'The Tree House Organic Farm' ฝันเล็กๆของสถาปนิกที่หลงรักต้นไม้

'The Tree House Organic Farm' ฝันเล็กๆของสถาปนิกที่หลงรักต้นไม้

ออกแบบบ้านต้นไม้ "The Tree House Organic Farm " เมืองอยุธยา บางส่วนใช้ทำการเกษตร ปลูกไม้ใหญ่ ไม้ผล และเป็นที่พักสำหรับคนรักธรรมชาติ ไม่ว่าไทยหรือต่างชาติ

“คนที่มาทำด้านนี้ ต้องไม่ใช่คนสมบูรณ์แบบ หรือคาดหวังสูงเกินไป ถ้าทำแล้วไม่ได้ดั่งใจหรือไม่สำเร็จ อย่าไปเครียดกับสิ่งนั้น แล้วคิดว่าทำไม่ได้ ไปไม่รอด อาจจะลุ่มๆ ดอนๆ เพราะเราเป็นมือใหม่ บางทีปลูกต้นไม้ 100 ต้นประสบความสำเร็จแค่ 20 ต้น...” สิริลักษณ์ ธรรมาภรณ์ เจ้าของ The Tree House Organic Farm จ.พระนครศรีอยุธยา เล่าถึงสิ่งที่สร้างมากับมือบ้านต้นไม้ บนพื้นที่ 8 ไร่ ซึ่งแรกๆ คิดว่า ทำแค่การเกษตร แต่ด้วยความรู้ด้านสถาปนิก จึงกลายเป็นที่พักเล็กๆ สองหลังริมน้ำ มีเสียงนกร้อง น้ำไหลเอื่อยๆ ในยามเช้า เป็นที่ถูกอกถูกใจชาวต่างชาติ

หากใครจินตนาการว่า ที่นี่จะเป็นที่พักสวยๆ มีมุมเท่ๆ ให้ถ่ายรูป ลืมไปได้เลย มันเป็นไปตามธรรมชาติจัดสรร และสถาปนิกจัดวางองค์ประกอบและพื้นที่ใช้สอย ส่วนเรื่องการเกษตร เธอมาเรียนรู้เพิ่มเติม 

ดังนั้น The Tree House Organic Farm คงจะตอบโจทย์บางอย่างให้กับบางคนที่ชอบบรรยากาศดิบๆ ไม่ปรุงแต่งเยอะ...

ก่อนจะมีพื้นที่ของตัวเอง ในรูปแบบที่พัก ที่มีส่วนผสมเกษตรออร์แกนิคเล็กๆ ปลูกพืชผักและต้นไม้ใหญ่ ตามที่ร่ำเรียนมาจากอาจารย์ยักษ์- วิวัฒน์ ศัลยกำธร มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สิริลักษณ์ เคยหุ้นกับเพื่อนๆ ตั้งบริษัท​ BAGODD ออกแบบผลิตภัณฑ์และผลิตของแต่งบ้าน ของใช้ในครัวเรือน ขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงรับงานออกแบบบ้าน 

159532837643

หน้าประตูบ้านต้นไม้

159530702991

หลังจากงานออกแบบผลิตภัณฑ์ถึงจุดอิ่มตัว เธอหันมาทำงานในบริษัทเพื่อน Blue planet design internal กว่าสิบปี จนตัดสินใจซื้อที่ดินเพื่อทำการเกษตร และสร้างบ้านพักไว้สองหลัง สี่ห้องนอน  

“ 5 ปีที่แล้วเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า ชีวิตจะทำงานไปเรื่อยๆ แล้วจะจบตรงไหน จะแก่ไปกับงานตรงนั้นเลยหรือ พ่อแม่ก็แก่ลงทุกวัน ต้องหาเวลาพาไปหาหมอ เราก็อยากแบ่งเบาบางอย่างในครอบครัว ถ้าไม่ทำงานที่มีรายได้ประจำ แล้วจะทำอะไรต่อ”

ในเมื่อชอบเรื่องธรรมชาติและต้นไม้เป็นทุนเดิม เธอจึงมาเรียนรู้การเกษตรตามแนวศาสตร์พระราชา และพบว่าตอบโจทย์ชีวิตได้ ตอนนั้นจึงหาพื้นที่สักแปลง เพื่อสร้างที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ สร้างอาหารปลอดภัยและมีเวลาดูแลพ่อแม่

