สร้างชุมชนด้วยพลังความดี 10 ปี ศูนย์สุขภาพฯ ‘ไทยออยล์’

สร้างชุมชนด้วยพลังความดี 10 ปี ศูนย์สุขภาพฯ ‘ไทยออยล์’

เหนือกว่าผลประกอบการคือความสัมพันธ์กับชุมชน เพราะคุณภาพชีวิตของคนรอบโรงกลั่นคือกระจกสะท้อนจิตสำนึกสาธารณะของกลุ่มไทยออยล์

ครบ 1 ทศวรรษพอดี กับการสร้างรอยยิ้มให้คนในชุมชน ผ่านการจัดตั้ง ศูนย์สุขภาพและการเรียนรู้กลุ่มไทยออยล์เพื่อชุมชน มอบเป็นพื้นที่สาธารณะบนเนื้อที่ 5 ไร่ ให้ชาวบ้านรอบโรงกลั่นไทยออยล์ได้ใช้ประโยชน์ และพัฒนาคุณภาพชีวิตในหลายด้าน ซึ่งภายในศูนย์สุขภาพฯ ประกอบด้วย 5 ส่วนหลัก ได้แก่ ห้องทันตกรรม 5 unit, ห้องสมุด, ลานแอโรบิก, เครื่องออกกำลังกาย/ลู่วิ่ง และหอพระประดิษฐานพระพุทธรูปหลวงพ่อไทยออยล์ (พระพุทธรัตนมงคล สกลประชานารถมุนี)

หัวใจสำคัญของพื้นที่สาธารณะแห่งนี้ ไม่ใช่แค่สำหรับทำกิจกรรมสันทนาการ ทว่ามาพร้อมพันธกิจการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน ซึ่งเป็นหน่วยสังคมย่อยอันจะต่อยอดสู่คุณภาพขององคาพยพใหญ่อย่างประเทศชาติ

  • ไทยออยล์สร้าง ‘รอยยิ้ม’

นับตั้งแต่ปี 2553 ที่ ‘ศูนย์สุขภาพและการเรียนรู้กลุ่มไทยออยล์เพื่อชุมชน’ เกิดขึ้น คือผลผลิตจากอุดมการณ์ของผู้บริหารทุกยุคทุกสมัย ที่ให้ความสำคัญเรื่องชุมชนเป็นอันดับหนึ่ง

วิโรจน์ มีนะพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านกำกับองค์กรและกิจการสัมพันธ์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มไทยออยล์ดำเนินกิจกรรมด้านชุมชนมานานหลายสิบปี จนกระทั่งเกิดเป็นรูปธรรมอย่างที่ประจักษ์ในวันนี้

“การก่อตั้งศูนย์สุขภาพฯ เป็นก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่ของงานชุมชน ไม่มีใครนึกว่าพื้นที่ตรงนี้จะมีอาคารศูนย์สุขภาพเพื่อให้ชุมชนเข้ามาทำกิจกรรม หลังจากก่อตั้งศูนย์แล้ว ก็ต้องบริหารจัดการให้เป็นพื้นที่สำหรับชุมชนได้มาใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง เกิดเป็นโครงการดูแลสุขภาพ มีพื้นที่ออกกำลังกาย รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม”

ซึ่งศูนย์สุขภาพฯ แห่งนี้อยู่บนหลักคิด 4 วิถีด้วยกัน คือ วิถีชุมชน, วิถีพุทธ, วิถีเทคโนโลยี และวิถีสุขภาพ

“ด้วยลักษณะชุมชนที่แบ่งเป็นหมู่บ้าน มีวิถีแตกต่างกัน มีผู้นำแต่ละชุมชนเป็นหัวเรือ ทำให้วิถีชุมชนค่อนข้างชัดเจนและเป็นจุดแข็งที่ต้องคงรักษาไว้ ต่อมาคือวิถีพุทธ จะเห็นว่าชุมชนรอบๆ ไทยออยล์มีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน นี่คือวิถีพุทธที่อยู่ในชุมชนอย่างเหนียวแน่น เราจึงสร้างหอพระขึ้นมาเพื่อเชื่อมโยงวิถีพุทธกับวิถีชุมชนไว้ด้วยกัน

