‘อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย' แลนด์มาร์ค ‘การเมือง’ ที่ยังมีลมหายใจ

‘อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย' แลนด์มาร์ค ‘การเมือง’ ที่ยังมีลมหายใจ

“อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญในการแสดงออก และชุมนุมทาง "การเมือง" ของไทยตลอดมา สิ่งที่ปรากฏจึงไม่ใช่แค่ความสวยงามของศิลปะการปั้นแบบอนุสรณ์สถานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเรื่องราวการเรียกร้อง หยดน้ำตา และหยาดเลือดที่เคยขึ้นในบริเวณนี้

เมื่อนึกถึง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทุกคนล้วนนึกถึงเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองสำคัญในหลายๆ เรื่อง และนับว่าเป็นการผูกขาดสถานที่แห่งการเรียกร้องไปโดยปริยาย

159514358848

  • เมื่อประชาธิปไตยเบ่งบาน ทำให้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เกิดขึ้น

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2483 ในสมัยรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม โดยถือเป็นมรดกจาก คณะราษฎร กลุ่มสำคัญในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองของไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่การปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางวนเวียนระหว่างถนนราชดำเนินกลางกับถนนดินสอ เริ่มก่อสร้างขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 โดยเป็นดำริการก่อสร้างของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่ต้องการให้มีอนุสรณ์สถานให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึงความสำคัญของประชาธิปไตย และมีการมอบหมายให้ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ควบคุมและดูแลการก่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้

องค์ประกอบส่วนใหญ่ของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนั้น ล้วนมีความหมายแอบแฝงอยู่ โดยปีกทั้ง 4 ด้านของอนุสาวรีย์มีความสูงจากแท่นพื้น 24 เมตร มีรัศมียาว 24 เมตร ซึ่งหมายถึง วันที่ 24 ที่เป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองนั่นเอง นอกจากนี้บริเวณปีกทั้ง 4 ด้าน ยังประกอบไปด้วยลายปั้นนูนที่บ่งบอกถึงเรื่องราวการดำเนินงานของคณะราษฎร ตั้งแต่การนัดหมาย แยกย้าย ตลอดจนถึงก่อนที่จะทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

นอกจากนี้อนุสาวรีย์แห่งนี้ยังประกอบไปด้วย ปืนใหญ่โบราณอีกจำนวน 75 กระบอก โดยที่ปากกระบอกของปืนใหญ่จะฝังลงใต้ดิน ซึ่งหมายถึง ปีที่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากเลข 75 นั่นเอง และบริเวณรอบๆ ฐานของอนุสาวรีย์ยังได้มีโซ่เหล็กคล้องเชื่อมต่อกันไว้ จะเว้นเฉพาะทางขึ้นและทางลงเท่านั้น อันเป็นสัญลักษณ์หมายถึง ความพร้อมเพรียงและความสามัคคีของคณะราษฎร

สำหรับพานทูนฉบับรัฐธรรมนูญ ที่ตั้งอยู่บนยอดของป้อมกลางตัวอนุสาวรีย์ มีความสูง 3 เมตร ซึ่งมีความหมายคือ เดือนสามหรือเดือนมิถุนายน ที่เป็นเดือนของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (ในขณะนั้นยังนับเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปี) และยังหมายถึงอำนาจอธิปไตยทั้งสามภายใต้รัฐธรรมนูญ ได้แก่ อำนาจบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ อีกด้วย

159514361125

ส่วนพระขรรค์จำนวน 6 เล่ม ที่อยู่บริเวณรอบๆ ป้อมของอนุสาวรีย์ มีความหมายถึง หลัก 6 ประการของคณะราษฎรที่ใช้ในการบริหารประเทศ ประกอบด้วย เอกราช ความปลอดภัย เสรีภาพ ความเสมอภาค การศึกษา และเศรษฐกิจ