“ที่ดิน 8 ไร่แม้จะเยอะเกินกำลัง เราได้แรงบันดาลใจจากอาจารย์ยักษ์ จึงเริ่มออกแบบพื้นที่ เพราะมีพื้นที่บางส่วนติดริมแม่น้ำ พื้นที่อีกส่วนอยู่กลางทุ่งและติดถนน เราก็คิดว่าจะทำแบบโคก หนอง นา คือ อยากกินอะไรก็ปลูก ทำกสิกรรมธรรมชาติยังชีพขาย แต่ตอนนั้นไม่ประมาณตน ทั้งๆ ที่เป็นคนอยุธยา เกิดริมน้ำ  ไม่ใช่คนเมือง ก็แอบฝันว่า น่าจะทำเป็นที่พักให้คนมาพัก มาชื่นชมได้ เพราะที่นั่นมีต้นไม้ใหญ่อายุหลายสิบปี ทั้งจามจุรี ตะโก เวลามีคนมาก็จะเรียกว่า บ้านต้นไม้ ก็เลยใช้ชื่อนี้

ตอนนั้นคิดแค่ว่าสร้างที่พักเอาไว้ ถ้าเพื่อนๆ ในเครือข่ายมา จะได้นอนพักแลกเปลี่ยนความคิดกัน พอเพื่อนๆ มาเยี่ยม ก็แนะว่า น่าจะทำเป็นที่พักให้เช่าค้างคืน เราก็เลยถ่ายภาพลงเพจ เขียนเรื่องราว แล้วนำไปลงในเว็บ airbnb จนมีคนต่างชาติมาพักที่บ้านต้นไม้อยู่เรื่อยๆ " 

เธอย้อนความว่า ตอนทำบ้านพัก เธอก็ปลูกต้นไม้ไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ต้นกล้วย ต้นไม้ใหญ่ จำพวกยางนา ตะเคียน มะฮอกกานี และใช้ต้นมะม่วงหาว มะนาวโห่ ทำเป็นรั้ว รวมถึงปลูกไม้ผล กล้วย ขนุน ฯลฯ

“ก็เลือกพืชที่ดูแลง่ายๆ 4-5 ปีที่ปลูกมา ตอนนี้ให้ผลผลิตแล้ว มีกล้วย ขนุน มะม่วง เราปลูกจากเมล็ด ผักก็ปลูกพวกฟักทอง ไชยา อ่อมแซบ ว่านกาบหอย ส่วนผักสลัดยังไม่ได้ปลูก”

1595303998100

(ระเบียงใหญ่นอกชายคา)

เธอ ยอมว่า ต้องเรียนรู้อยู่เรื่อยๆ กับเพื่อนๆ ในเครือข่าย ดังนั้นงานด้านการเกษตรก็ทำไป ส่วนงานจัดการเรื่องที่พักบ้านต้นไม้ ต้องดูแลทั้งเรื่องอาหารการกิน แนะนำเส้นทางท่องเที่ยว

“เช้าๆ เราก็ต้องทำกับข้าวให้แขกรับประทาน อยากให้เขาได้กินอาหารร้อนๆ ใหม่ๆ เราใช้พืชผักของเรา และบางอย่างไม่มีก็ซื้อ ที่พักเรามีเรือคายัคให้แขกพายเล่น ก็มีแขกในต่างประเทศมาพักเรื่อยๆ ส่วนใหญ่เป็นครู ถ้าเป็นคนไทย ก็พวกนักออกแบบ ดีไซน์เนอร์ ช่างภาพ ฯลฯ  ทำมาเกือบห้าปีแล้ว บางอย่างเรารู้เลยว่า เรียนรู้ช้าเกินไป การทำที่พักแบบนี้ต้องดูแลทุกอย่าง จนได้คนมาช่วยทำสวนด้วยกัน ดูแลห้องพัก ทำความสะอาด ถ้าถามว่ามีความสุขขึ้นไหม ก็คิดว่ามาถูกทางแล้ว ตอนที่อบรมจากอาจารย์ยักษ์ ก็คิดว่า นี่คือคำตอบ เราก็โลกสวยนิดๆ แต่เรามีพื้นฐานเด็กต่างจังหวัดอยู่”