สำหรับวิถีเทคโนโลยี เราใช้ศูนย์สุขภาพฯเป็นศูนย์กลาง นำเทคโนโลยีที่เรามีและเป็นผู้นำด้านนี้มาเกี่ยวโยงในกิจกรรมที่ทำกับชุมชน อีกวิถีคือวิถีสุขภาพ เรามีองค์กรต่างๆ ที่อยู่ใกล้ๆ ไม่ว่าจะโรงพยาบาล สาธารณสุข เรามี อสม. ซึ่งเป็นคนที่ดูแลสุขภาพของชุมชนมาเคลื่อนไหวกิจกรรมต่างๆ ในศูนย์สุขภาพฯ”

หนึ่งในโครงการสร้าง ‘รอยยิ้ม’ อย่างเต็มปาก คือ โครงการโรงเรียนส่งเสริมทันตสุขภาพรอบกลุ่มไทยออยล์ ที่ใส่ใจปัญหาช่องปากของทุกคนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนอายุ 6-12 ปี ให้มีสุขภาพฟันดีปราศจากฟันผุ วิโรจน์ เปิดเผยว่าไทยออยล์ได้ร่วมกับโรงพยาบาลแหลมฉบังให้บริการตรวจสุขภาพช่องปาก อุดฟัน ถอนฟัน เคลือบหลุมร่องฟัน เคลือบฟลูออไรซ์ ขูดหินปูน ฟรี ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2553 จนทำให้เยาวชนที่ร่วมโครงการมีสุขภาพเหงือกและฟันดีมากจากผลสำรวจทั่วประเทศ

“นอกจากกิจกรรมในการดูแลรักษาข้างต้นแล้ว กลุ่มไทยออยล์โดยศูนย์สุขภาพและการเรียนรู้ยังร่วมกับโรงพยาบาลแหลมฉบัง ดำเนินโครงการส่งเสริมทันตสุขภาพ แก่นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาถึงห้องเรียนเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพปากและฟันอย่างถูกต้อง และมีการสนับสนุนเรื่องน้ำประปาในการแปรงฟันของเด็กนักเรียน เช่น ที่โรงเรียนวัดแหลมฉบังอีกด้วย”

159538220329

159538234373

นาถลดา ใจเย็น ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบ้านนา (ฟินวิทยาคม) เล่าให้ฟังว่าหลังจากตั้งใจทำกันมานับ 10 ปี ทั้งให้ความรู้และส่งเสริมให้เด็กๆ ดูแลความสะอาดของปากและฟันอย่างถูกวิธี ได้ผลสัมฤทธิ์เป็นสุขภาพช่องปากของนักเรียนในเกณฑ์ดีมาก

ด้าน ว่าที่ร้อยตรีหญิง ศศิภรณ์ บุญเสท หัวหน้างานอนามัย โรงเรียนวัดบ้านนา (ฟินวิทยาคม) บอกว่านอกจากการดูแลรักษาแล้ว ไทยออยล์ยังอนุเคราะห์เม็ดสีสำหรับย้อมฟันเพื่อตรวจสุขภาพฟันในทุกเดือน

“การย้อมเม็ดสีเพื่อดูว่านักเรียนแปรงฟันสะอาดมากน้อยแค่ไหน ถ้าเด็กยังทำไม่สะอาดเราก็จะให้คำแนะนำแก่เขา แล้วคอยดูพัฒนาการ และในทุกปีไทยออยล์จะมารับนักเรียนไปทำฟัน”

