‘อีวี’ แห่เปิดตัว รอวันตลาดโต 

‘อีวี’ แห่เปิดตัว รอวันตลาดโต 

สภาพความเป็นจริงของตลาด ต้องยอมรับ อีวี ยังมีขนาดที่เล็กมาก และคงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ที่จะเติบโตจนมีบทบาทหลักในตลาดรถยนต์ไทย แต่อย่างไรก็ตาม อัตราเร่งอาจจะเร็วขึ้นได้ จากการที่มีสินค้าให้เลือกมากขึ้น และเมื่อปัจจัยแวดล้อมมีความพร้อม

รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ “อีวี” ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น และก็มีสินค้าเข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีทั้งรถที่เปิดตัวใหม่ และรถที่ทำตลาดอยู่แล้ว และก็มีบางรุ่นที่จำหน่ายหมดโควตาไปแล้ว อย่างเช่น มินิ คูเปอร์เอส อีวี ที่ได้โควตา 25 คัน และหมดอย่างรวดเร็วหลังเปิดจองผ่านออนไลน์ไม่นาน

ส่วนรถที่ยังมีขายอยู่ และเป็นอีวีที่มียอดขายสูงสุดในขณะนี้อย่าง เอ็มจี แซดเอส อีวี ก็ยังมีบทบาทสำคัญ ส่วนใครที่ไม่ต้องการซื้อ แต่ต้องการใช้ ก็สามารถเช่าได้ เพราะล่าสุด เอ็มจี เพิ่งจะร่วมมือกับ ฮ้อปคาร์ ส่งรถ 40 คัน เข้าไปทำธุรกิจ คาร์ แชร์ริ่ง

แซดเอส อีวี ใช้ แบตเตอรี่ลิเธียม ไอออน ขนาด 44.5 กิโลวัตต์ชั่วโมง ระยะทางใช้งานต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง สูงสุด 337 กม.

เกีย เป็นค่ายที่ทำตลาด อีวี มาหลายปี ในรุ่น โซล อีวี รถที่สามารถใช้งานได้สูงสุด 452 กม.

นิสสัน ลีฟ เป็น อีวี ที่ขายดีที่สุดในโลก ทะลุ 4.5 แสนคันไปแล้วตั้งแต่ช่วงต้นปี จาก 2 เจเนอเรชั่น แต่สำหรับในเมืองไทย การตอบรับไม่ดีนัก นำไปสู่การจัดแคมเปญแรงลดราคา 5 แสนบาท เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

จริงๆ แล้วลีฟ เป็นรถที่พัฒนาขึ้นมาได้ดี สมรรถนะดี การขับขี่ดี อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม.7.9 วินาทีพิกัดใช้งาน 311 กม.

ฮุนได มีอีวี จำหน่ายมากที่สุด 2 รุ่น คือ โคนา ที่ให้อารมณ์สปอร์ตในการขับขี่ กับอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. 7.6 วินาที แบตเตอรี่มีให้เลือกทั้งระยะทางใช้งาน 312 กม. และ 482 กม.

อีกรุ่น คือ ไอออนิค ที่มีระยะการใช้งาน 280 กม. และอีกรุ่นคือ อาวดี อี-ตรอน ที่ช่วงแรกเน้นจับตลาดกลุ่มองค์กร จากัวร์ ไอ-เพซ ส่วนรถเล็กๆ ราคาไม่แรง ก็มีให้เลือกเช่นกัน ก็คือ ฟอมม์

ส่วนผู้ทำตลาดรายใหม่ ส่งรถเข้าไปเปิดตัวในงาน บางกอก อินเตอร์เนชันแนล มอเตอร์ โชว์ มี 2 ยี่ห้อ คือ ทาคาโน (TAKANO) ที่นำเสนอปิกอัพขนาดเล็ก 2 ที่นั่ง ราคา 3.88 แสนบาท จุดเด่นอยู่ที่รถมีน้ำหนักเบา 710 กก. สามารใช้งานได้ 100 กม. ซึ่งก็คงมีเป้าหมายชัดเจนคือ รถที่ใช้ในการทำงาน มีระยะทาง หรือว่าเส้นทางใช้งานที่ชัดเจน 

