เปิดสิ่งประดิษฐ์กัน 'โควิด-19' ในร่ม

เปิดสิ่งประดิษฐ์กัน 'โควิด-19' ในร่ม

ปัจจุบัน หน้ากาก ล้างมือ และอยู่ห่างๆ กัน กลายเป็นมนตราพูดกันติดปากว่าสามารถลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ได้ ในขณะที่โลกกำลังพัฒนาวัคซีนและการรักษามากำจัดเจ้าไวรัสร้าย

แต่เมื่อผู้คนหลายสิบล้านคนเริ่มกลับมาใช้ชีวิต ทำงาน ไปโรงเรียน จึงเกิดข้อสงสัยว่ามนตราเหล่านี้ช่วยป้องกันโควิดได้มากน้อยแค่ไหน?

บรรดานักวิจัยกำลังค้นหาคำตอบผ่านนวัตกรรมที่จะทำให้การใช้ชีวิตในร่มของเราปลอดภัยขึ้น เหล่านี้คือสิ่งที่มีขายในตลาดแล้ว

 

  • ฟิลเตอร์แอร์ แผ่นกรองอากาศนิเกิล

นักวิทยาศาสตร์กำลังกังวลมากขึ้นเรื่อยๆว่าโควิดอาจกระจายในอากาศได้ไกลกว่า 2 เมตร งานบางงานก่อให้เกิดการระบาดใหญ่ เช่น การร้องเพลงประสานเสียงในรัฐวอชิงตันในฤดูใบไม้ผลิที่ชวนให้สงสัยว่าละอองฝอยขนาดเล็กมากๆ อาจล่องลอยอยู่ในอากาศ

ฟิลเตอร์กรองแอร์ประสิทธิภาพสูง (เอชอีพีเอ) เริ่มผลิตและขายในตลาดในช่วงทศวรรษ 50 ใช้กันมากในโรงพยาบาล เครื่องบิน และในห้องทดลองที่มีการควบคุมการเล็ดลอดทางชีวภาพ โดยใช้พัดลมดูดอากาศผ่านแผ่นกรอง เพื่อคอยดักจับโมเลกุลเล็กๆของเชื้อโรค แต่ในระยะยาวฟิลเตอร์พวกนี้ก็จะเริ่มมีเชื้อโรคสะสม จำต้องทำลายทิ้งในที่สุด

ทีมนักวิจัยของศูนย์ซุปเปอร์คอนดักติวิตี้ เท็กซัส ของมหาวิทยาลัยฮุสตันและห้องทดลองแห่งชาติกัลเวสตัน ได้พัฒนาฟิลเตอร์ที่ทรงประสิทธิภาพชิ้นใหม่ขึ้นจากแผ่นโฟมทำด้วยนิเกิลโดยการผ่านความร้อนถึง 200 องศา นักวิจัยสามารถฆ่าเชื้อโควิดได้ถึง 99.8% เมื่อมันปลิวผ่านแผ่นกรอง แต่ตัวโฟมถูกห่อหุ้มอย่างดี ทำให้ห้องไม่ร้อนไปด้วย

ผลงานวิจัยตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร แมททีเรียล ทูเดย์ ฟิสิกส์เมื่อสัปดาห์ก่อน บริษัทที่ให้ทุนคือเมดิสตาร์ ได้รับอนุญาตจากทางการให้วางขายได้

เมดิสตาร์เผยว่าระบบแผ่นกรองอากาศนี้สามารถติดตั้งได้เครื่องปรับอากาศที่มีอยู่เดิม หรือเป็นระบบเคลื่อนที่ใช้ทั่วห้องก็ได้

"นี่คือนวัตกรรมที่เหมาะสมที่สุด มีศักยภาพมากมายในการต่อสู้กับโควิด-19 โดยเฉพาะเมื่อเริ่มยอมรับกันมากขึ้นว่าโควิดอาจแพร่กระจายในอากาศ” กัง เฉิน ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ ผู้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานวิจัยให้ความเห็นกับสำนักข่าวเอเอฟพี