  • แลนด์มาร์คแห่งการเรียกร้อง

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถือเป็นเครื่องหมายบ่งบอกถึงประชาธิปไตยให้กับสังคมไทย ดังนั้นการชุมนุม ประท้วงเรียกร้องเกี่ยวกับการปกครองจึงเกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้ โดยเหตุการณ์สำคัญไล่ตั้งแต่

159514362242

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือที่รู้จักกันในนาม “14 ตุลา” นั้น เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2516 เยาวชนคนหนุ่มสาวที่เป็นนักเรียนนิสิตนักศึกษา ได้ร่วมกับประชาชนเรือนแสนเรียกร้องให้รัฐบาลคณาธิปไตย ถนอม-ประภาส-ณรงค์ ปลดปล่อยนิสิต นักศึกษา อาจารย์ และนักการเมือง 13 คนที่ถูกจับกุมฐานเรียกร้องรัฐธรรมนูญ แต่กลับถูกรัฐบาลตั้งข้อหาว่ากระทําการผิดกฎหมาย ส่งผลให้ประชามหาชนเดินขบวนสําแดงพลังครั้งยิ่งใหญ่ที่ดูประหนึ่งว่ากระแสคลื่นมนุษย์จักท่วมท้นถนนราชดําเนิน เกิดความรุนแรง เยาวชนคนหนุ่มสาวถูกปราบปรามด้วยอาวุธร้าย เป็นผลให้เกิดการลุกฮือขึ้นทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด และแล้วเผด็จการก็ล้มลง ผู้นำคณาธิปไตย ถนอม-ประพาส-ณรงค์ ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ

159514363282

ถัดมาในยุคสมัยของการเมืองไทยร่วมสมัยอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถูกยึดให้เป็นพื้นที่สีแดงในการชุมนุม ทั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)

ปัจจุบัน หลังการยึดอำนาจของ คสช. อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก็ยังถูกใช้งานในฐานะสถานที่จัดการชุมนุมทางการเมืองอยู่บ้าง แต่ก็มีข้อน่าสังเกตว่าในระยะหลังอนุสาวรีย์มักถูกล้อมรั้วหรือนำกระถางดอกไม้ไปวางเต็มพื้นที่อยู่บ่อยครั้ง หรือแม้ไม่มีการวางกระถางดอกไม้แต่ก็มีการล้อมรั้วกั้นพื้นที่ไว้เฉยๆ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็ดูจะอ่อนไหว และมักห้ามการจัดกิจกรรมบนตัวอนุสาวรีย์ ทั้งที่หากยินยอมให้มีการจัดกิจกรรมบนพื้นที่ดังกล่าวก็น่าจะกระทบต่อการสัญจรของประชาชนน้อยที่สุดเพราะตัวอนุสาวรีย์ตั้งอยู่ใจกลางวงเวียนซึ่งประชาชนทั่วไปไม่ได้เดินผ่านทางไปมา

ดยเหตุการณ์สำคัญคือการชุมนุมในเดือนมิถุนายน 2558 การชุมนุมครบรอบ 9 ปีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 การชุมนุมครบรอบ 2 ปีการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2558 และ 2559 และล่าสุด

คือการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก–Free YOUTH และกลุ่มสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 ที่นับเป็นการชุมนุมที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

ดังนั้นพื้นที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สิ่งที่น่าจดจำจึงไม่ใช่แค่ความสวยงามของศิลปะการปั้นแบบอนุสรณ์สถานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเรื่องราวการเรียกร้อง หยดน้ำตา และหยาดเลือดที่เคยขึ้นในบริเวณนี้

159514366236

159514367315

159514368120

อ้างอิง : 

ความหมายที่ซ่อนอยู่ 'อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย'

เกิดอะไรใน “14 ตุลา” ก่อนมาสู่ชัยชนะสำคัญของประชาชนลุกฮือต้าน “คณาธิปไตย”

1 หมุด 3 อนุสาวรีย์ - การจำกัดเสรีภาพการแสดงออกต่อสัญลักษณ์ประวัติศาสตร์ 2475