จ่อฟัน 'ยิ่งลักษณ์-2อดีตรมต.' ปมฮั้วประมูลจัดอีเวนท์ 240 ล้าน

จ่อฟัน 'ยิ่งลักษณ์-2อดีตรมต.' ปมฮั้วประมูลจัดอีเวนท์ 240 ล้าน

ลุ้น ป.ป.ช.ฟัน “ยิ่งลักษณ์-สุรนันทน์-นิวัฒน์ธำรง” คดีฮั้วประมูลจัดงานอีเวนท์โรดโชว์ สร้างอนาคตประเทศไทย ส่วนเอกชน 5 รายส่อโดนหางเลข - เลขา ป.ป.ช. เตรียมแถลงสัปดาห์นี้

ความคืบหน้ากรณีร้องเรียนฮั้วประมูลจัดงานจัดอีเวนท์พีอาร์โครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020 วงเงิน 240 ล้านบาท ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) โดยมีรายงานว่า คณะอนุกรรมการไต่สวนชุดดังกล่าว ได้สรุปสำนวนคดีดังกล่าวแล้ว

โดยผู้ถูกกล่าวหาเกี่ยวข้องรวม 17 ราย แยกเป็นกลุ่มการเมือง 3 ราย มีมูลความผิดทางอาญา ส่วนกลุ่มข้าราชการ 9 ราย เห็นว่า มีมูลความผิดทางวินัย แต่ไม่มีมูลความผิดทางอาญา เนื่องจากดำเนินการตามที่ฝ่ายการเมืองสั่งการ ส่วนกลุ่มเอกชน 5 ราย แบ่งเป็นนิติบุคคล 2 แห่ง และผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท 2 ราย เห็นว่า มีมูลความผิดทางอาญาฐานสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนผู้บริหารอีก 1 ราย ไม่มีมูลความผิด เนื่องจากกระทำการตามที่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทสั่งการ

ขั้นตอนหลังจากนี้ คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ได้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นไปยังที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาชี้ขาดต่อไป

เปิดปมฮั้ว2สื่อจัดอีเวนท์

สำหรับกรณีการจัดงานจัดอีเวนท์ดังกล่าว บริษัทสื่อมวลชน 2 แห่ง ปรากฏรายชื่อเป็นผู้รับว่าจ้าง โดยรายแรก ได้รับงาน 140 ล้านบาท ,รายที่สอง ได้ 100 ล้านบาท ซึ่งในขั้นตอนการดำเนินงาน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ( สตง.) ได้ทำหนังสือถึงสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) เพื่อขอให้ทบทวนการจ่ายเงินว่าจ้างจัดงานประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าวให้กับบริษัทเอกชนทั้งสองราย ให้เหตุผลว่า กฎหมายเงินกู้ 2 ล้านล้าน ที่รัฐบาลนำมาใช้เป็นวัตถุประสงค์หลักในการจัดงานประชาสัมพันธ์ดังกล่าว อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังไม่ปรากฏผลชัดเจนว่ากฎหมายฉบับนี้จะผ่านการพิจารณาหรือไม่

ขณะที่กระบวนการว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้ามารับงานนี้ ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้น โดยเฉพาะการสืบราคางานจากบริษัทเอกชนเพียงรายเดียว แต่สลน. โดยนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ลงนามในหนังสือตอบ สตง. เป็นทางการว่า ไม่สามารถทบทวนได้ เนื่องจากเป็นงานที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

ขณะที่บริษัทสื่อมวลชนได้ทำหนังสือถึง สตง. เพื่อขอความเป็นธรรมกรณีนี้ ระบุว่าในการจัดงานที่ผ่านมาบริษัทได้ทดรองจ่ายค่าใช้จ่ายไปทั้งสิ้นเป็นเงินกว่า 130 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้รับเงินค่าจ้างตามสัญญาแต่อย่างใด

ข้อมูลจากการไต่สวนของ ป.ป.ช. พบว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการทำจัดซื้อจัดจ้างมีการทำเอกสารย้อนหลังด้วย

ฟัน‘ยิ่งลักษณ์-สุรนันทน์-นิวัฒน์ธำรง’

ด้านนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการป.ป.ช. กล่าวยอมรับว่า มีนักการเมืองถูกชี้มูลในคดีนี้ตามที่มีข่าวจริง ขณะนี้ ป.ป.ช.กำลังจัดทำรายละเอียดอยู่ ดังนั้นจึงขอให้รอฟังรายละเอียดอีกครั้งในการแถลงของโฆษกป.ป.ช. ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดโฆษก ป.ป.ช.จะเป็นผู้แถลงในช่วงปลายสัปดาห์นี้

มีรายงานข่าวว่า สำหรับรายชื่อผู้ถูกกล่าวหามีทั้งสิ้น 17 ราย แบ่งเป็น กลุ่มนักการเมือง จำนวน 3 ราย ประกอบด้วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายสุรนันทน์ และนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

กลุ่มข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ จำนวน 9 ราย ที่เกี่ยวข้องการจัดทำราคากลางและจัดซื้อจัดจ้าง และกลุ่มเอกชน จำนวน 5 ราย จากบริษัทที่ประกอบธุรกิจสื่อมวลชน แบ่งเป็นถูกกล่าวหาในนามนิติบุคคล 2 แห่ง ถูกกล่าวหาในนามผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท 2 ราย และผู้บริหารบริษัท 1 ราย โดยผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 17 ราย ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาไปแล้ว

2 ป.ป.ช.ป้ายแดงทำงานวันแรก

วันเดียวกันนายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา และ นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข กรรมการ ป.ป.ช . เข้าทำงานเป็นวันแรก หลังได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง โดยนายสุชาติ กล่าวว่า การทำงานคงขึ้นอยู่กับกรรมการ ป.ป.ช.ชุดเดิม ว่าจะมีนโยบายในการบริหารจัดการคดีอย่างไร ส่วนกรณีปัญหาเสียงวิพากษ์วิจารณ์ป.ป.ช.ในช่วงที่ผ่านมา การเป็นนักกฎหมายจะช่วยให้การทำงานด้านสืบสวนสอบสวนเป็นไปอย่างรอบคอบ

ทั้งนี้เข้าใจว่าสำนวนของ ป.ป.ช.ไม่สามารถเปิดเผยได้จนกว่าเรื่องจะไปสู่การพิจารณาของศาล แต่โดยส่วนตัวเห็นว่า หากคดีใดที่สั่งฟ้องเรียบร้อยแล้ว และไม่ส่งผลกระทบต่อการสอบสวน ก็ควรจะมีการเผยแพร่ความเห็นส่วนตัวของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ได้ลงมติในคดีนั้นต่อสาธารณะ เพื่อป้องกันข้อครหาว่า ป.ป.ช.ไต่สวนสำนวนไม่เป็นธรรม

ขณะที่นายณัฐจักร กล่าวว่า แนวทางการทำงานนั้น ขอให้รอดูว่าตนทำงานได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามการไต่สวนในทุกสำนวนก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาและผู้ร้องมากที่สุด เพื่อให้เกิดความเกิดความเท่าเทียมและเป็นประโยชน์กับประชาชน โดยในเรื่องที่มีการกล่าวหา จะต้องสอบทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหา เพื่อให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย และ ป.ป.ช.จะต้องมีความเป็นกลางในการตัดสินใจ