ทุกวันนี้ งานหลักของเธอคือ เปิดบ้านให้ฝรั่งพัก จึงต้องดูแลตั้งแต่หลังคาจนถึงใต้พื้นดิน เธอยอมรับว่า ธุรกิจเล็กๆ ประสบความสำเร็จพอควร เพราะลูกค้ามาพักซ้ำๆ ส่วนใหญ่ประทับใจธรรมชาติ และความดิบของที่พัก ที่ไม่ได้ตกแต่งมาก 

"เพราะเราเข้าใจในเรื่องการจัดพื้นที่ บ้านพักของเราจึงไม่เหมือนสถานที่ที่มีจุดถ่ายรูปให้นักท่องเที่ยว ที่นี่เป็นที่พักที่ให้ความรู้สึกเหมือนบ้าน มีต้นไม้ใหญ่ๆ ”

สิริลักษณ์ ยอมรับว่า การทำธุรกิจเล็กๆ แบบนี้ ทำให้สถาปนิกอย่างเธอ พอมีรายได้ และชีวิตที่ดีได้ เพราะไม่ได้ต้องการสะสมอะไรมากมาย

159530418936

(มุมมองจากห้องบนสุดบนบ้านต้นไม้)

"ช่วงโควิดระบาด ไม่มีแขกพักเลย ทำให้มีเวลาปลูกป่าในพื้นที่ว่าง เรามีใจกับเรื่องต้นไม้อยู่แล้ว ทั้งๆ ที่ช่วงนั้นไม่มีรายได้เลย เวลาตรงนั้นทำให้เราได้คิด แค่พอมีรายได้ใช้จ่ายบ้าง และได้ปลูกไม้ยืนต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่าเล็กๆ ที่มนุษย์คนหนึ่งพอทำได้ เพราะเราเองก็มีโรคประจำตัว พักผ่อนไม่เต็มที่ ร่างกายจะรับไม่ไหว"

หากใครคิดว่า มาทำเกษตรแบบโลกสวย เหมือนที่โจน จันได หรือบ้านไร่ ไออรุณ ที่มีพ่อ พี่ ป้า น้า อา ช่วยมากมาย ต้องคิดใหม่  เพราะโจทย์และเงื่อนไขในชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน

“พืชพรรณบางอย่างก็ไม่ได้ปลูกง่ายๆ อย่างที่เราคิดเราฝัน ถ้าฟังโจน จันได ก็จะบอกว่าการเกษตรง่ายหมด ถ้ามันยากแปลว่ามันผิด แต่ถ้าแรงไม่มี มันผิดที่เราสิ เพราะพี่โจนเกิดมาเพื่อการเกษตรและแรงผู้ชายทำการเกษตรไม่เหมือนกัน”

นอกจากลุยปลูกต้นไม้แล้ว เธอยังมีแนวคิดว่า จะแบ่งพื้นที่บางส่วนทำนาเท่าที่จะทำได้ 

“เราก็ฝันเล็กๆ ทีละรอบ ปลูกต้นไม้ใหญ่ขึ้นมากระจุกหนึ่งก่อน ต้นไม้เหล่านี้โตเร็วกว่าที่เราคิด แต่การจัดวางแบบโคก หนอง นา วัชพืชจะมาเร็ว ก็ต้องกำจัดก่อน มันไม่เหมือนปลูกบนดินเปลือยๆ เพื่อให้กล้าไม้น้อยๆ ยืนต้นขึ้นมา” สิริลักษณ์ เล่า

และนั่นคือ คำตอบที่ว่า ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ ไม่ต่างจากเธอ แต่สิ่่งสำคัญคือต้องรู้ว่า มาถูกทางหรือยัง

......................

ดูรายละเอียดได้ที่ เพจ The Tree House Organic Farm หรือ

https://airbnb.com/h/the-family-treehouse-ayutthaya-by-the-river

159530499740

(ชาวต่างชาติที่มาพัก)