‘จ้างวานข้า’ ธุรกิจเพื่อสังคม สานฝัน ‘คนไร้บ้าน’

‘จ้างวานข้า’ ธุรกิจเพื่อสังคม สานฝัน ‘คนไร้บ้าน’

นอกจากความต้องการอาหารเพื่อประทังชีวิต การได้ทำงานหาเงินเลี้ยงตัวเอง คือสิ่งที่ “คนไร้บ้าน” ในสังคมไทยยังคงปรารถนา “จ้างวานข้า” จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะสานฝันให้พวกเขาได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

คนไร้บ้าน เป็นภาพสะท้อนสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในแง่ รวยกระจุก จนกระจายของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี ซึ่งสาเหตุสำคัญในการเข้าสู่สถานะคนไร้บ้าน นั่นคือความยากจน ความไม่มั่นคงทางรายได้ และการตกอยู่ในภาวะไร้งานทำ รวมถึงการหลุดจากระบบสวัสดิการใดๆ ในฐานะคนว่างงาน และเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพถ้วนหน้า

เมื่อวิกฤติทั้งเศรษฐกิจและโรคระบาดมาเยือน เกิดภาวะว่างงานเพิ่มขึ้นและเกิดอย่างยาวนาน ทำให้มีคนจำนวนหนึ่งถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เนื่องจากประกันการว่างงานที่ไม่ครอบคลุม และส่วนหนึ่งไม่สามารถเช่าหรือครอบครองที่อยู่อาศัยได้ จึงเข้าสู่ ‘ภาวะไร้บ้าน

นำไปสู่การพัฒนาแนวทางการช่วยเหลือคนไร้บ้าน ในรูปแบบที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตเขาเหล่านั้น ผ่านมุมมองของหนึ่งในองค์กรที่ทำทุกงานเพื่อแก้ปัญหาสังคม กับโครงการดีๆ จ้างงาน ในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม

159535194751

  • คนไร้บ้าน ในสถานการณ์โควิด

ข้อมูลการประมาณการประชากรคนไร้บ้าน ภายใต้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ของผศ.ดร.พีระ ตั้งธรรมรักษ์ และ ณัฎฐ์ศุภณ ดำชื่น น่าสนใจว่าในช่วงโควิด-19 สถิติของ คนไร้บ้านหน้าใหม่ ได้เพิ่มขึ้นถึง 30 เปอร์เซ็นต์ หรือราวๆ 1,484 คน จากการใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ในการพยากรณ์โอกาสการเป็นคนไร้บ้านในสถานการณ์โควิด-19 โดยใช้ฐานข้อมูลคนไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่รายงานว่ามีประมาณ 1,307 คน และการคาดการณ์ตัวเลขถดถอยทางเศรษฐกิจที่มีการประเมินว่าจะอยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณเตือนทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้การช่วยเหลือผู้คนที่เสี่ยงเป็นคนไร้บ้านก่อนสายเกินไป

ทั้งนี้ มูลนิธิกระจกเงาเองก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่ทำทุกงานในการร่วมแก้ปัญหาสังคม โดยก่อนหน้านี้ หลายคนอาจคุ้นหน้าคุ้นตากับมูลนิธิกระจกเงา ในการตามหาคนหาย แต่หลังจากเกิดวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ประชาชนจำนวนมากพากันตกงาน ขาดรายได้ ไร้ทางออก และร้ายแรงถึงขั้นคิดจบชีวิตลงเพราะทนพิษเศรษฐกิจจากโรคระบาดนี้ไม่ไหว

159535194741

สิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา และหัวเรือใหญ่ของโครงการดีๆ อย่าง จ้างวานข้าเล่าว่า ความอดอยากคือปัญหาใหญ่ช่วงแรกของวิกฤติโควิด-19 เมื่อไม่มีอาหารก็ไม่สามารถมีศักยภาพในการทำงานหรือใช้ชีวิตได้ ดังนั้นขั้นแรกจึงต้องทำให้คนอยู่รอดได้ด้วยปัจจัยอาหารก่อน จึงเกิดเป็นโครงการ ‘กล่องแบ่งปัน ซึ่งในกล่องนั้นประกอบไปด้วยอาหารและของใช้จำเป็นตามความเหมาะสม เพื่อช่วยให้คนไร้บ้านมีเสบียงในการฝ่าฟันวิกฤติไปได้

