สนข.ดันแผนขนส่ง EEC นำร่องรถเมล์ไฟฟ้า 3 จังหวัด

สนข.ดันแผนขนส่ง EEC นำร่องรถเมล์ไฟฟ้า 3 จังหวัด

EV bus และ EV minibus ถูกเลือกขึ้นมาเป็นโครงการนำร่องของการพัฒนาตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนใน 3 จังหวัด ของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

EV bus และ EV minibus ถูกเลือกขึ้นมาเป็นโครงการนำร่องของการพัฒนาตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนใน 3 จังหวัด ของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งรูปแบบการลงทุนจะเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนพัฒนา โดยคาดว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมภายในปี 2566

รายงานข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สนข.ได้จัดรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะกลุ่มจังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เพื่อรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และกำลังรวบรวมความคิดเห็นหลังจากมีการนำเสนอผลการศึกษาขั้นสุดท้ายในการจัดทำแผนแม่บทดังกล่าว

สำหรับผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ รูปแบบการลงทุน และวิธีการนำไปสู่การปฏิบัติ พบว่าภาพรวมการเชื่อมโยงพื้นที่เมืองด้วยระบบขนส่งสาธารณะจะจัดทำเป็น 3 ระบบ คือ 

1.ระบบขนส่งสาธารณะหลัก เชื่อมโยงแหล่งกิจกรรมสำคัญระหว่างภูมิภาค และโครงสร้างพื้นฐาน 

2.ระบบขนส่งสาธารณะรอง เชื่อมโยงระบบหลักและแหล่งกิจกรรมสำคัญระหว่างเมืองในเขตเมือง 

3.ระบบขนส่งสาธารณะเสริม เชื่อมโยงแหล่งกิจกรรมย่อยในเขตเมืองหรือพื้นที่อยู่อาศัยเข้าสู่ระบบขนส่งสาธารณะสายรอง

องค์ประกอบของระบบขนส่งสาธารณะ จะประกอบด้วย โครงข่ายเส้นทางและตัวระบบ สาธารณูปโภคสนับสนุน ระบบตั๋วและค่าโดยสาร สิ่งแวดล้อมและการยอมรับของประชาชน การลงทุนและผลตอบแทน รวมถึงการบริหารจัดการ ซึ่งต้องสะดวกเข้าถึงง่าย ปลอดภัย พัฒนาการเชื่อมต่อระหว่างรูปแบบการขนส่ง ส่งเสริมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

159533035453

แผนแม่บทดังกล่าวจะพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ 3 รูปแบบ คือ รถโดยสารไฟฟ้า (EV bus) รถโดยสารขนาดเล็ก (EV minibus) และรถไฟฟ้าล้อยาง (Tram bus) แนวเส้นทางศึกษา 3 จังหวัด รวม 18 เส้นทาง จะเพิ่มสัดส่วนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะจาก 7% เป็น 14% ของการเดินทาง

รวมทั้งลดอุบัติเหตุได้ 30% ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 125 ล้านลิตรต่อปี ประหยัด 2,500 ล้านบาทต่อปี คำนวณจากราคาน้ำมันลิตรละ 20 บาท และจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจก และ PM10 ส่วนความคุ้มค่าการลงทุนพบว่าระบบขนส่งในจังหวัดฉะเชิงเทรา มี EIRR 19.1% ส่วนชลบุรี 21.0% และระยอง 20.9%

สนข.ประเมินงบลงทุนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะรวม 14,400 ล้านบาท แบ่งเป็นช่วงก่อสร้างที่มีค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ค่าก่อสร้างงานโยธา ค่าจัดซื้อขบวนรถโดยสาร และค่างานระบบ 7,600 ล้านบาท

ระบบขนส่งฉะเชิงเทรา จะใช้งบ 1,207 ล้านบาท ชลบุรี 2,832 ล้านบาท และระยอง 3,543 ล้านบาท รวมทั้งช่วงเปิดให้บริการจะมีค่าดำเนินงาน 3,900 ล้านบาท และค่าบำรุงรักษา 2,900 ล้านบาท

