‘เจ้าชายน้อย’ ภาษายาวี ร่องรอย 77 ปี จากดาว B612

‘เจ้าชายน้อย’ ภาษายาวี ร่องรอย 77 ปี จากดาว B612

การที่วรรณกรรมเล่มหนึ่งเดินทางมาถึง 77 ปี ไม่ใช่เรื่องธรรมดา และไม่ใช่แค่วาระครบรอบที่เวียนมาแล้วผ่านไป เพราะจนถึงวันนี้ ‘เจ้าชายน้อย’ ยังเดินทางไปในรูปแบบภาษาต่างๆ ต่อไปเรื่อยๆ

นับเป็นความพิเศษทวีคูณ เมื่อปีนี้เป็นวาระครบรอบ 77 ปี ที่ Le Petit Prince หรือ เจ้าชายน้อย ได้ตีพิมพ์เป็นผลงานชิ้นสำคัญของบรรณพิภพ และนี่ยังเป็นปีแรกที่ได้กำหนดให้วันที่ 29 มิถุนายน 2563 เป็น ‘วันเจ้าชายน้อยสากล’ ทั่วโลกจะเฉลิมฉลองให้แก่วรรณกรรมเรื่องนี้โดยพร้อมเพรียงกัน และพอดิบพอดีกับ 120 ปี วันคล้ายวันเกิดของ อองตวน เดอ แซง-เต็กซูเปรี (Antoine de Saint-Exupéry) ผู้ประพันธ์วรรณกรรมเจ้าชายน้อย

  • ภาษายาวีบนดาว B612

เจ้าชายน้อย ฉบับภาษามลายูถิ่นปัตตานี หรือภาษายาวี คือหนึ่งในฉบับแปลภาษาต่างประเทศล่าสุดของจักรวาลเจ้าชายน้อย ซึ่งจะกล่าวว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของผลผลิตจากวรรณกรรมเรื่องเยี่ยมของโลกเล่มนี้ที่ได้รับการต่อยอดมาตลอด 77 ปี ก็ว่าได้

สุพจน์ โล่ห์คุณสมบัติ นักเขียนนักเดินทางและนักสะสมเจ้าชายน้อยแถวหน้าของไทย อธิบายว่า เจ้าชายน้อยฉบับภาษายาวี เป็นผลงานล่าสุดของ โครงการเจ้าชายน้อยภาษาถิ่น ซึ่งเขาและ บุษกร พิชยาทิตย์ ร่วมกันทำโครงการนี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2559 โดยเริ่มต้นจากการเดินทางไปร่วมจัดงานฉลอง 70 ปี ครองราชย์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ขณะนั้นเขาไปในฐานะอุปนายกสมาคมนักเรียนเก่าสวิสในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

คราวนั้นสุพจน์ได้มีโอกาสพบกับ ฌอง- มาร์ค พร๊อพสต์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิฌอง-มาร์ค พร๊อพสต์ เพื่อเจ้าชายน้อย (Fondation Jean-Marc Probst pour Le Petit Prince) ได้พูดคุยและมูลนิธิได้ตกลงที่จะสนับสนุนโครงการหนังสือเจ้าชายน้อยภาษาถิ่นในประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก โดยได้จัดพิมพ์ฉบับภาษาล้านนาเป็นภาษาแรกเมื่อปี พ.ศ.2560 และภาษาปกาเกอะญอในปีถัดมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่วรรณกรรมระดับโลกให้แก่เยาวชน โดยแจกจ่ายไปยังสถานศึกษา โรงเรียนและมหาวิทยาลัยในเขตภาคเหนือ อีกทั้งยังได้ร่วมอนุรักษ์ภาษาถิ่นไทยในภูมิภาคต่างๆ อีกด้วย

159522131034

“การสนับสนุนในครั้งนั้นได้ต่อเนื่องเรื่อยมาจนกระทั่งปีนี้เราได้จัดทำหนังสือเจ้าชายน้อย ฉบับภาษายาวี ซึ่งเป็นภาษาถิ่นภาษาที่ 3 ในประเทศไทย วัตถุประสงค์ที่เราใช้ภาษาถิ่นในประเทศไทยเพราะเราต้องการอนุรักษ์ภาษาถิ่นไทย ภาษายาวียังเป็นภาษาที่เข้มแข็ง และมีคนใช้เยอะอยู่มาก ใน3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังใช้ในชีวิตประจำวันอยู่ คิดว่าการทำภาษายาวีจะเป็นประโยชน์มาก เพราะเนื่องจากเราจะนำไปแจกให้แก่ห้องสมุดตามโรงเรียนปอเนาะ 400 กว่าโรงเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงโรงเรียนในเขตจังหวัดสงขลาด้วย”

