การขอรับบริจาค กับความผิดที่ตามมาในยุค 4.0

การขอรับบริจาค กับความผิดที่ตามมาในยุค 4.0

ทำความเข้าใจ "การขอรับบริจาค" ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ.2487 ที่ได้วางบทบาทในการควบคุมเจตนาดีของผู้ขอรับบริจาคไว้ ซึ่งจะมีประเด็นสำคัญอะไรบ้าง ใครบ้างที่สามารถเป็นผู้เรี่ยไรได้ รวมถึงเมื่อได้รับอนุญาตตามกฎหมายจะต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง?

“การขอรับบริจาค” หรือ “การเรี่ยไร” เป็นการกระทำเพื่อวัตถุประสงค์ดีอย่างหนึ่งที่สืบเนื่องจากความเอื้อเฟื้อของผู้คนในสังคม แต่ความหวังดีนี้ จะได้ผลลัพธ์ที่ดีหรือไม่นั้น คงต้องถามถึงเจตนาของผู้ขอรับบริจาคต่อไปอีกว่า “เจตนาและวัตถุประสงค์แห่งการใช้เงิน” ยังคงดีอยู่เช่นเดียวกันหรือไม่

ด้วยเหตุดังกล่าว พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ.2487 จึงมีบทบาทในการวางหลักเกณฑ์เพื่อควบคุมเจตนาดีของผู้ขอรับบริจาค โดยมีกรอบดังนี้

1.ลักษณะของการเรี่ยไรตามกฎหมาย 

มาตรา 4 ได้นิยามคำว่า “การเรี่ยไร” หมายความรวมตลอดถึงการซื้อขาย แลกเปลี่ยน ชดใช้ หรือบริการ ซึ่งมีการแสดงโดยตรงหรือโดยปริยายว่ามิใช่เป็นการซื้อขาย แลกเปลี่ยน ชดใช้ หรือบริการธรรมดา แต่เพื่อรวบรวมทรัพย์สินที่ได้มาทั้งหมดหรือบางส่วนไปใช้ในกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นด้วย ดังนั้น หากการรับบริจาคใดไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการเรี่ยไร แม้ตัวผู้บริจาคจะเต็มใจก็ไม่อาจทำให้ผู้รับบริจาคหลุดพ้นจากความรับผิดนั้น

ตัวอย่างที่เด่นชัด คือ “การขอรับบริจาคมาเพื่อใช้ในการดำรงชีพของตัวเอง” เช่นนี้เข้าข่ายการขอทานซึ่งเป็นเรื่องผิด เพราะปัจจุบันมีพ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน 2559 ห้ามบุคคลใดทำการขอทาน อันหมายความถึงการขอเงินหรือทรัพย์สินจากผู้อื่นเพื่อเลี้ยงชีพ ไม่ว่าจะเป็นการขอวิธีการใด อันทำให้เกิดความสงสารและส่งมอบเงินหรือทรัพย์สินให้ โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.ใครคือผู้มีอำนาจในการอนุญาต

การเรี่ยไรในที่สาธารณะ สื่อสิ่งพิมพ์ หรือสื่อโทรทัศน์ในเขตกรุงเทพมหานครจะต้องได้รับอนุญาตจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย แต่หากเป็นในต่างจังหวัดให้ขออนุญาตที่ที่ว่าการอำเภอ และจะต้องระบุวัตถุประสงค์ วิธีการที่จะเรี่ยไร จำนวนเงินที่ต้องการเรี่ยไร สถานที่ทำการเรี่ยไร รวมถึงต้องระบุระยะเวลาเริ่มต้นและระยะเวลาสิ้นสุดการเรี่ยไรไว้อย่างชัดเจน

หลักเกณฑ์นี้มีขึ้นเพื่อเป็นการควบคุมตรวจสอบการเรี่ยไรในเบื้องต้น และตัดความเสี่ยงอันเป็นช่องทางของ “มิจฉาชีพ” ที่จะเข้ามาหาผลประโยชน์

3.ใครบ้างที่สามารถเป็นผู้เรี่ยไรได้  

หลักการในมาตรา 11 กำหนดชัดแจ้งว่า ผู้ที่ขออนุญาตจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 16 ปีบริบูรณ์ ไม่มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ไม่เป็นโรคติดต่อที่น่ารังเกียจ และไม่เคยต้องโทษฐานลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โจรสลัด กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอกทรัพย์ รับของโจร หรือทุจริตต่อหน้าที่ และพ้นโทษมาแล้วยังไม่ครบ 5 ปี ไม่เป็นบุคคลที่มีความประพฤติหรือหลักฐานไม่น่าไว้ใจ

หลักเกณฑ์ข้อนี้มีขึ้นเพื่อการยืนยันและตรวจสอบตัวตนของผู้ประสงค์จะทำการเรี่ยไร ว่าเป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอหรือไม่ และง่ายต่อการเอาผิดหากมีการทำผิดวัตถุประสงค์ของกฎหมาย

