สื่อนอกเตือน 'ไทย' เปลี่ยนขุนพลเศรษฐกิจช่วง 'วิกฤติใหญ่'

สื่อนอกเตือน 'ไทย' เปลี่ยนขุนพลเศรษฐกิจช่วง 'วิกฤติใหญ่'

สื่อต่างชาติรวบรวมความเห็นนักวิเคราะห์ ชี้ว่า ไทยกำลังเปลี่ยน 2 ขุนพลเศรษฐกิจในช่วงที่เกิดวิกฤติครั้งรุนแรงที่สุด ทำให้นโยบายรัฐบาลเสี่ยงที่จะมี "ความไม่แน่นอน" ยิ่งขึ้น

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานเมื่อวันจันทร์ (20 ก.ค.) ว่า นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลาออกเมื่อวันที่ 16 ก.ค. ก่อนการปรับคณะรัฐมนตรี ขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็กำลังหาคนมาเป็นผู้ว่าการคนใหม่ต่อจากนายวิรไท สันติประภพ ที่ไม่รับตำแหน่งต่ออีกวาระ การคัดเลือกอยู่ในขั้นสุดท้ายแต่การปรับ ครม.อาจทำให้กระบวนการล่าช้าออกไป

บลูมเบิร์กระบุว่า การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจโลกผันผวนกว่าเดิม เศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกและท่องเที่ยวดิ่งหนักมากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย ทั้ง รมว.คลังและผู้ว่าฯ ธปท. ช่วยกำหนดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยลดความเสียหายทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ระบาด และนักลงทุนก็อยากให้งบประมาณเหล่านี้นำไปใช้เดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ

“เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาสำคัญเปลี่ยนผ่านจากการล็อกดาวน์กลับมาทำธุรกิจอีกครั้ง ดังนั้นการมีนโยบายที่ต่อเนื่องจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในการพยุงเศรษฐกิจที่เสียหายหนักจากการระบาด เพราะฉะนั้นยิ่งหาคนมารับหน้าที่ใหม่ได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี” นายวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด กล่าวกับบลูมเบิร์ก

บลูมเบิร์กรายงานด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไม่ควรเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ธปท.คาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะหดตัว 8.1% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ทางการของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกประเทศ

ส่วน ธปท.ก็ต้องรับมือกับค่าเงินผันผวนกระทบการส่งออก และกำลังหาวิธีการใหม่ ๆ มาหนุนเศรษฐกิจเนื่องจากขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินแบบที่เคยทำมาใช้ไปหมดแล้ว

นางสาวรธิกา รา นักเศรษฐศาสตร์จากดีบีเอส กรุ๊ป โฮลดิงส์ในสิงคโปร์ เผยว่า ตลาดกำลังมองหาคนที่เหมาะสมมารับตำแหน่ง

"ด้วยกรอบมาตรการกระตุ้นทางการคลังเพื่อรับมือโรคระบาด รมว.คลังคนใหม่มีแนวโน้มว่า จะให้ความสำคัญกับการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก ผ่านการสนับสนุนจากรัฐบาลมากขึ้นและอุปสงค์ที่สูงขึ้น เนื่องจากภาคต่างประเทศจะเดินหน้าได้จำเป็นต้องรอให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวและเปิดพรมแดนระหว่างประเทศส่วนตำแหน่งผู้ว่า ธปท.แม้นักลงทุนจะมีความหวังจากข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ว่าฯ คนใหม่จะเป็นคนมีชื่อเสียงมีคุณสมบัติพร้อม แต่เชื่อว่าความยากลำบากรออยู่ข้างหน้า

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กล่าวว่า การที่เงินบาทอ่อนค่าลงแสดงว่าตลาดกังวลเรื่องโรคระบาดและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่ส่งผลต่อตลาดเงิน ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ

ด้านนายวิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน พรินซิเพิล ระบุว่า สิ่งที่ รมว.คลังและผู้ว่าฯ คนใหม่จำเป็นต้องรับมือถือเป็นงานหิน “ธปท.มีขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินจำกัด และจำเป็นต้องจัดการกับหนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคตข้างหน้า ขณะเดียวกัน ภารกิจของรัฐมนตรีคลังที่จำเป็นต้องส่งเสริมเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ก็ยากมากเช่นกัน”