ทว่าคนไร้บ้านแต่ละคนมีความต้องการแตกต่างกัน ในบรรดาปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต 4 ประการ บางคนต้องการอาหารเป็นอันดับแรก บางคนต้องการเพียงแค่ที่อาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า หรือบางคนต้องการมีงานทำ

คนไร้บ้านจะประสบปัญหาในเรื่องของคุณภาพชีวิตหลายๆ ด้าน สิ่งหนึ่งก็คือเรื่องของรายได้ การไม่มีงานทำ พอไม่มีงานทำก็ไม่มีรายได้ เมื่อไม่มีรายได้ก็ไม่สามารถหาซื้อข้าวปลาอาหารเลี้ยงตัวเองได้ หรือแม้แต่ซื้อยารักษาเมื่อยามเจ็บป่วย และการจะเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลก็เป็นเรื่องที่ยาก นี่คือปัญหาหนึ่งที่สิทธิพลมองเห็น

159535194728

สิทธิพล ชูประจง

เช่นเดียวกับ เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข ประธานมูลนิธิกระจกเงา ที่พูดในเวทีสาธารณะ ‘จากมือถึงมือ : การแบ่งปันทางสังคมสู่นโยบายการจ้างงานคนไร้บ้านถึงความต้องการของคนไร้บ้านไว้ว่า พวกเขามีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน เนื่องจากมีปูมหลังที่ต่างกัน และปมปัญหาที่หลากหลาย บางคนต้องการเพียงอาหารประทังชีวิต บางคนต้องได้รับการรักษา หรือมีที่พักอาศัยถาวรเท่านั้น ขณะที่บางคนต้องการทำงาน เพราะเขารู้สึกว่านั้นคือ คุณค่าของชีวิตดังนั้นการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านจึงไม่สามารถใช้วิธีการเดียวได้

"ชีวิตของคน ๆ หนึ่งหากเคยทำงานมาแล้วตกงาน จะรู้สึกลดทอนคุณค่าในชีวิต มีตัวอย่างของแม่บ้านโรงแรมที่ตกงานจากผลกระทบโควิด-19 ขอเข้ามาทำอะไรก็ได้ในมูลนิธิฯ เพราะเห็นว่างานคือคุณค่าของการดำรงอยู่" ประธานมูลนิธิกระจกเงา กล่าว

หลายคนอาจสงสัยว่า คนไร้บ้าน มีงานทำหรือไม่และทำงานอะไร สิทธิพลตอบคำถามโดยอ้างอิงจากงานวิจัยที่ว่า คนไร้บ้านในประเทศไทยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ มีอาชีพรับจ้างอิสระ แต่เป็นงานที่ไม่ต่อเนื่องและรายได้ไม่มากพอที่จะมีบ้านเป็นของตัวเองได้หรือแม้แต่จ่ายค่าเช่าบ้านในแต่ละเดือน โดยส่วนใหญ่เก็บของเก่าขาย ขายของริมทาง รับจ้างโบกธงริมถนนตามโครงการของหมู่บ้าน หรือว่างานรับพระเครื่อง ซึ่งว่าจ้างโดยเซียนพระ คอยไปรับพระที่ปลูกเสกจากเกจิอาจารย์ดังทั่งประเทศ รายได้ต่อครั้งราวๆ 400 บาท

ทว่าในสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้สถานประกอบการต่างๆ ปิดทั้งชั่วคราวและถาวร การจัดกิจกรรมต่างๆ ก็ถูกพับเก็บ พวกเขาจึงกลายเป็นคนไร้บ้านที่ตกงานในวิกฤตินี้ เนื่องจากไม่ไม่สามารถไปทำงานได้ เมื่อไม่มีรายได้ก็เท่ากับว่าไม่มีเงินซื้ออาหารหล่อเลี้ยงชีวิตในแต่ละวันได้ โรงทานหรือสภาสังคมสงเคราะห์จึงเป็นที่พึ่งที่พอจะฝากท้องให้อิ่มได้ไปหนึ่งมื้อ