โครงการ "เจ้าชายน้อยฉบับภาษายาวี" ได้เริ่มมาตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา ด้วยความร่วมมือกับภาควิชาภาษามลายู คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมี อาจารย์แวมายิ ปารามัล อาจารย์ประจำภาควิชาภาษามลายูและเป็นผู้เชี่ยวชาญภาษามลายู เป็นผู้แปล

หลังจากให้โจทย์และทำความเข้าใจถึงจุดประสงค์ว่าทำไมต้องแปลวรรณกรรมเรื่องนี้เป็นภาษายาวีให้อาจารย์แวมายิเข้าใจ อาจารย์ผู้แปลได้ศึกษาเพิ่มเติมจากต้นฉบับแปลภาษาไทย เท่านั้นไม่พอยังเทียบเคียงกับฉบับภาษาต่างประเทศอื่นๆ ด้วย เป็นการทำงานอย่างเคี่ยวกรำที่สุดครั้งหนึ่งของการแปลเรื่องเจ้าชายน้อย ความเข้มข้นทำให้กว่าจะแปลสำเร็จต้องใช้เวลาเกือบ 1 ปีเต็ม

อาจารย์แวมายิ ปารามัล เผยความรู้สึกที่ได้รับโอกาสแปลวรรณกรรมชื่อดังเรื่องนี้พร้อมเล่าถึงการทำงานอันท้าทายว่า “ผมรู้สึกเป็นเกียรติและมีความภูมิไจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสแปล Le Petit Prince ซึ่งนิยายคลาสสิกระดับโลกนี้ โดยเฉพาะเมื่อได้แปลโดยใช้อักษรยาวีซึ่งชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือว่าเป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของเรา

ขั้นตอนการแปลของผมนั้นค่อนข้างจะซับซ้อนและยุ่งยากพอสมควร ผมยึดฉบับภาษาอังกฤษเป็นหลัก แล้ว cross check กับภาษาไทย มาเล อินโดนีเซีย และที่สำคัญที่สุดคือภาษาฝรั่งเศสซึ่งเป็นภาษาต้นทาง บางกรณีก็ต้องไปขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญภาษาฝรั่งเศส ทั้งนี้เพื่อเพื่อหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดในการแปล”

ล่าสุดวรรณกรรมเล่มนี้กำลังจะเสร็จสมบูรณ์เป็นรูปเล่ม หลังจากส่งเล่มจำลองให้มูลนิธิฌอง-มาร์ค พร๊อพสต์ เพื่อเจ้าชายน้อย ได้ตรวจสอบอย่างละเอียดทั้งความถูกต้องและความงาม

159522156554

ความพิเศษอย่างหนึ่งของเล่มนี้ที่สุพจน์บอกไว้คือการนำภาษายาวีซึ่งเป็นภาษาที่ยังมีชีวิต มีผู้ใช้อย่างแพร่หลายโดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะทำให้เรื่องเจ้าชายน้อยเข้าถึงเด็กและเยาวชนในพื้นที่ได้มากขึ้น เพราะคุณค่าของวรรณกรรมเรื่องนี้คือ “เป็นวรรณกรรมที่ไม่ได้ให้คำตอบกับชีวิต แต่เป็นวรรณกรรมที่ตั้งคำถามให้กับชีวิต”

แต่การตั้งคำถามหากถูกตีความผิดเพี้ยนหรือไม่เข้ากับหลักคำสอนของศาสนา เนื่องด้วยภาษายาวีมีลักษณะพิเศษคือแพร่หลายในสังคมมุสลิม ดังนั้นจึงต้องพินิจให้ถี่ถ้วนเสียก่อน

“ผมมองว่าชุมชนมุสลิมมีความเข้มแข็งอยู่แล้วนะครับ เมื่อแรกเริ่มที่จะจัดพิมพ์ฉบับภาษายาวีนี่ก็แอบกังวลอยู่เหมือนกันว่า จะมีเรื่องราวอะไรไปขัดกับคำสอนของทางมุสลิมหรือไม่ ก็ได้ประชุมปรึกษากับผู้แปลและคณาจารย์ของภาควิชาภาษามลายู มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อได้รับคำยืนยันว่าไม่ได้มีอะไรขัดกับคำสอน เราก็เริ่มดำเนินการกันเรื่อยมา

