เปิดแผนฟื้นฟูอียู ‘7.5 แสนล้านยูโร’

เปิดแผนฟื้นฟูอียู ‘7.5 แสนล้านยูโร’

เปิดแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิดของอียู เมื่อผู้นำสหภาพยุโรปได้อนุมัติชุดมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 7.5 แสนล้านยูโร เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจจากการระบาดของโควิดที่ทำให้เศรษฐกิจถดถอยรุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์

ผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) อนุมัติมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิดได้ หลังจากการเจรจาต่อรองอย่างหนัก เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจจากการระบาดของโควิดที่ทำให้เศรษฐกิจถดถอยรุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์

หลังจากเจรจากันดุเดือด 4 วัน 4 คืน และเนเธอร์แลนด์ขู่จะวอล์กเอาท์และยืนกรานไม่อ่อนข้อ แต่ในที่สุด วานนี้ (21 ก.ค.) ผู้นำอียูก็เห็นชอบชุดมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 7.5 แสนล้านยูโร

เอเอฟพีรายงานว่า มาตรการนี้เป็นจริงได้เพราะการสนับสนุนของเยอรมนีและฝรั่งเศส โดยแผนได้รวมถึงการขอกู้ยืมร่วมครั้งใหญ่สุดของสมาชิกอียู 27 ประเทศที่เยอรมนีค้านมาตลอด

ข้อตกลงนี้ยังนับเป็นชัยชนะสุดพิเศษของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ที่ขึ้นเป็นผู้นำในปี 2560 ให้คำมั่นว่าจะทำให้อียูให้แข็งแกร่ง แต่ยังทำไม่ได้เพราะสมาชิกอื่นๆ ไม่ได้เห็นด้วยมากนักกับโครงการยาวนาน 70 ปีของอียู เขาถึงกับยกย่องว่า นี่คือ “วันประวัติศาสตร์ของยุโรป”

แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจดังกล่าวจะสนับสนุนเงินช่วยเหลือหลายพันล้านยูโร ให้กับประเทศที่โควิด-19 ระบาดหนัก เช่นประเทศหนี้ท่วมอย่างสเปนและอิตาลีที่พยายามวิ่งเต้นอย่างหนักให้ได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนสมาชิก

การเรียกร้องความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของสเปนและอิตาลีต้องเจอกับแรงต้านจากกลุ่มประเทศ “มัธยัธถ์” ได้แก่ประเทศยุโรปเหนือนำโดยเนเธอร์แลนด์ที่เชื่ออย่างยิ่งว่าแพ็คเกจนี้ไม่จำเป็น

กลุ่มประเทศมัธยัธถ์เหล่านี้ไม่สะดวกใจที่จะส่งเงินสนับสนุนกลุ่มประเทศยุโรปใต้ด้วยเพราะมองว่าประเทศทางใต้หละหลวมเรื่องวินัยทางการเงินมากเกินไป

ดังนั้นเพื่อคลายความกังวลที่ประชุมจึงวางเงื่อนไขในการใช้เงิน ถือเป็นยาขมสำหรับรัฐบาลโรมและมาดริด ที่ไม่ต้องการมาตรการรัดเข็มขัดเข้มงวดอย่างที่กรีซ โปรตุเกส หรือไอร์แลนด์เคยเจอมาในช่วงวิกฤติหนี้สิน

รายละเอียดเกี่ยวกับกองทุนฟื้นฟู ประกอบด้วย

1.คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) จะกู้ยืมเงินจากตลาดจำนวนมาก และจากนั้นจะนำไปจัดสรรให้กับบรรดาประเทศที่จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นด้านเศรษฐกิจมากที่สุด โดยผู้นำอียูได้ตกลงที่จะให้อีซี กู้ยืมเงิน 7.5 แสนล้านยูโร ผ่านการออกตราสารหนี้ซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ AAA ซึ่งในเงินจำนวนนี้ จะถูกแบ่งออกมา 3.90 แสนล้านยูโรเพื่อเป็นเงินให้เปล่าแก่ประเทศสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่วนอีก 3.60 แสนล้านยูโรจะนำไปปล่อยกู้ที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ

2.การอนุมัติจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูในครั้งนี้ ช่วยให้อียูมีเงินสดเพียงพอที่จะชำระคืนเงินกู้ได้ภายในปี 2601 โดยผู้นำอียูตกลงกันว่า 

2.1 เยอรมนี สวีเดน และเนเธอร์แลนด์ จะต้องสูญเสียเงินคืนภาษีจากการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับอียูในปัจจุบัน

2.2 ประเทศสมาชิกอียูจะต้องจ่ายภาษีพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ และจะต้องนำส่งภาษีนั้นให้กับกองคลังอียู

2.3 นับตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป บรรดาประเทศสมาชิกที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำกว่ามาตรฐานของอียูจะต้องนำส่งภาษีสินค้าให้กับกองคลังอียู 

2.4 ภาษีการทำธุรกรรมด้านการเงินถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง และอียูจะได้รับรายได้จากการขยายขอบข่ายระบบควบคุมการปล่อยมลภาวะให้ครอบคลุมถึงอุตสาหกรรมเดินเรือทะเล และอุตสาหกรรมการบิน

ทั้งนี้ ภาษีชนิดใหม่ดังกล่าวจะถูกจัดสรรเพื่อนำไปจ่ายคืนเงินกู้วงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร แต่การเก็บภาษีดังกล่าวจะเกิดขึ้นในอีก 38 ปีข้างหน้า

3.การอนุมัติจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูจะนำไปสู่การเบิกจ่ายเงินให้กับประเทศต่างๆ ที่มีแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ การสร้างงาน รวมถึงการเพิ่มความยืดหยุ่นทางสังคมและเศรษฐกิจ นอกจากนี้จะต้องเป็นแผนเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น อีกทั้งต้องสอดคล้องกับคำแนะนำรายปีของคณะกรรมาธิการยุโรป

4.บรรดาประเทศหลักๆ ที่จัดสรรเงินให้กับงบประมาณของอียู เช่น เนเธอร์แลนด์ สวีเดน ออสเตรีย เดนมาร์ก และเยอรมนีนั้น จะได้รับเงินคืนในจำนวนมากที่มากกว่าแต่ก่อน โดยคำนวณจากวงเงินที่ประเทศเหล่านี้จ่ายเงินสนับสนุนให้กับอียูในแต่ละปีตามขนาดของเศรษฐกิจแต่ละประเทศ