สนข.ประเมินว่าจะเริ่มลงทุนในส่วนของค่าก่อสร้างงานโยธาและค่างานระบบ รวมไปถึงค่าจัดซื้อขบวนรถโดยสาร ในช่วงปี 2566 หลังจากนั้นในปี 2567 เป็นต้นไปจะเริ่มเปิดให้บริการ ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ ก่อนจะลงทุนค่าจัดซื้อขบวนรถโดยสาร อีกครั้งในช่วงปี 2576 ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดอยู่ในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) โดยรัฐร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้แก่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และบริษัทเอกชน ตามความเหมาะสม

ทั้งนี้ ในส่วนของรูปแบบระบบขนส่งสาธารณะ แบ่งเป็น ช่องทางเฉพาะ (Exclusive Lane) และช่องทางร่วมกับรถทั่วไป (Shared Lane) โดยมีแนวเส้นทางระบบขนส่งสาธารณะที่เสนอให้พัฒนา ดังนี้

แนวเส้นทางระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดฉะเชิงเทรา 5 เส้นทาง ประกอบด้วย แนวเส้นทางที่ 1 HSR ฉะเชิงเทรา-โรงเรียนเบญจมฯ –ตะวันออกคอมเพล็กซ์ 

แนวเส้นทางที่ 2 HSR ฉะเชิงเทรา-วัดโสธรฯ 

แนวเส้นทางที่ 3 รอบเมืองฉะเชิงเทรา 

แนวเส้นทางที่ 4 HSR ฉะเชิงเทรา-บางคล้า 

แนวเส้นทางที่ 5 HSR ฉะเชิงเทรา-บ้านโพธิ์-บางปะกง 

สนข.ได้คัดเลือกแนวเส้นทางที่ 1 HSR ฉะเชิงเทรา-โรงเรียนเบญจมฯ–ตะวันออกคอมเพล็กซ์ เป็นโครงการนำร่อง ระยะทาง 8 กิโลเมตร ในรูปแบบ EV Bus ค่าโดยสาร 10 บาท ตลอดสาย ผู้โดยสารปี 2567 อยู่ที่ 2,700 คนต่อวัน

แนวเส้นทางระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดชลบุรี 7 เส้นทาง ประกอบด้วย แนวเส้นทางที่ 1 HSR ชลบุรี-เมืองชลบุรี-นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ชลบุรี 

แนวเส้นทางที่ 2 HSR ชลบุรี-บางแสน/ตัดช่วง HSR ชลบุรี-หนองมน 

แนวเส้นทางที่ 3 HSR ชลบุรี-บ้านบึง-EECi 

แนวเส้นทางที่ 4 HSR ศรีราชา-แหลมฉบัง 

แนวเส้นทางที่ 5 HSR ศรีราชา-EECd 

แนวเส้นทางที่ 6 เมืองศรีราชา-HSR ศรีราชา-นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ระยอง (ปลวกแดง) 

แนวเส้นทางที่ 7 HSR พัทยา-แหลมบาลีฮาย

แนวเส้นทางที่ 8 HSR พัทยา-สวนนงนุช 

สนข.ได้คัดเลือกแนวเส้นทางที่ 6 เมืองศรีราชา-HSR ศรีราชา-นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ระยอง (ปลวกแดง) เป็นโครงการนำร่อง ระยะทาง 42 กิโลเมตร ในรูปแบบ EV Bus ค่าโดยสาร 10-45 บาท (กิโลเมตรละ 1 บาท) ผู้โดยสารปี 2567 อยู่ที่ 1,900 คนต่อวัน

แนวเส้นทางระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดระยอง 6 เส้นทาง ประกอบด้วย แนวเส้นทางที่ 1 นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด-นิคมอุตสาหกรรม IRPC 

แนวเส้นทางที่ 2 แหลมเจริญ-สามแยกขนส่ง 

แนวเส้นทางที่ 3 HSR อู่ตะเภา-ระยอง-บ้านเพ 

แนวเส้นทางที่ 4 ระยอง-บ้านค่าย-EECi 

แนวเส้นทางที่ 5 นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด-นิคมพัฒนา-ปลวกแดง 

แนวเส้นทางที่ 6 HSR อู่ตะเภา-ระยอง-EECi

สนข.ได้คัดเลือกแนวเส้นทางที่ 1 นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด-นิคมอุตสาหกรรม IRPC เป็นโครงการนำร่องระยะทาง 22 กิโลเมตร ในรูปแบบ EV Minibus ค่าโดยสาร 10-45 บาท (กม.ละ 1 บาท) ผู้โดยสารปี 2567 อยู่ที่ 1,200 คนต่อวัน