วัตถุประสงค์หลักก็อยากให้เยาวชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อ่านเจ้าชายน้อย ที่มีแก่นของเนื้อหาเกี่ยวกับความหมายของความรัก ความเข้าใจเรื่องคุณค่าของชีวิตเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสันติสุข ประจวบเหมาะกับโอกาสครบรอบ 77 ปีเจ้าชายน้อยในปีนี้ด้วย” สุพจน์กล่าว

  • คุณค่าที่ทุกคนคู่ควร

มีคำกล่าวเกี่ยวกับเจ้าชายน้อยในทำนองว่า อ่านวรรณกรรมเรื่องนี้ในแต่ละช่วงวัย สิ่งที่ได้จะแตกต่างกัน อาจเพราะประสบการณ์ชีวิตที่เพิ่มพูน ความสุขความทุกข์ที่ผ่านเข้ามา หรือแม้กระทั่งกลวิธีของนักเขียนเปิดพื้นที่ให้ผู้อ่านได้นำตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งผ่านบุคลาธิษฐานต่างๆ นานา

“อย่างที่ผมบอกว่า อันที่จริงเจ้าชายน้อยไม่ได้เป็นหนังสือที่ให้คำตอบกับการใช้ชีวิต ไม่ใช่หนังสือไลฟ์โค้ชที่แนะนำการดำเนินชีวิตหรือการพ้นทุกข์ หากแต่เป็นเรื่องราวที่ตั้งคำถามเพื่อให้เราตระหนักในความเป็นจริงของชีวิต ซึ่งจริงๆ แล้วคำตอบที่ล้วนมีให้เห็นในชีวิตประจำวันของเรานี่เอง โลกที่แวดล้อมไปด้วยผู้คนที่แตกต่างกัน ทั้งคนเย่อหยิ่ง คนขี้เมา นักธุรกิจ หรือนักวิชาการกับการจดสถิติ ฯลฯ และเหนือสิ่งอื่นใด เราก็มีหมาป่าและดอกกุหลาบที่เป็นตัวแทนของมิตรภาพและความรัก สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เราเกิดความเข้าใจยอมรับในความแตกต่างของกันและกัน ซึ่งจะนำมาซึ่งสันติสุขของผู้คนบนโลกนี้”

แซงค์แต็กซูเปรีมีกลวิธีที่น่าสนใจด้วยการถ่ายทอดเรื่องราวโดยเล่าเรื่องอย่างง่ายๆ มีเจ้าชายน้อยเป็นตัวดำเนินเรื่องกับตัวละคนเพียงไม่กี่ตัว หากแต่บทสนทนาเหล่านั้นได้แฝงนัยยะแห่งปรัชญาชีวิตอันลึกซึ้ง ซึ่งเขาได้ประจักษ์กับชีวิตของเขาเอง และได้บรรจงถ่ายทอดทั้งตัวอักษรและภาพประกอบเรื่อง ทั้งที่ฝีมือวาดภาพของเขาก็ไม่ได้งดงามมากอะไร แต่ทุกอย่างก็ถูกถ่ายทอดออกมาจากความรู้สึกภายในของเขาเอง

“อาจกล่าวได้ว่าเขาพูดถึงเรื่องปรัชญาชีวิตอย่างง่ายๆ โดยมิได้กล่าวอ้างถึงหลักศาสนาใดๆ แม้แต่น้อย เจ้าชายน้อยจึงมีความเป็นกลาง เป็นวรรณกรรมที่ผู้คนทุกเชื้อชาติศาสนาเข้าถึงได้อย่างไม่มีข้อกังขา ซึ่งคงเป็นเพราะเหตุนี้ที่เจ้าชายน้อยได้ครองใจผู้อ่านทั่วโลกตลอดระยะเวลา 77 ปีที่ผ่านมา โดยไม่มีเรื่องชาติ ศาสนาหรือสีผิวเข้ามาเกี่ยวข้อง”

  • เจ้าชายฯ สายสะสม

เสน่ห์ของเจ้าชายน้อยทั้งคุณค่าทางวรรณกรรมและความงดงามของรูปเล่มที่แตกต่างกันไปในแต่ละชาติเจ้าของภาษาฉบับแปล ดึงดูดให้อดีตพนักงานสายการบินสวิส ที่ผันตัวมาเป็นนักเขียนนักเดินทาง กลายเป็นนักสะสมเจ้าชายน้อยจากทั่วทุกมุมโลกไปโดยปริยาย

