ว่างงานครบ 6 เดือน ย้ายสิทธิ์รักษาพยาบาลเข้าบัตรทอง

ว่างงานครบ 6 เดือน ย้ายสิทธิ์รักษาพยาบาลเข้าบัตรทอง

สปสช.คาดพิษโควิดส่งผลให้คนว่างงานย้ายเข้าสิทธิ์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองเกือบ 1 ล้านคน หลังครบ 6 เดือนพ้นสิทธิ์ประกันสังคม ของบฯเพิ่มจากพรก.เงินกู้ราว 3,6840 ล้านบาท รองรับการดูแล เผยเดิมคาดการณ์คนจะลดลง แต่สถานการณ์โรคระบาดต้องเปลี่ยน

      นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2564 จำนวน 204,822 ล้านบาท ครอบคลุมการดูแลด้านสุขภาพของคนไทยครอบคลุมผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 47.6 ล้านคน แต่เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จึงมีการคาดการณ์จะมีผู้เข้ามาอยู่ในสิทธิ์หลักประกันฯเพิ่มขึ้น จากการที่ย้ายมาจากสิทธิประกันสังคมเหตุว่างงาน 6 เดือน จำนวน 990,750 คน

           คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) จึงเห็นชอบให้มีการเสนอของบประมาณเพิ่มเติมเพื่อรองรับคนกลุ่มนี้ โดยคำนวณจากงบฯเหมาจ่ายรายหัวที่ครม.อนุมัติสำหรับปี 2564 จำนวน 3,719.23 บาทต่อคน รวมเป็นเงินราว 3,684 ล้านบาท โดยเสนอขอรับงบฯจากพรก.เงินกู้ที่ด้านสาธารณสุขได้รับการจัดสรรมา 4.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2564 กองทุนหลักประกันฯ มีการขอรับงบฯเพิ่มเติมตามพรก.เงินกู้ในส่วนอื่นๆด้วยรวมประมาณ 9,139 ล้านบาท

        “เดิมที่มีการคาดการณ์ว่าผู้มีสิทธิ์ในระบบหลักประกันฯจะลดลง เพราะแนวโน้มลดลงทุกปี จากที่มีการไปใช้สิทธิประกันสังคมและอื่นๆเพิ่มขึ้น แต่ด้วยการระบาดของโรคโควิด-19 จึงต้องปรับจำนวนผู้มีสิทธิ์ใหม่ในปี 2564 จากที่คาดจะมีการว่างงานครบ 6 เดือนในช่วงเริ่มต้นปีงบฯ2564 เป็นเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 1 ล้านคน ซึ่งผู้ที่ย้ายสิทธิ์มาก็จะได้รับบริการต่างๆเช่นเดียวกับผู้มีสิทธิ์ทุกคน”นพ.ศักดิ์ชัยกล่าว

          ทั้งนี้ ผู้ใช้สิทธิ์บัตรทอง 5 ปีย้อนหลังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2560 ผู้มีสิทธิ์ 48.8 ล้านคน ปี2561 ผู้มีสิทธิ์ 48.79 ล้านคน ปี 2562 ผู้มีสิทธิ์ 48.57 ล้านคน /ลดลง ปี2563 ผู้มีสิทธิ์ 48.26 ล้านคน /ลดลง และปี 2564 ผู้มีสิทธิ์ 47.6 ล้านคน ซึ่งเดิมคาดการณ์ว่าผู้มีสิทธิ์ลดลง แต่ด้วยสถานการณ์โรคโควิด-19ที่ทำให้คนว่างงานมากขึ้น และขาดการจ่ายสมทบเข้าประกันสังคมเป็นเวลา 6 เดือน ที่จะย้ายมาอยู่ในสิทธิ์บัตรทอง จึงปรับใหม่เป็นเพิ่มขึ้นอยู่ที่ราว48.59 ล้านคน