นอกจากดำเนินการเชิงรุกถึงโรงเรียน ที่ศูนย์สุขภาพฯ ยังมีคลินิกทันตกรรมให้บริการแก่เด็กนักเรียนในชุมชนเวียนกันไปทั้งหมด 8 โรงเรียน รวม 6,000 กว่าคน

หนึ่งในนักเรียนฟันสวยอย่าง เนตรนภา ปัญญารส นักเรียนชั้น ป.5/3 โรงเรียนวัดบ้านนา (ฟินวิทยาคม) เล่าว่าจากเมื่อก่อนมีปัญหาฟันผุมาตั้งแต่ ป.1 เพราะชอบกินลูกอมมาก พอโรงเรียนมีกิจกรรมนี้ ก็ช่วยให้มีสุขภาพฟันที่ดีขึ้น ซึ่งกิจกรรมประจำที่ทำมาตั้งแต่ ป.1 คือการแปรงฟันหลังอาหาร โดยครูสอนวิธีแปรงฟันที่ถูกต้อง แนะนำอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพฟัน

“หนูนำวิธีการต่างๆ ที่ได้ทำกิจกรรมไปปรับใช้ในการดูแลฟัน และนำไปบอกต่อให้คนในครอบครัวดูแลสุขภาพฟันด้วย เพราะสุขภาพฟันสำคัญ ถ้าเรามีโรคเกี่ยวกับฟัน เราก็จะปวดและทรมาน แล้วถ้าเราฟันผุเวลายิ้มก็จะดูไม่ดีเท่าไร หนูอยากเป็นตัวอย่างให้คนอื่นหันมาดูแลสุขภาพฟันด้วยค่ะ

เมื่อเราตรวจสุขภาพฟันแล้วพบปัญหาฟันผุ ไทยออยล์ก็จะช่วยดูแล มีคุณหมอและคุณครูช่วยแนะนำเพื่อให้เรามีฟันที่สวย ซึ่งหลังจากที่มีกิจกรรมทันตสุขภาพ ผลการตรวจสุขภาพฟันในแต่ละปีของหนูและเพื่อนก็ดีขึ้นค่ะ”

  • สานฝัน...ความเร็วสูง

นอกจากยิ้มเพราะฟันสวยกันถ้วนหน้า เรื่องความสามารถของเด็กและเยาวชนคือเชื้อเพลิงอย่างดีที่ทำให้ไทยออยล์เดินหน้าทำโครงการส่งเสริมแบบทุ่มสุดตัว

ถึงกีฬา กระโดดเชือก จะเป็นกีฬาที่ดูธรรมดา แต่หากรู้จักกีฬานี้จริงๆ แล้วไม่ธรรมดาเลย เพราะกว่าจะฝึกฝนให้มีทักษะ มีระบบหายใจดีเยี่ยม และมีฝีเท้าความเร็วสูง ต้องใช้ทั้งเวลาและความพยายาม แน่นอนว่าต้องมีแรงสนับสนุนที่ดีด้วย

โครงการสร้างเด็กแหลมฉบัง เป็นแชมป์กระโดดเชือก คืออีกหนึ่งโครงการที่ผลิดอกออกผลเป็นเยาวชนระดับแชมป์ ชลิดา หมื่นผดุง เจ้าหน้าที่บริหารงานชุมชนกลุ่มไทยออยล์ เล่าที่มาของการสนับสนุนว่า จุดเริ่มต้นคือมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ต้องการให้เด็กทั่วประเทศลดความเสี่ยงโรคหัวใจโดยการเล่นกีฬากระโดดเชือกตั้งแต่เด็ก ไทยออยล์จึงสานต่อด้วยการนำกีฬานี้มาสัญจรสาธิตตามโรงเรียนในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง จำนวน 8 แห่ง ตั้งแต่ปี 2554