159535215471

  • จ้างงาน คนไร้บ้าน

เมื่อราวๆ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา บริเวณสกายวอร์คของสถานีรถไฟฟ้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เต็มไปด้วยผู้คนที่นอกจากสัญจรไปมาตามปกติแล้ว ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่กำลังขัดๆ ถูๆ ราวจับของสกายวอร์คอย่างขะมักเขม้น พวกเขาคือ กลุ่มคนไร้บ้านและคนตกงานกว่า 40 ชีวิตที่กำลังทำงานที่ได้รับจ้างวานให้ทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นภาพไม่ชินตานักที่จะได้เห็นการรวมตัวกันของคนไร้บ้านเช่นนี้ และนี่ก็คือลักษณะงานของการจ้างวานข้าที่ฉายภาพจากคำบอกเล่าของสิทธิพลได้ดีทีเดียว

จ้างวานข้า หากฟังเผินๆ คงจะเป็นประโยคว่าจ้างของงานด้านมืดชนิดหนึ่ง ทว่าเมื่อคำว่า ‘ข้า ที่ใช้ไม่ได้มีความหมายถึงการทำให้ชีวิตของคนๆ หนึ่งไร้ลมหายใจ แต่จ้างวานข้าในที่นี้ คือจุดเริ่มต้นที่จะสานฝันให้คนไร้บ้านได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

จากการทำงานกับคนไร้บ้าน สิทธิพลเล่าว่า คนไร้บ้านส่วนใหญ่มีความต้องการที่จะทำงานอยู่พอสมควร เพราะคนไร้บ้านหลายๆ คนมองว่าการได้ทำงานเท่ากับการมีเงิน และเงินคือต้นทุนที่จะขยับฐานะจากคนไร้บ้านกลายเป็นคนมีบ้านได้ นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงพยายามเซ็ตระบบบางอย่างเพื่อที่จะรองรับให้คนไร้บ้านได้ทำงานจริงๆ กลายเป็นรูปแบบของโครงการจ้างวานข้านั้นเอง

159535194894

เราพยายามที่จะมองว่าคนไร้บ้านเขาต้องการอะไรบ้าง แล้วความต้องการนั้นจะนำไปสู่ในเรื่องของการแก้ปัญหาคุณภาพชีวิต ฐานะทางเศรษฐกิจได้อย่างไรบ้าง ซึ่งงานก็เป็นเรื่องหนึ่งที่พวกเขาต้องการ แต่ด้วยข้อจำกัดของอายุ สภาพร่างกาย และทักษะอาชีพ จึงไม่สามารถเข้าถึงงานที่อยู่ในระบบจ้างงานปกติได้

สิทธิพลอธิบายเพิ่มเติมว่า งานทำความสะอาด เป็นลักษณะงานที่สอดคล้องกับบริบทของคนไร้บ้านมากที่สุด เนื่องจากคนไร้บ้านส่วนมากเป็นวัยทำงานที่ค่อนไปสู่วัยผู้สูงอายุ ดังนั้นงานทำความสะอาดที่ไม่หนักไม่เบาเกินไป จึงเป็นงานที่เหมาะสมกับทักษะอาชีพที่ส่วนมากเป็นแรงงานรับจ้างมาตลอดชีวิต และอาจจะมีทักษะด้านอาชีพอื่นๆ น้อย

หากสงสัยว่ารายได้จะมาจากไหน? สิทธิพลตอบว่า มาจากสังคมที่เห็นประโยชน์ของกิจกรรมนี้ เห็นว่าคนไร้บ้านควรมีงานทำ มีรายได้และทำการสนับสนุนด้วยเงินทุนตามกำลัง โดยคนทำงานค่าแรงจากการจ้างวานข้าแต่ละครั้งอยู่ที่ 400 บาท และจะมีงานเริ่มต้นจากอาทิตย์ละวัน ซึ่งขึ้นอยู่กับการว่าจ้างที่เพิ่มขึ้นด้วย