4.เมื่อได้รับอนุญาตตามกฎหมายแล้วจะต้องปฏิบัติอย่างไร 

1) ผู้ได้รับอนุญาตให้ทำการเรี่ยไรต้องมีใบอนุญาตติดตัวอยู่ในขณะทำการเรี่ยไร และต้องให้เจ้าหน้าที่หรือบุคคลผู้ประสงค์จะเข้าส่วนในการเรี่ยไรตรวจดูเมื่อเจ้าหน้าที่หรือบุคคลนั้นเรียกร้อง

2) ต้องออกใบรับให้แก่ผู้บริจาคพร้อมต้นขั้วใบรับไว้เป็นหลักฐาน และให้ผู้จัดให้มีการเรี่ยไรประกาศแจกแจงการใช้เงินทุกครั้งจนกว่าจะปิดยอดบัญชี

3) ห้ามมิให้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่เรี่ยไรได้มานั้นในกิจการอย่างอื่นนอกวัตถุประสงค์แห่งการเรี่ยไรตามที่ได้แสดงไว้ เว้นแต่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายพอสมควรในการเรี่ยไรนั้นเอง

4) เงินหรือทรัพย์สินที่เรี่ยไรได้มานั้น ถ้าไม่ต้องจ่ายเพราะไม่อาจดำเนินการตามวัตถุประสงค์แห่งการเรี่ยไร หรือเหลือจ่ายเพราะเหตุใด ๆ ให้ผู้จัดให้มีการเรี่ยไรรายงานให้คณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ทราบ และให้อำนาจเจ้าพนักงานสั่งให้ใช้เงินไปประกอบการกุศลหรือสาธารณประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดตามแต่เห็นควร

ประเด็นนี้เป็นการย้ำเหตุแห่งการใช้เงิน รวมไปถึงความชอบธรรมในการจัดการเงินตามกรอบกฎหมาย ซึ่งหากไม่กระทำตามจะมีความผิดตามที่กฎหมายกำหนดด้วย

หลักการตาม พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไรฯ ที่กล่าวมาข้างต้นตั้งอยู่บนหลักการเดียวกันกับ “กฎหมายการกุศล ค.ศ 2006 (Charity act, B.C.2006)” ของประเทศอังกฤษ แตกต่างตรงที่กฎหมายการกุศลมุ่งเน้นให้การเรี่ยไรนั้นดำเนินการโดย “มูลนิธิ” หรือ “นิติบุคคล” มากกว่าจะสนับสนุนให้ “ประชาชนทั่วไป” ทำการเรี่ยไร เพื่อให้ง่ายต่อกระบวนการคัดกรอง และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการกระทำผิดโดยปัจเจกชน

จึงเห็นได้ว่าแม้กฎหมายควบคุมการเรี่ยไรของไทยจะออกมาแล้วเป็นระยะเวลานาน แต่หลักการยังคงมีความชัดเจนเพียงพอเมื่อเทียบกับสากล ปัญหาคือ อะไรทำให้การกระทำที่น่าจะเป็นเรื่องที่ดีงามกลับตาลปัตรไปเป็นการก่อให้เกิดความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นกรณีแม่ที่วางยาลูกเพื่อขอบริจาคค่ารักษาพยาบาลที่เป็นข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ จนมาถึงกรณีไลฟ์โค้ชคนดัง คำตอบที่ชัดเจนคือ “ความรู้สึก” เวทนาหรือเมตตาของผู้คนในสังคมที่เปิดโอกาสให้ผู้มีเจตนาไม่ดีใช้ความรู้สึกดังกล่าวนำมาอ้างเพื่อยกเว้นการต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไรฯ กลายเป็นช่องว่างที่นำไปสู่การนำเงินที่ได้ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์

ยิ่งไปกว่านั้น การขอรับบริจาคหากมีการหลอกลวงหรือมีเจตนาในการฉ้อโกงหรือฉ้อโกงประชาชน ก็จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 หรือมาตรา 343 แล้วแต่กรณี รวมไปถึงมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท อีกทั้งอาจจะถูกตรวจสอบทรัพย์สินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอีกด้วย

แม้ตัว พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไรฯ นั้น อาจจะดูเก่าแต่ก็ยังไม่แก่เกินกว่าจะปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ๆ ในยุค 4.0 เพียงแต่ “ผู้ตกเป็นผู้เสียหาย” จากความรู้สึกเวทนาสงสารต้องเข้าใจและนำกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาปรับใช้เพื่อรักษาไว้ซึ่ง “วัตถุประสงค์ที่แท้จริง” แห่งการเอื้อเฟื้อของสังคม อันเป็นการจรรโลงสังคมให้น่าอยู่ยิ่งขึ้นต่อไป