หลังจากฝึกฝนจนกล้าแกร่ง ไทยออยล์ได้สนับสนุนเข้าสู่สนามแข่งขัน ตั้งแต่ปี 2555 จนกระทั่งในปี 2562 มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยฯ จัดแข่งขันระดับประเทศ โดยทั้ง 8 โรงเรียนรอบโรงกลั่นไทยออยล์ได้เข้าร่วม

หนุ่มน้อยนักกีฬาที่ไปสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียนวัดใหม่เนินพยอมอย่าง อภิชัย ช่างทอง นักเรียนชั้น ป.6/1 เจ้าของสถิติประเภทสปีด 80 กว่าครั้งต่อ 30 วินาที ที่เริ่มเล่นกีฬานี้ตั้งแต่อยู่ชั้น ป.3 เล่าว่าตั้งแต่แข่งมาก็มีได้รางวัลเรื่อยๆ แต่ไม่รู้ว่าเยอะแค่ไหน เพราะจับจดอยู่กับการฝึกซ้อมและการแข่งขันเท่านั้น แต่ถึงกระนั้นก็ยังพบความเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่หันมาเป็นนักกระโดดเชือก

“เมื่อก่อนผมเป็นคนเหนื่อยง่าย เล่นกีฬาอะไรกับเพื่อนแป๊บเดียวก็เหนื่อยแล้ว แต่พอมากระโดดเชือกแล้วผมเหนื่อยยากขึ้น และผมได้เรื่องสมาธิด้วย เราอยู่กับเชือก กระโดดไปเรื่อยๆ ไม่ต้องไปคิดเรื่องอื่น แค่กระโดดไปให้ดีที่สุด”

159538220330

159538219618

ผลจากความตั้งใจทำให้ในปี 2562 ที่ผ่านมา การแข่งขันรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เด็กจากโครงการได้คว้ารางวัลมาครองถึง 7 ถ้วย จาก 24 ถ้วยพระราชทาน ซึ่งในรายการดังกล่าวมีผู้เข้าแข่งขันระดับนานาชาติและจากทั่วประเทศรวมกว่า 1,000 คน

ด้าน จารุณี วันละคำ นักเรียนชั้น ป.6/1 ตัวแทนนักกีฬากระโดดจากโรงเรียนวัดใหม่เนินพยอม บอกว่ากระโดดเชือกเป็นกีฬาที่มีในงานกีฬาสีของโรงเรียนอยู่แล้ว เป็นการแข่งฝึกความว่องไว เป็นกีฬาที่สนุก ส่วนตัวได้เริ่มฝึกกระโดดเชือกตั้งแต่ ป.1 ต่อมาได้เห็นพี่ๆ กระโดดเชือกแล้วไปแข่งได้รางวัล ก็อยากเป็นอย่างนั้นบ้าง เลยขอคุณครูว่าถ้าขึ้น ป.2 แล้วอยากจะไปแข่งกระโดดเชือกเหมือนรุ่นพี่ พอได้มาเริ่มกระโดดเชือกจริงจังก็รู้สึกว่าสนุก และในอนาคตก็อยากเป็นนักกีฬากระโดดเชือกทีมชาติ

“ไทยออยล์สนับสนุนให้เราได้เป็นนักกีฬากระโดดเชือก มีจัดการแข่งชิงทุนการศึกษา และสนับสนุนทั้งอุปกรณ์การเรียนและอุปกรณ์กีฬา และก็สนับสนุนให้เราได้แข่งกระโดดเชือกในระดับที่ใหญ่ขึ้น” จารุณี บอก

  • เติมพลังกาย สร้างพลังใจ

“เราอยู่ด้วยกันมานาน เราจะต้องพัฒนาไปด้วยกันเพื่อขับเคลื่อนชุมชนของเราให้ควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตของพื้นที่แหลมฉบัง” คำกล่าวของสาวิตร จิตรประวัติ ตอกย้ำถึงปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพทั้งกายและใจ แน่นอนว่านี่คือตัวชี้วัดว่าบริษัทผู้ประกอบธุรกิจกลั่นและจำหน่ายน้ำมันปิโตรเลียมรายใหญ่ของไทยกับชุมชนโดยรอบจะอยู่ร่วมกันได้อย่างราบรื่นหรือไม่