อีกค่ายที่ลูกค้าในตลาดพรีเมียมรอกันอยู่ หลังจากปีที่แล้ว เอเอเอส ออโต้เซอร์วิส ยืนยันว่าจะทำตลาดแน่ สำหรับ อีวี รุ่นแรกของ ปอร์เช่ คือ ไทคานน์ (Taycan) อีวี ที่เรียกได้ว่าได้รับการตอบรับอย่างมากในตลาดโลก 

สำหรับในไทย เอเอเอส เปิดตัวครบทั้ง 3 รุ่นย่อย คือ ไทคานน์ 4 เอส ราคาเริ่มต้นที่ 7.1 ล้านบาท ไทคานน์ เทอร์โบ เริ่มต้น 9.9 ล้านบาท และไทคานน์ เทอร์โบ เอส 11.7 ล้านบาท

ไทคานน์ กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาว่ามันจะต้องไม่เป็นเพียงแค่รถพลังงานไฟฟ้า แต่มันต้องเป็นปอร์เช่ หมายถึงจะต้องมีสมรรถนะที่ดี มีดีเอ็นเอของปอร์เช่ และสามารถใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน 

จุดเด่นของความเป็น อีวี ของไทคานน์ คือ การติดตั้งระบบไฟฟ้าแรงดันสูง 800 โวลต์ จากปกติที่อีวีทั่วไปจะมีแรงดัน 400 โวลต์ ช่วยให้ลดระยะเวลาที่ใช้ในการชาร์จไฟได้มากหากชาร์จากสถานี highly powered charging points ขณะที่แบตเตอรี่ที่มีขนาดใหญ่ ทำให้รองรับกระแสไฟฟ้าที่สูงขึ้นช่วยให้การชาร์จรวดเร็ว เช่น ถ้าชาร์จด้วยสถานีชาร์จแบบ 800 โวลต์ หากเร่งรีบ ชาร์จแค่ 5 นาที สามารถใช้งานได้ 100 กม. และสามารถชาร์จพลังงาน จาก 5-80% จะใช้เวลา 22.5 นาที

แต่ถ้าชาร์จด้วยสถานีชาร์จขนาด 400 โวลต์ หากเป็นอุปกรณ์ on-board DC charger ที่มีกำลังไฟฟ้า 150 กิโลวัตต์ ซึ่งติดตั้งเป็นมาตรฐานในประเทศไมย หรืออุปกรณ์ on-board alternating current (AC) charger ที่มีกำลังไฟฟ้า 11 กิโลวัตต์ จะใช้ระยะเวลาชาร์จจนเต็มความจุแบตเตอรี่่ ประมาณ 9 ชั่วโมง

ไทคานน์ เทอร์โบ เอส ให้กำลังสูงสุดา 761 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 1,050 นิวตันเมตร และมีฟังก์ชันโอเวอร์บูสต์ ทำงานร่วมกับระบบช่วยออกตัว หรือ ลอนช์ คอนโทรล อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. 2.8 วินาที เทียบเท่ากับ 911 จีที2 อาร์เอส ความเร็วสูงสุด 260 กม./ชม. เดินทางได้ไกลสุด 412 กม. 

ไทคานน์ เทอร์โบ 680 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 850 นิวตันเมตร มาพร้อมโอเวอร์บูสต์ และลอนช์ คอนโทรล เช่นกัน อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. 3.2 วินาที  เดินทางได้สูงสุด 450 กม.

ส่วน 4 เอส ให้กำลังสูงสุด 530 แรงม้า มาพร้อมโอเวอร์บูสต์ และลอนช์ คอนโทรล อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. 4 วินาที เดินทางไกลสูงสุด 407 กม. และลูกค้าสามารถสั่งติดตั้งชุดกักเก็บพลังงาน Performance Battery Plus เพิ่มเติม ช่วยเพิ่มกำลังเป็น 571 แรงม้า และระยะทางเพิ่มขึ้นเป็น 463 กม.

แม้ว่าในสภาพความเป็นจริงของตลาด ต้องยอมรับ อีวี ยังมีขนาดที่เล็กมาก และคงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ที่จะเติบโตจนมีบทบาทหลักในตลาดรถยนต์ไทย แต่อย่างไรก็ตาม อัตราเร่งอาจจะเร็วขึ้นได้ จากการที่มีสินค้าให้เลือกมากขึ้น และเมื่อปัจจัยแวดล้อมมีความพร้อม เช่น จุดชาร์จ หรือว่าความชัดเจนในการกำหนดผู้จำหน่ายไฟฟ้า และการคิดค่าไฟ