แพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด ‘อียู’ สะดุด

แพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด ‘อียู’ สะดุด

ผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) ยังบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ได้ในวันอาทิตย์ (19 ก.ค.) หลังล่วงเข้าสู่วันที่ 3 ของการประชุม EU Summit

นายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิลของเยอรมนี บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า การประชุมล่วงเข้าวันที่ 3 แล้ว แต่การถกเถียงเผ็ดร้อนยังวนอยู่ที่การเรียกร้องของประเทศที่ร่ำรวยแต่ “จ่ายยาก”

เยอรมนีและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศนำในการเจรจาต่อรองในกลุ่ม กำลังพยายามผลักดันข้อตกลงเกี่ยวกับแพ็คเกจฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด มูลค่า 1.8 ล้านล้านยูโร หรือ 2.06 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ EU ซึ่งนับว่ากำลังเผชิญกับการถดถอยครั้งร้ายแรงที่สุดนับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

หลังการเจรจาที่น่าเหน็ดเหนื่อยของบรรดาผู้นำ กลุ่มประเทศที่ค่อนข้าง “มัธยัสถ์” ทางตอนเหนือของยุโรปที่ร่ำรวยกว่าที่อื่นๆ รวมทั้งประเทศเนเธอร์แลนด์ดูเหมือนว่าจะไม่เต็มใจที่จะถอยจากข้อเรียกร้องให้หั่นงบช่วยเหลือจำนวนมากที่ตัวเองเสนอต่อที่ประชุมไป ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงรอยร้าวภายในอียู ระหว่างกลุ่มประเทศทางตอนเหนือและตอนใต้

“มันมีความตั้งใจดีระหว่างกันอยู่มาก แต่ก็หลายจุดยืนด้วย ฉันจะพยายามทำทุกๆ ทางให้บรรลุข้อตกลงให้ได้ แต่มันก็เป็นไปได้เหมือนกันที่จะเราจะไม่สามารถตกลงอะไรกันได้” นายกฯ แมร์เคิลกล่าวในกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม

เมื่อวันเสาร์ (18 ก.ค.) แมร์เคิลและประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส ได้ผละจากการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการไป โดยปฏิเสธที่จะยอมรับการให้การสนับสนุนประเทศที่กำลังเผชิญปัญหาด้านเศรษฐกิจอย่างหนักในแพ็คเกจน้อยกว่า 400,000 ล้านดอลลาร์

ก่อนหน้านั้น นายกรัฐมนตรีจูเซปเป คอนเตของประเทศอิตาลี ได้กล่าวหาประเทศเนเธอร์แลนด์และพันธมิตรรวมทั้งออสเตรีย สวีเดน เดนมาร์ก และฟินแลนด์ ว่า “แบล็คเมล” วงประชุม

ทั้งนี้ รัฐบาลของประเทศอย่างสวีเดนได้เสนอที่จะตัดงบความช่วยเหลือลงเหลือเพียง 155,000 ล้านยูโร

ในการประชุมแบบพบกันของบรรดาผู้นำกลุ่มสหภาพยุโรปนี้เป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ในยุโรป ซึ่งบรรดาผู้นำต่างก็สวมหน้ากาก โดยต่างก็คาดหวังว่าการประชุมครั้งนี้ไม่ได้ก็เสียกันไปเลย หลังจากมีการรวมกลุ่มกันมาเกือบ 70 ปี

เจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองอียู กล่าวว่า ความล้มเหลวในการร่วมมือกันท่ามกลางภาวะวิกฤติด้านสุขภาพและเศรษฐกิจนี้กำลังสร้างคำถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะยังมีการรวมกลุ่มกันในลักษณะนี้ต่อของสหภาพยุโรป

ประธานาธิบดีมาครงกล่าวว่า มันมีความเต็มใจที่จะประนีประนอมกันอยู่ แต่ไม่ควรเบี่ยงเบนไปจาก “ความมุ่งมั่นตามครรลองนิติรัฐที่เราจำเป็นที่จะต้องมี” ซึ่งคำพูดของเขา หมายถึง ระดับของความช่วยเหลือในกองทุนที่วางแผนไว้มูลค่า 750,000 ล้านยูโร ซึ่งอาจจะมาจากทั้งการระดมทุนในตลาดหุ้นหรือการให้ความช่วยเหลือของประเทศในกลุ่ม

นายกรัฐมนตรีมาร์ค รุตเตอของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งกำลังจะลงเลือกตั้งอีกครั้งในปีหน้า กล่าวถึงการปลีกตัวของเยอรมนีกับฝรั่งเศสเมื่อวันเสาร์ว่า “พวกเขาเดินออกไปอย่างน่ารำคาญมาก ความคิดเห็นที่ต่างกันมากในเรื่องนี้ของเรายังมีอยู่”

ฮังการี ซึ่งมีโปแลนด์หนุนหลัง ขู่ที่จะคัดค้านแพ็คเกจที่จะมีกลไกใหม่ที่สนับสนุนโดยเนเธอร์แลนด์และประเทศส่วนใหญ่ในกลุ่ม ซึ่งจะระงับความช่วยเหลือประเทศที่ไม่เคารพประชาธิปไตย

“มันมีจุดยืนที่แตกต่างกันมากจริง ๆ” นายกรัฐมนตรีอันเดรจ บาบิสของสาธารณรัฐเช็ก บอกกับผู้สื่อข่าว “เนเธอร์แลนด์ยืนยันว่าหลักนิติรัฐคือหนึ่งในเครื่องรับประกันสำหรับประเทศในกลุ่มที่จะได้รับความช่วยเหลือ”

ทั้งนี้ ที่ประชุมสุดยอดอียูจะกลับมาหารือเรื่องแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด อีกครั้งในเวลา 19.00 น.วันนี้ (20 ก.ค.) ตามเวลาไทย