โครงการเวชศาสตร์ชุมชน จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลนครแหลมฉบัง ฝ่ายเวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลแหลมฉบัง ชุมชน และกลุ่มไทยออยล์

วิโรจน์ มีนะพันธ์ อธิบายว่า “โครงการนี้เป็นความร่วมมือตามหลัก 3 ประสาน เพื่อลงสำรวจชุมชนเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ และมองปัจจัยอื่นที่มีผลต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม โดยยึดหลักการพัฒนาแบบองค์รวม (Holistic Development) เราเชื่อมั่นว่าการพัฒนาทุกด้านไปพร้อมกัน จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

159609453152

ฟันเฟืองสำคัญชิ้นหนึ่งของระบบสาธารณสุขระดับชุมชนคืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. เพ็ญศรี ทวี อสม.ชุมชนรอบโรงกลั่นไทยออยล์ เทศบาลแหลมฉบัง เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นเส้นทางสายนี้ว่าเกิดจากไทยออยล์จัดอบรมจึงเข้าร่วมกระทั่งทำหน้าที่นี้มาจนปัจจุบัน

“ปีนี้ก็เป็นปีที่ 5 แล้ว การจะเป็น อสม.ได้ก็ต้องไปฝึกอบรมการดูแลคนในชุมชน ทีนี้ไทยออยล์เขาก็นำนักศึกษาพยาบาลมาฝึกงาน อสม.ก็จะพาเดินสำรวจผู้สูงอายุในชุมชน และแนะนำวิธีการดูแลผู้ป่วยให้กับคนในครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีเป็นผู้ป่วยติดเตียง โรคเบาหวาน และโรคความดัน

หลังจากที่พาพยาบาลเดินสำรวจสุขภาพคนในชุมชน เขาก็จะมาสรุปให้อสม.ฟังว่าจากการสำรวจแล้วสุขภาพคนในชุมชนเป็นอย่างไร พร้อมให้ความรู้ในการดูแลผู้ป่วย เพื่อเป็นผู้ช่วยดูแลสุขภาพคนในชุมชนเบื้องต้น พอเรามีความรู้มากขึ้น เราก็ให้คำแนะนำผู้สูงอายุในชุมชนได้ คอยดูแลเรื่องอาหารเพื่อไม่ให้เขามีปัญหาสุขภาพ”

159538219477

159538219518

นอกจากปัจจัยภายในอย่างพฤติกรรมแล้ว ปัจจัยภายนอกก็มีส่วนสำคัญต่อสุขภาพของคนในชุมชน เช่น เรื่องฝุ่นละออง มลภาวะทางเสียง เป็นต้น แต่ไทยออยล์ไม่ละเลยต่อปัญหาที่จะกระทบต่อความสัมพันธ์กับชุมชน

เพ็ญศรี บอกว่า “แน่นอนว่าเรื่องฝุ่นมันมีอยู่แล้ว และเป็นเรื่องธรรมดาที่เราอยู่ใกล้โรงงานแล้วจะต้องมีปัญหาบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่เขาใส่ใจและก็พยายามแก้ปัญหา พยายามรับฟัง เพื่อจะให้อยู่ร่วมกันได้ ไทยออยล์ใส่ใจชุมชนดี ถ้าเขาไม่จัดนักศึกษาพยาบาลเข้ามาตรวจสุขภาพ เราก็อาจไม่รู้เลยว่าคนในชุมชนใครเป็นอะไรบ้าง แล้วต้องดูแลกันอย่างไร”

