CP ขีดเส้น 24 ต.ค.2564 บริหาร'แอร์พอร์ต เรลลิงค์'

CP ขีดเส้น 24 ต.ค.2564 บริหาร'แอร์พอร์ต เรลลิงค์'

“ซีพี” เตรียมบริหาร “แอร์พอร์ต เรล ลิงค์” 24 ต.ค.64 เริ่มลงพื้นที่รีโนเวทสถานี 16 เดือนเสร็จ จ่อเพิ่มขบวนรถไฟฟ้า ตั้งเป้าเดินรถไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ม.ค.69 เผยเริ่มงานรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคแล้ว

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะทำงานเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่รถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ว่า บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จํากัด (กลุ่มซีพี) ซึ่งเป็นผู้ชนะการประกวดราคาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการเข้าบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ โดยที่ผ่านมาเข้าพื้นที่เพื่อตรวจสอบสถานะด้านเทคนิค และเตรียมความพร้อมในการเดินรถ

“ตอนนี้เอกชนได้เข้าไปตรวจสอบเทคนิค และความพร้อมเดินรถใกล้เสร็จแล้ว เหลือปรับปรุงบริการแก่ลูกค้า เช่น รีโนเวทสถานี ติดไฟ ติดแอร์ และพัฒนาลานจอดรถยนต์ เพื่อสร้างจุดเดินทางเชื่อมต่อ ซึ่งส่วนนี้ทางเอกชนขอเวลาดำเนินการ 16 เดือน และตั้งเป้าว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย.ปีหน้า ก่อนเปิดให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ โฉมใหม่ในเดือน ต.ค.2564”นายชัยวัฒน์ กล่าว

อย่างไรก็ดี การที่เอกชนจะเข้ามาเดินรถแอร์พอร์ต เรล ลิงค์นั้น มีเงื่อนไขกำหนดในสัญญาด้วยว่า เอกชนจะต้องจ่ายเงินค่าโอนสิทธิรับบริหารให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ก่อนเข้าบริหารเดินรถ

นอกจากนี้ เอกชนยังกำหนดกรอบเวลาเปิดให้บริการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน เบื้องต้นในเดือน ม.ค.2569 พร้อมทั้งให้ข้อมูลถึงแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยรอบสถานี (TOD) โดยระบุว่าปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำแผนพัฒนาในส่วนของสถานีช่วงสุวรรณภูมิ–อู่ตะเภา

“ซีพี”เล็งเพิ่มขบวนรถไฟฟ้า

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันการทำงานร่วมกับเอกชนที่เตรียมความพร้อมเข้ามารับบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ โดยมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างภาคเอกชน, บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท., ร.ฟ.ท. และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ซึ่งหน้าที่หลักของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัดเป็นเสมือนพี่เลี้ยงในการให้ข้อมูลบริหารงาน

อย่างไรก็ดี จากการทำงานร่วมกันกับเอกชนในเบื้องต้น ทราบว่าเอกชนมีกำหนดจะเข้ามารับบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ในวันที่ 24 ต.ค.2564 ซึ่งเงื่อนไขข้อกำหนดในสัญญา เอกชนจะต้องจ่ายค่าโอนสิทธิบริหาร วงเงินประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาทให้ ร.ฟ.ท.ก่อนเข้ามารับบริหารเดินรถ

นอกจากนี้ ยังทราบว่าทางเอกชนมีแผนที่จะปรับปรุงตัวสถานี การให้บริการผู้โดยสารให้มีเทคโนโลยีรองรับ เพิ่มความสะดวกสบาย ประกอบกับมีแผนจะเพิ่มประสิทธิภาพของการเดินรถให้มากขึ้น ซึ่งมีแนวทางศึกษาในส่วนของการเพิ่มจำนวนขบวนรถโดยสารให้บริการ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

ส่วนขบวนรถไฟฟ้าที่ปัจจุบันบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.นำมาให้บริการผู้โดยสาร มีจำนวน 9 ขบวน เบื้องต้นจะโอนขบวนรถดังกล่าวให้เอกชนนำไปบริหารจัดการ โดยตามแผนทางเอกชนจะปรับปรุงขบวนรถใหม่ ให้พร้อมต่อการให้บริการผู้โดยสาร อีกทั้งจะมีการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณแบบใหม่ เพื่อให้รองรับระบบรถไฟความเร็วสูงที่จะเปิดให้บริการในอนาคต

