EU ไฟเขียวตั้ง 'กองทุนฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด' 7.5 แสนล้านยูโร

EU ไฟเขียวตั้ง 'กองทุนฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด' 7.5 แสนล้านยูโร

ผู้นำชาติ 27 ชาติอียู บรรลุความสำเร็จ เจรจาจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคโควิด-19 มูลค่า 7.5 แสนล้านยูโร หลังเจรจามาราธอนต่อเนื่อง 5 วัน

ผู้นำจาก 27 ชาติของสหภาพยุโรป (อียู) ได้บรรลุข้อตกลงในการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูวงเงิน 7.5 แสนล้านยูโรแล้ว เพื่อช่วยเยียวยาเศรษฐกิจอียู จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

การประชุมผู้นำอียู ครั้งนี้เริ่มต้นตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา จนกระทั่งทุกฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงได้ในช่วงเช้าวันนี้ โดยที่ประชุมมีมติอนุมัติเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจอียู ในวงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร ผ่านการระดมทุนด้วยการออกตราสารหนี้ เพื่อรับมือกับเศรษฐกิจที่ทรุดตัวลงหนักสุดนับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

นายชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของอียูเป็นผู้ประกาศความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงดังกล่าว โดยเขาทวีตข้อความสั้นๆว่า “Deal! ” 

ขณะที่นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน กรรมาธิการอีซี ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของอียู ได้ทวีตข้อความเป็นเชิงส่งสัญญาณในช่วงเช้าวันนี้ว่า “หลังจากที่การเจรจาอันเข้มข้นผ่านพ้นไปเป็นเวลาหลายวัน ก็ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการประนีประนอมกันอย่างสร้างสรรค์ พลเมืองยุโรปกำลังรอคอยแผนฟื้นฟูฉบับนี้ และทั่วโลกกำลังจับตา”

สำหรับสาเหตุที่ทำให้การประชุมผู้นำอียู ยืดเยื้อจนเข้าสู่วันที่ 5 ในวันนี้ เป็นเพราะสมาชิกอียู ยังคงมีความขัดแย้งกันเกี่ยวกับการกำหนดเงื่อนไขในการรับความช่วยเหลือจากกองทุนดังกล่าว รวมถึงการจัดสรรเงินช่วยเหลือ และการกำกับดูแลการใช้เงิน

ขณะที่เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน และออสเตรีย ต่างเรียกร้องให้มีการลดวงเงินการให้ความช่วยเหลือในรูปเงินให้เปล่า และให้ประเทศที่ได้รับเงินกู้จะต้องให้สัญญาเกี่ยวกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ

ส่วนเม็ดเงินในกองทุนฟื้นฟูดังกล่าวประกอบด้วยเงินกู้และเงินให้เปล่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยเงินกู้นั้นจะชำระเงินคืนด้วยเงินรายได้จากการเก็บภาษี ทั้งนี้ รายละเอียดเกี่ยวกับกองทุนฟื้นฟูประกอบด้วย

1. คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) จะกู้ยืมเงินจากตลาดจำนวนมาก และจากนั้นจะนำไปจัดสรรให้กับบรรดาประเทศที่จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นด้านเศรษฐกิจมากที่สุด โดยผู้นำ EU ได้ตกลงที่จะให้ EC ดำเนินการกู้ยืมเงิน 7.5 แสนล้านยูโรผ่านการออกตราสารหนี้ซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ AAA ซึ่งในเงินจำนวนนี้ จะถูกแบ่งออกมา 3.90 แสนล้านยูโรเพื่อเป็นเงินให้เปล่าแก่ประเทศสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่วนอีก 3.60 แสนล้านยูโรจะนำไปปล่อยกู้ที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ

2. การอนุมัติจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูในครั้งนี้ จะช่วยให้ EU มีเงินสดเพียงพอที่จะชำระคืนเงินกู้ได้ภายในปี 2601 โดยผู้นำ EU ได้ตกลงกันว่า:

2.1 เยอรมนี สวีเดน และเนเธอร์แลนด์ จะต้องสูญเสียเงินคืนภาษีจากการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้กับ EU ในปัจจุบัน

2.2 ประเทศสมาชิก EU จะต้องจ่ายภาษีพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ และจะต้องนำส่งภาษีนั้นให้กับกองคลัง EU

2.3 นับตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป บรรดาประเทศสมาชิกที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำกว่ามาตรฐานของ EU จะต้องนำส่งภาษีสินค้าให้กับกองคลังของ EU

2.3 ภาษีการทำธุรกรรมด้านการเงินถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง และ EU จะได้รับรายได้จากการขยายขอบข่ายระบบควบคุมการปล่อยมลภาวะให้ครอบคลุมถึงอุตสาหกรรมเดินเรือทะเล และอุตสาหกรรมการบิน

ทั้งนี้ ภาษีชนิดใหม่ดังกล่าวจะถูกจัดสรรเพื่อนำไปจ่ายคืนเงินกู้วงเงิน 7.5 แสนล้านดอลลาร์ แต่การเก็บภาษีดังกล่าวจะเกิดขึ้นในอีก 38 ปีข้างหน้า

3. การอนุมัติจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูจะนำไปสู่การเบิกจ่ายเงินให้กับประเทศต่างๆ ที่มีแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ การสร้างงาน รวมถึงการเพิ่มความยืดหยุ่นทางสังคมและเศรษฐกิจ นอกจากนี้ จะต้องเป็นแผนเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น อีกทั้งต้องสอดคล้องกับคำแนะนำรายปีของคณะกรรมาธิการยุโรป

การเบิกจ่ายเงินให้กับประเทศสมาชิกนั้น จะร้องได้รับการอนุมัติด้านคุณสมบัติจากรัฐบาลของกลุ่ม EU และจะต้องเชื่อมโยงกับเป้าหมายและข้อตกลงที่ทำขึ้นในที่ประชุม หากรัฐบาลของ EU เชื่อว่าเป้าหมายดังกล่าวไม่สามารถบรรลุผลที่น่าพอใจ ก็สามารถเรียกร้องให้กลุ่มผู้นำ EU เปิดการอภิปรายภายในระยะเวลา 3 เดือน

4. บรรดาประเทศหลักๆ ที่จัดสรรเงินให้กับงบประมาณของ EU เช่น เนเธอร์แลนด์ สวีเดน ออสเตรีย เดนมาร์ก และเยอรมนีนั้น จะได้รับเงินคืนในจำนวนมากที่มากกว่าแต่ก่อน โดยคำนวณจากวงเงินที่ประเทศเหล่านี้จ่ายเงินสนับสนุนให้กับ EU ในแต่ละปีตามขนาดของเศรษฐกิจแต่ละประเทศ