่น ค้าขายคล่องตัว

ผลกระทบเหล่านี้เองที่ทำให้คนวัยมิลเลนเนียลลืมตาอ้าปากได้ช้าเอามากๆ ดังรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า คนไทยมีหนี้เฉลี่ยครัวเรือนละ 177,128 บาท กลุ่มคนที่มีหนี้สินมากที่สุด คือ กลุ่มคนวันทำงาน อายุ 36-37 ปี โดยคิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ ของคนที่มีหนี้สินทั้งหมด

เมื่อค้นหาสาเหตุ ก็พบว่าคนวัยนี้ต้องดูแลครอบครัว ดิ้นรนสร้างฐานะการเงินให้มั่นคง เมื่อการงานได้รับผลกระทบ ไม่ราบรื่น ทำให้คนในวัยนี้ต้องเลือกใช้วิธีขอสินเชื่อ จึงเป็นหนี้จากที่อยู่อาศัย รถยนต์ บัตรเครดิต หากหาที่ไหนไม่ได้จริงๆ ก็ต้องยอมเป็นหนี้นอกระบบ

คนวัยมิลเลนเนียลจึงความเครียดสูง จนถูกเรียกว่าเป็นเจนเนอเรชั่นที่เหงาสุดขั้ว จ่อมจมกับความผิดพลาดซ้ำๆ ตั้งคำถามกับความเป็นไปของโลกและชีวิตเสมอๆ ว่าพวกเขาจะอยู่ต่อไปได้อย่างไร

จริงอยู่ที่ชีวิตต้องดิ้นรนและปรับเปลี่ยน หาช่องทางและโอกาสของตัวเองไปเรื่อยๆ แต่เมื่อการเมืองนำพาให้ทุกอย่างล่มจมเป็นเวลานับทศวรรษ ไม่แปลกที่คนรุ่นใหม่จะลุกขึ้นมาทวงถาม #ถ้าการเมืองดี