“แน่นอนว่าของสะสมก็คือสิ่งที่เรารัก เราสนใจ ของสะสมจึงมักเปลี่ยนไปตามวัยและสภาพแวดล้อมนะครับ เช่นตอนเด็กๆ ผมเคยสะสมตัวการ์ตูนสนู๊ปปี้ ตอนไปเรียนที่สวิส ผมเคยสะสมนาฬิกาสวอทช์ที่เป็นเรือนพลาสติก ราคาไม่แพง พอมาเริ่มเดินทางและเขียนสารคดีท่องเที่ยว เป็นคอลัมนิสต์ ผมก็หันมาสนใจเก็บกล่องไม้ขีดที่ตามโรงแรมมักวางไว้ให้บนโต๊ะข้างหัวนอน และการเดินทางอีกเช่นกันที่ทำให้ผมเริ่มหันมาตามหาหนังสือเจ้าชายน้อยภาษาต่างๆ ตามเมืองได้ที่ไปเยือน และทำให้รู้ว่าการสะสมเจ้าชายน้อยได้ให้อะไรกว่าการเป็นของสะสมที่เคยมีมา”

159522145517

ถึงจะเริ่มสะสมตอนเดินทาง แต่เขาเคยทำความรู้จักกับชาวดาว B612 มาตั้งแต่เป็นนักศึกษาเอกวิชาภาษาฝรั่งเศสในฐานะหนังสืออ่านนอกเวลา ที่ต้องอ่านเพื่อไปสอบเอาคะแนน

ตอนนั้นเขารู้สึกแค่ว่าได้อ่านวรรณกรรมแปลจากเมืองนอก ไม่ได้เข้าใจในหลักปรัชญาอะไร ซึ่งเขาอ่านครั้งแรกจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส ไม่ได้อ่านฉบับแปล ภาษาฝรั่งเศสที่ยังไม่ได้แข็งแรงมากนัก ทำให้แค่เข้าใจเนื้อหาตามประโยค

“ตอนนั้นผมไม่ได้ลึกซึ้งนัยยะสำคัญอะไร พอได้ไปเรียนต่อที่สวิตเซอร์แลนด์ซึ่งใช้ภาษาฝรั่งเศสในการเรียนการสอน ก็ได้มีโอกาสได้กลับมาอ่านอีกครั้ง คงเป็นห้วงอารมณ์หว้าเหว่ คิดถึงบ้าน คิดถึงเพื่อนๆ มังครับ ตอนนั้นเริ่มรู้สึกถึงความรัก ความผูกพันนี่มันมีผลต่อจิตใจเรามากจริงๆ เหมือนที่แซงค์แต็กซูเปรี ผู้แต่งบอกไว้ว่า หากเราเริ่มที่จะสร้างสัมพันธ์กับสิ่งไหน เราก็ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งนั้น สื่อถึงว่าสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่มนุษย์บนโลกนี้จะมีให้กันได้ก็คือความรัก มันไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านั้น

พอจบมาทำงานในสายการบินสวิสแอร์ ทำให้ได้เดินทางมากขึ้น ยิ่งทำให้เราตระหนักในสิ่งที่วรรณกรรมเรื่องนี้ได้บอกไว้ เราได้เจอผู้คนมากมายที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เหมือนที่ตัวละครเจ้าชายน้อยได้เดินทางไปในดาวต่างๆ มีทั้งนักธุรกิจที่หมกหมุ่นอยู่กับตัวเลข ทรัพย์สินเงินทอง คนที่หยิ่งทนงหลงตัวเอง คนขี้เมาที่ดื่มเหล้าให้เมาเพื่อกลบเกลื่อนความละอายในความขี้เมาชองตัวเอง ฯลฯ เราเลยมาตระหนักว่า เฮ้ย นี่มันคือสิ่งที่แซงค์แต็กซูเปรีได้สื่อผ่านตัวละครเด็กคือเจ้าชายน้อยจากดาว B612 ที่เราอ่านมาแล้วทั้งนั้น”