    สำหรับการให้บริการตามงบฯพรบ.เงินกู้ที่ขอเพิ่มเติมในปี 2564 รวม 9,139 ล้านบาท แยกเป็น 1.เกี่ยวกับบริการโรคโควิด-19 จำนวน 5,847 ล้านบาท เป็นค่าบริการป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด-19ในคนไทยทุกคน ด้วยบริการตรวจคัดกรองครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย บริการในHospital Quarantine เฉพาะกรณีสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 และค่าบริการรักษาพยาบาลผู้ป่วย ทั้งที่เป็นผู้ป่วยใน บริการฮอลพิเทลก่อนกลับบ้าน และบริการรับส่งต่อผู้ป่วยของหน่วยบริการระหว่างหน่วยบริการ บ้าน สนามบิน สถานที่กักกัน รพ.สนามไปยังหน่วยบริการ เฉพาะกรณีสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 

159521892826

        และ2.กลุ่มบริการที่เกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 จำนวน 3,291 ล้านบาท เป็นค่าบริการสาธารณสุขระบบทางไกล(TeleHealth/TeleMedicine) เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการเว้นระยะห่าง(Social Distancing) ที่ป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด-19ของกลุ่มเสี่ยง ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยบริการที่จัดบริการแบบนี้ทั้งในส่วนของหน่วยบริการกรมการแพทย์ 27 แห่ง โรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ และหน่วยบริการที่สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.)โดยมีการขอความร่วมมือให้รพ.ทุกแห่งจัดระบบการให้คำปรึกษาและติดตามการใช้ยาออนไลน์ ในการให้บริการแบบผู้ป่วยนอกในผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง บริการสายด่วนสุขภาพจิตครอบคลุมทุกสิทธิ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคโควิด-19 เช่น ภูมคุ้มกันต่ำ เบาหวาน ความดัน โรคปอดเรื้อรัง คนพิการ เป็นต้น

         ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ป่วยรับยางทางไปรษณีย์ ซึ่งเดิมดำเนินถึง 30 กันยายน 2563 ในปี 2564 จะมีหน่วยบริการดำเนินการมากกว่า 400 แห่ง บริการเฉลี่ย 30 รายต่อวันต่อแห่ง คาดการณ์จะมีบริการ 1.953 ล้านครั้ง ค่าบริการด้านยาและเวชภัณฑ์สำหรับร้านยา เพื่อสำรองยาให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยา(โมเดล-3) โดยร้านยาดำเนินการจัดการด้านยาเอง และองค์การเภสัชกรรมร่วมจ่ายยาให้ร้านยา ซึ่งในปี 2563 นำร่องอย่างน้อย 6 จังหวัด เชียงราย ลำพูน พัทลุง พิษณุโลก เพชรบุรี และชลบุรี จำนวน 278 แห่ง และในปี 2564 จะมีร้านยาเข้าร่วม 695 แห่ง ค่าบริการตรวจวินิจฉัยทางเทคนิคการแพทย์นอกหน่วยบริการ ครอบคลุมบริการเจาะเลือด การขนส่งตัวอย่าง และการตรวจทางห้องปฏิบัติการผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เฉพาะผู้ป่วยรายเก่าสิทธิ์บัตรทอง เริ่มในหน่วยบริการที่สมัครใจดำเนินการ ประมาณการณ์จำนวนบริการเจาะเลือกนอกรพ. 941,700 ครั้ง

         วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ มีการขอรับงบฯค่าวัคซีนเพิ่มเติมอีกราว 300 ล้านบาท เพราะจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ประมาณความต้องการวัคซีนไข้หวัดใหญ่น่าจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 15 %ของเป้าหมายกลุ่มเสี่ยง จำนวน 2.36 ล้านราย เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ให้บริการ ซึ่งครม.เห็นชอบให้ปรับอัตราจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการกรณีโควิด-19 เป็น 2 เท่าจากอัตราเดิม คาดการณ์ ในปี 2563 จำนวน 200 ราย ปี 2564 จำนวน 300 ราย และค่าบริการเหมาจ่ายรายหัว(เพิ่มจากภาวะว่างงาน) 3,684 ล้านบาท

      ส่วนของผู้ว่างงาน ขั้นตอนการย้ายสิทธิ์จากประกันสังคมมายังสิทธิ์บัตรทองนั้น จะเป็นการดำเนินการโดยอัตโนมัติ รวมถึง สถานพยาบาลตามสิทธิ์ที่จะเป็นการจัดหาให้ตามภูมิลำเนาในทะเบียนบ้าน โดยสามารถสอบถามสถานพยาบาลที่มีการจัดให้ใหม่ได้ที่สายด่วน 1330