แต่เนื่องจากพาหะโควิด-19 อาจอยู่ในห้องได้เป็นเวลานาน ประโยชน์ของระบบกรองอากาศจึงขึ้นอยู่กับว่าระบบสามารถในการถ่ายเทอากาศได้มากขนาดไหน

 

  • เทคโนโลยียูวีใหม่

หลอดไฟใช้เฉพาะที่ที่มีรังสียูวีซี ใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และรามานานแล้ว โดยเฉพาะในโรงพยาบาลหรือในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร

แต่การสัมผัสยูวีซีตรงๆ เป็นอันตราย เนื่องจากรังสีที่ไม่มีในแสงธรรมชาตินี้ก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนัง และทำให้สายตามีปัญหา เท่ากับว่ายูวีซีนำมาใช้ได้ก็ต่อเมื่อไม่มีคนอยู่ใกล้ๆ เท่านั้น

คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียทำวิจัยอยู่นานหลายปี เรื่องหลอดไฟยูวีซีชนิดใหม่ที่ความยาวคลื่นถูกลดลงเหลือ 222 นาโนเมตร ซึ่งปลอดภัยสำหรับมนุษย์แต่ยังฆ่าเชื้อโรคได้

เดือนก่อนทีมวิจัยคณะหนึ่งนำโดยนักฟิสิกส์ “เดวิด เบรนเนอร์” ตีพิมพ์รายงานในวารสาร ไซแอนติฟิก รีพอร์ต ระบุว่า ผลงานวิจัยของพวกเขาช่วยฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนาตามฤดูกาลที่พบในละอองฝอยในอากาศได้ถึง 99.9%

เบรนเนอร์กล่าวว่า จริงๆ แล้วพวกเขาต้องการทดลองในสภาพแวดล้อมปกติ เช่นออฟฟิศร้านอาหารเครื่องบิน และโรงพยาบาล

บริษัทญี่ปุ่น “ยูชิโอะ” ได้เริ่มขายหลอดไฟยูวีซีบ้างแล้วในสหรัฐ แต่แจ้งในเว็บไซต์บริษัทว่า ยังต้องศึกษาต่อไปเรื่องความปลอดภัยของแสงจากหลอดไฟหากใช้ในห้องที่มีคน

 

  • การเคลือบป้องกันไวรัส

การสัมผัสไวรัสนำมาซึ่งความเสี่ยง จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงมีคำแนะนำให้ล้างมือบ่อยๆ หรือทำความสะอาดพื้นโดยการฆ่าเชื้อ

การผสมสารเคลือบป้องกันไวรัสในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมีมานานหลายสิบปีแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังใช้กันในโรงพยาบาล

เมื่อเร็วๆ นี้คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแอริโซนา พัฒนาสารเคลือบเป็นวิธีใหม่ป้องกันโควิด-19 ทำจากพอลิเมอร์สารลดแรงตึงผิวพัฒนาโดยบริษัทอัลลี ไบโอไซแอนซ์สามารถลดจำนวนเชื้อที่ใกล้เคียงโควิดบนพื้นผิวถึง 90% ภายใน 10 นาทีทำงานโดยการเปลี่ยนโปรตีนของไวรัส ด้วยการบิดจนผิดรูปแล้วทำลายชั้นไขมันที่คอยปกป้องไวรัส

วิธีใช้ก็ไม่ได้ยากอะไรแค่พ่นสารไร้สีนี้ลงบนพื้นผิว แล้วพ่นซ้ำทุกๆ 3-4 เดือน

"วิธีนี้ไม่ได้มาแทนสารทำความสะอาดหรือสารฆ่าเชื้อที่ใช้กันอยู่ตามปกติ แต่ช่วยปกป้องในระหว่างการฆ่าเชื้อและการทำความสะอาดตามปกติ" ชาร์ล เจอบา นักชีววิทยาโมเลกุล ผู้นำการวิจัยกล่าว ซึ่งงานชิ้นนี้ยังไม่ได้รับการทบทวนจากประชาคมนักวิจัยด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (ซีดีซี) ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ว่า การติดต่อทางพื้นผิวอาจมิใช่สาเหตุหลักของการระบาดเมื่ออย่างที่เคยเข้าใจกัน