“ตอนนี้มีการทำงานร่วมกันกับเอกชนอยู่ตลอด ตัวขบวนรถไฟฟ้าทางเอกชนก็จะนำไปให้บริการต่อ จะเป็นการโอนทรัพย์สินให้เอกชน เมื่อมีการชำระสิทธิบริหารให้การรถไฟฯ ส่วนระบบอาณัตสัญญาณปัจจุบันเราใช้ระบบของซีเมนส์ ก็ทราบว่าทางเอกชนจะนำระบบใหม่มาติดตั้งที่รถไฟฟ้าทั้ง 9 ขบวน เพื่อให้ใช้งานร่วมกับระบบรถไฟความเร็วสูงได้”นายสุเทพ กล่าว

เริ่มส่งมอบพื้นที่ให้ซีพี ก.พ.64

นายชัยวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ความคืบหน้าของงานก่อสร้างไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ปัจจุบันปัญหาการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคดำเนินการแล้ว มีหน่วยงานเจ้าของระบบสาธารณูปโภคเข้าพื้นที่รื้อย้ายสาธารณูปโภค อาทิ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เข้าพื้นที่รื้อย้ายท่อก๊าซในช่วงพญาไท–ดอนเมือง รวมถึงการประปานครหลวง (กปน.) ได้รับอนุญาตให้เข้าพื้นที่รื้อย้ายท่อประปา และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เข้าพื้นที่รื้อย้ายสายไฟ

นอกจากนี้ ยังมีความคืบหน้า 4 ส่วนงานสำคัญ คือ

1.เวนคืนที่ดิน โดยขณะนี้ ร.ฟ.ท.ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำหนดราคาค่าทดแทน คาดว่าภายใน พ.ย.2563 จะลงนามในสัญญาซื้อขาย เวนคืนและจ่ายเงินค่าเวนคืนได้ ส่วนแปลงที่ยังมีปัญหาเจ้าของที่ฟ้องร้องคาดว่าจะเจรจาให้แล้วเสร็จภายใน ส.ค.2564

2.พื้นที่บุกรุก ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.ได้เร่งผลักดันผู้บุกรุกออกจากพื้นที่แล้ว โดยล่าสุดได้ฟ้องร้องดำเนินคดีจำนวน 562 ราย

3.พื้นที่สัญญาเช่าเดิม ร.ฟ.ท. ได้เร่งยกเลิกสัญญาเช่าที่ดินเดิมรวม 213 ราย แบ่งเป็น ช่วงดอนเมือง-พญาไทย 100 ราย คาดว่าจะยกเลิกสัญญาแล้วเสร็จทั้งหมด ธ.ค.นี้ และช่วง ลาดกระบัง-อู่ตะเภา จำนวน 113 ราย คาดว่าจะยกเลิกสัญญาแล้วเสร็จทั้งหมด ต.ค.2563

4.การขยายเขตทางเพิ่มเติม เพราะต้องเปลี่ยนแนวเส้นทาง 6 จุด ซึ่งมีผู้ได้รับผลกระทบ 48 ราย รวม 63 แปลง ขณะนี้เร่งสำรวจและรับความเห็นประชาชนที่ถูกเวนคืนที่ดินและที่อยู่ในพื้นที่ข้างเคียงเพิ่ม คาดว่าจะเสร็จ ก.ค.นี้ หลังจากนั้นจะเสนอให้ กพอ.พิจารณา ซึ่งต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย

“การหารือครั้งนี้ผมสบายใจมากเพราะงานแต่ละส่วนคืบหน้าตามกำหนด และการรถไฟฯ มั่นใจว่าจะส่งมอบพื้นที่ส่วนแรกช่วง สุวรรณภูมิ–อู่ตะเภา ให้เอกชนเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ 100% ภายใน ก.พ.2564 ตามแผน และอีกส่วน คือ ช่วงสุวรรณภูมิ–อู่ตะเภา จะส่งมอบพื้นที่ภายใน 2 ปี นับจากวันลงนามสัญญา”นายชัยวัฒน์ กล่าว