นอกจากเวชศาสตร์ชุมชนแล้ว สุขภาพที่ดีของชาวบ้านยังสร้างได้ด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่นการออกกำลังกาย และการเต้นแอโรบิกก็เป็นกิจกรรมยอดนิยมของศูนย์สุขภาพฯ แห่งนี้ จันจิรา แก้วแกมทอง สมาชิกชมรมแอโรบิกไทยออยล์ กล่าวว่าตั้งแต่ไทยออยล์มีศูนย์สุขภาพฯ ก็รู้สึกอยากจะมาออกกำลังกายตลอด ด้วยความที่ใกล้บ้าน บรรยากาศดี อากาศดี เป็นศูนย์รวมกิจกรรมที่ครบวงจร

“แต่ก่อนหน้าที่จะมีศูนย์สุขภาพฯ เราก็ไม่ได้ออกกำลังกาย เพราะถ้าจะไปเต้นแอโรบิกต้องไปถึงม.เกษตร ซึ่งไกล และพอได้มาเริ่มออกกำลังกายที่นี่ก็ติดใจ มาเต้นแอโรบิก มาเดิน มาวิ่ง กิจกรรมที่นี่ก็มีหลายอย่าง เช่น กระบี่กระบอง สวดมนต์เย็น ห้องสมุดเสริมความรู้ และมีกิจกรรมให้เด็กๆ ได้เรียนรู้”

สุขภาพกายแข็งแรงแล้ว สุขภาพใจต้องแข็งแกร่งตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าในสังคมไทยที่มีความเป็นสังคมพุทธ วัดยังเป็นที่ศูนย์รวมจิตใจ ทว่าความตั้งใจที่จะอยู่ร่วมกับชุมชนศูนย์สุขภาพฯ จึงมีหอพระ ซึ่งประดิษฐาน ‘พระพุทธรัตนมงคลสกลประชานาถมุนี’ เป็นสถานที่ทำกิจกรรมด้านศาสนาร่วมกับชุมชนโดยรอบ

159538219634

159538219348

159538219312

อาจารย์เสถียร เอกจรัสภิวัฒน์ ประธานชุมชนบ้านอ่าวอุดม อธิบายว่า หอพระเป็นศูนย์กลางการทำศาสนกิจของชุมชนนอกจากวัดละแวกนี้ โดยมีกิจกรรมสวดมนต์เย็นชำระใจ จัดทุกวันโกน (ขึ้น 7 และ 14 ค่ำ) ของทุกเดือน ในช่วงเข้าพรรษาจะจัดกิจกรรมสวดมนต์และนั่งสมาธิทุกวันคู่ ‘วันคู่สู้กิเลส’ จนเกิดเป็นกลุ่มพุทธศาสนิกชนที่เข้มแข็ง

“ผมทำงานกับไทยออยล์มาร่วม 20 ปีแล้ว ความแตกต่างของที่นี่กับที่อื่นคือเจ้าหน้าที่มาอยู่ในพื้นที่เลย ทำงานร่วมกับชุมชนอย่างจริงจัง พบปะพูดคุย ปรึกษาหารือกันกับชุมชนว่ามีอะไรต้องแก้ไขหรือให้ช่วยเหลือ เวลามีอะไรที่เราขอความช่วยเหลือจากเขาก็ไม่เคยปฏิเสธ สนับสนุนทุกอย่างทั้งให้ผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน คนในชุมชน

อย่างช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ไทยออยล์ก็มอบของกินของใช้ให้ชุมชนละประมาณ 200 ชุด ไม่เพียงแต่ 10 ชุมชนรอบโรงกลั่น แต่เขาแจก 23 ชุมชนหมดเลย แถมยังมีตู้ปันสุขอีก เขาจริงใจ ช่วยเหลือจริงๆ มีอะไรก็พูดกันได้”

ความเอาใจใส่และจิตสำนึกสาธารณะตลอด 10 ปีได้ออกดอกผลให้เห็นแล้ว ผ่านศูนย์สุขภาพฯ ตัวแทนของความสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่างไทยออยล์กับชุมชน