งานนี้ก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสของเขา ซึ่งเราก็พยายามเปิดรับทั้งหมด แต่ทั้งนี้ก็จำเป็นต้องได้รับการสนันสนุนจากหลายๆ ภาคส่วนด้วย ส่วนปัญหาที่ว่าจะเป็นการไปทับไลน์คนทำความสะอาดที่เขาทำประจำอยู่หรือไม่นั้นไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร เนื่องจากว่าได้ทำงานร่วมกับคนดูแลพื้นที่สาธารณะบริเวณนี้ ดังนั้นทีมพนักงานทำความสะอาดเดิมไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครมาแย่งงาน และเขามองว่าเบาแรงด้วยซ้ำ โดยทำงานร่วมกับสำนักงานเขตในแต่ละพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ

159535194842

  • ค่าของคน อยู่ที่ผลของงาน

คนเราถ้าไม่ทำงาน ก็เหมือนไม่มีประโยชน์ ถ้าเราไม่ทำงานเงินที่ใช้ทุกวันๆ ก็จะหมด แล้วยิ่งตอนนี้คนจนก็ยิ่งจน คนรวยยังลงมาจนก็มี แต่เราไม่ท้อนะ เพราะยังมีคนที่เขาลำบากกว่าเราอีกเยอะ และทุกคนก็โดนผลกระทบกันหมด เสียงจากหญิงวัยกลางคนรายหนึ่งที่กลายเป็นคนตกงานจากสถานการณ์โควิด-19 เล่าให้ฟังขณะที่มือยังคงขัดๆ ถูๆ ราวจับันไดอย่างตั้งใจ

เธอเล่าต่อว่าเมื่อก่อนก็เป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง แต่พอเจอวิกฤตินี้ก็ได้รับผลกระทบเต็มๆ เพราะกลายเป็นคนตกงานโดยปริยาย เมื่อไม่ได้ทำงานอย่างเคย เงินที่มีก็เริ่มร่อยหรอลงไปทุกที หลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “เงินจะซื้อข้าวกินยังไม่มีเลย” สะท้อนภาพที่คนไร้บ้านและคนตกงานหลายคนต้องเผชิญ นอกจากค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน ปัญหาใหญ่ที่ต้องเผชิญคืออาหารและของใช้ต่างๆ ที่ต้องใช้เงินในการแลกมา กลายเรื่องยากลำบากในชีวิตของคนๆ หนึ่งไปแล้ว  

พอดีช่วงนี้ตกงาน ก็เลยไปทานข้าวที่สภาสังคมสงเคราะห์ ซึ่งเขาจะมีแจกข้าวทุกวันอังคารกับวันพฤหัสบดี เป็นครัวพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่10 แล้วก็เห็นว่ามูลนิธิกระจกเงาเขาประชาสัมพันธ์ว่าจะมีจ้างงานคนไร้บ้าน คนตกงาน แต่ส่วนมากเขาจะเอาคนไร้บ้าน ที่นี้คนไร้บ้านบางคนเขาก็ไม่ได้อยากทำ เราคนที่เคยทำงานมาก่อนแน่นอนว่าอยากทำมาก เพราะนอกจากทำให้เรามีงานทำ มีเงินใช้ เรายังได้ออกกำลังกายอีกด้วย ดีกว่าอยู่เฉยๆ แล้วเงินที่ต้องใช้จ่ายทุกวันๆ ก็ค่อยหมดไป

159535238482

ทั้งนี้ สิทธิพลทิ้งท้ายว่า หากมีบริษัทเอกชน หน่วยงานใด หรือใครที่มีพื้นที่อยากจ้างวานข้า (คนไร้บ้าน) ไปทำความสะอาด อย่างเช่น ตลาด ห้างสรรพสินค้า หรืองานรับจ้างต่างๆ ก็สามารถติดต่อมายังมูลนิธิฯ ได้ เพราะทุกการสนับสนุนจากสังคมสู่กลุ่มคนเปราะบาง คือค่าแรงต่อลมหายใจให้กับพวกเขา คนไร้บ้าน ที่อยากมีงานทำ

แม้ทุกคนในสังคมจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 แต่ในบรรดาคนนับล้าน ยังมีคนที่พร้อมจะเป็นผู้ให้ หรือแม้แต่คนที่เคยได้รับและพอมีกำลังจะเป็นผู้ให้ในวิกฤตินี้