พอเริ่มตั้งใจจะเก็บสะสมเจ้าชายน้อยจากการเดินทางของตัวเอง เขาจึงรู้สึกสนุกเข้าไปอีก เพราะเหมือนเป็นหมุดหมายหนึ่งของการเดินทางไปยังเมืองนั้นๆ ได้เสาะหาร้านหนังสือทั้งเก่าและใหม่ เหมือนเป็นอีกมิติของการท่องเที่ยวจากที่ที่ได้ไปอยู่แล้ว สุพจน์เล่าว่ายิ่งเจอคนต่างชาติต่างภาษามากขึ้น ยิ่งทำให้ตระหนักถึงความเชื่อมโยงของมนุษย์ที่ล้วนผูกยึดกันด้วยความรักและมิตรไมตรีที่ดีต่อกัน รู้สึกได้ถึงความรักและมิตรภาพว่ามันมีความสำคัญและทำให้โลกนี้งดงามเพียงใด สิ่งเหล่านี้ที่ทำให้เรามักจะได้ยินผู้อ่านเจ้าชายน้อยบอกว่า เจ้าชายน้อยเป็นวรรณกรรมที่ให้แง่คิดแตกต่างออกไปตามวัยของผู้อ่าน สิ่งที่เขาได้จากการอ่านเจ้าชายน้อย อาจแตกต่างจากสิ่งที่คนอื่นอ่านเจอ

นอกจากหนังสือเจ้าชายน้อยจากทั่วทุกมุมโลก เขาบอกว่ามีเจ้าชายน้อยอยู่เล่มหนึ่งที่ทรงคุณค่าและยังมีปริศนาให้ตามคลี่คลาย แม้ว่าเจ้าชายน้อยเล่มนี้จะเป็นฉบับภาษาไทยก็ตาม

เจ้าชายน้อยเล่มล่าสุดเล่มนี้ที่เขาได้มาสะสม พิเศษตรงที่เป็นเล่มสำนวนแปลของ สมศักดิ์ ธนาศุภวัฒน์ ที่ไม่ได้มีการพิมพ์ออกจำหน่าย น้อยคนรวมถึงสุพจน์เองก็ไม่ทราบมาก่อนด้วยว่ามีฉบับนี้อยู่

159522151060

“ผมพยายามติดต่อหาผู้แปล จึงทราบว่าแกเสียชีวิตไปเมื่อหลายปีก่อน ผมเลยไปค้นหาต้นฉบับที่บังเอิญแกนำไปมอบไว้ให้หอสมุดแห่งชาติเล่มหนึ่ง จึงได้ถ่ายเอกสารและนำไปเข้าเล่ม และได้รับความกรุณาจากอาจารย์เกริกบุระ ยมนาค ช่วยวาดภาพสีน้ำ และออกแบบทำปกให้เจ้าชายน้อยยืนอยู่หน้าวัดพระแก้ว เลยกลายเป็นฉบับพิเศษเล่มเดียวในโลก ทราบมาว่าคุณสมศักดิ์เป็นลูกศิษย์วิชาภาษาฝรั่งเศสของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในช่วงท้ายของคำนำประจำเล่มยังมีคำอุทิศถวายแด่สมเด็จอาจารย์ด้วย”

ความหายากเพราะมีเพียงเล่มเดียวก็ส่วนหนึ่ง แต่คุณค่าด้านภาษาก็เป็นเหตุผลที่ทำให้นักสะสมต้องขวนขวายให้ได้ หลังจากสุพจน์ได้อ่านก็พบว่าสำนวนแปลของสมศักดิ์ ธนาศุภวัฒน์ ช่างอ่านง่าย และสละสลวย จนเขายกให้เป็นฉบับแปลไทยที่ภาษาเรียบง่ายแค่สวยงามอันดับต้นๆ

“จริงๆ เล่มที่ผมชอบมากที่สุดคือ ฉบับสำนวนแปลของ อริยา ไพฑูรย์ ที่เราเอามาเป็นต้นฉบับเจ้าชายน้อยภาษาถิ่น แต่พอมาเจอเล่มนี้ผมก็ชอบมากๆ เลย”

...

หลายคนอาจคุ้นกับสิ่งที่ตัวละครหมาป่าบอกกับเจ้าชายน้อยทำนองว่า สิ่งสำคัญอาจไม่ได้เห็นด้วยสายตา แต่สัมผัสด้วยหัวใจเท่านั้น ความงดงามแฝงปรัชญาเช่นนี้กินใจใครหลายคนทั่วโลก จากวรรณกรรมเล่มหนึ่ง สู่การแปลไปหลายภาษา ระยะเวลา 77 ปี ยืนยันความยอดเยี่ยมของ ‘เจ้าชายน้อย’