แนวคิดวิกฤติสิ่งแวดล้อมของ ‘ฟริตจอฟ คาปร้า’

แนวคิดวิกฤติสิ่งแวดล้อมของ ‘ฟริตจอฟ คาปร้า’

ปัญหาการขาดความสมดุลครั้งใหญ่ในปัจจุบัน เป็นฝีมือมนุษย์ยุคพัฒนาอุตสาหกรรมรอบ 200 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งพยายามเอาชนะมากกว่าที่จะเรียนรู้อยู่กับธรรมชาติ หนึ่งในมุมมองประเด็นวิกฤติสิ่งแวดล้อมของ "ฟริตจอฟ คาปร้า" นักฟิสิกส์และนักคิดเชิงระบบองค์รวม

ฟริตจอฟ คาปร้า นักฟิสิกส์ และนักคิดเชิงระบบองค์รวม เขียนหนังสือเสนอแนวคิดใหม่เชิงปฏิรูปที่น่าสนใจไว้หลายเล่ม เช่น จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษโยงใยที่ซ่อนเร้น - แปลเป็นไทยแล้ว)

เล่มหลังสุด The Systems View of Life: A Unifying Vistion (ทัศนะต่อชีวิตแนวระบบองค์รวมจินตภาพที่รวมทุกอย่างเข้าด้วยกัน) วิเคราะห์ทัศนะทางวิทยาศาสตร์ ชีวิต และสังคม เชื่อมโยงกับปัญหาวิกฤติระบบนิเวศ รวมถึงวิกฤติระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ไว้อย่างมีข้อมูลและข้อคิดที่น่าสนใจ ยิ่งเมื่อเกิดโรคโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤติระบบทุนนิยมข้ามชาติ และวิกฤติสิ่งแวดล้อม/ระบบนิเวศด้วย แนวคิดนี้ยิ่งมีความสำคัญเพิ่มขึ้น

คาปร้า เสนอว่าวิกฤติของระบบนิเวศเกิดจากการที่มนุษย์ในยุคอุตสาหกรรมใช้ทรัพยากรผลิตและบริโภคสินค้า บริการ โดยใช้พลังงานจากฟอสซิล ก่อมลภาวะสูงมากเกินกว่าที่ระบบนิเวศ (ของโลก) จะรองรับและฟื้นฟูตัวเองได้

เขาวิเคราะห์ในเชิงวิวัฒนาการความคิดของมนุษย์ว่า การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ในยุโรป เมื่อราว 300 ปีที่แล้ว ทำให้มนุษย์มองชีวิต ธรรมชาติแบบกลไกอย่างแยกเป็นส่วนย่อยๆ (เหมือนเครื่องจักร) ว่าประกอบไปด้วยธาตุ โมเลกุลต่างๆ ที่อยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่เกี่ยวข้องกับความคิดจิตใจ มนุษย์อาจจะควบคุม ดัดแปลง ใช้ประโยชน์ชีวิต สิ่งต่างๆ ได้ เพื่อเพิ่มผลผลิตสินค้าบริการ สนองความสะดวกสบายของผู้บริโภคได้ พวกเขาอาจคิดว่าจะสามารถเพิ่มผลผลิตไปได้เรื่อยๆ อย่างไม่จำกัด ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว โลกเป็นเพียงดาวดวงหนึ่งที่มีทรัพยากร โครงสร้าง กระบวนการทำงานที่มีขีดจำกัด

“คาปร้า” อธิบายแบบนักวิทยาศาสตร์ผู้สนใจปรัชญาตะวันออกที่ไม่ได้แยกเรื่องวัตถุจากเรื่องจิตใจ ว่าเราควรมองชีวิตและสิ่งต่างๆ ในโลกแบบเป็นกระบวนการ แบบมีความสัมพันธ์เชื่อมโยง พึ่งพากันและกัน อยู่กันเป็นประชาคม ประชาคมในระบบธรรมชาตินั้นพยายามสร้างความสมดุลอย่างมีพลวัต ภายใต้บริบทของสถานที่ กาลเวลา เพื่อความอยู่รอดและดำเนินต่อไป ไม่มีสิ่งใดอยู่เดี่ยวๆ เป็นเอกเทศได้

ในระบบธรรมชาตินั้น สิ่งมีชีวิตทุกอย่าง จุลชีพ พืช สัตว์ รวมทั้งมนุษย์ สัตว์ชนิดพันธุ์หนึ่งอยู่ได้อย่างพึ่งพากันและกัน ให้อาหารและพลังงานแก่กันและกัน ของเสียของสิ่งมีชีวิตหนึ่งกลายเป็นอาหาร พลังงานของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นแบบเกื้อกูลกัน และโลกธรรมชาติอยู่มาได้ด้วยความร่วมมือ พึ่งพากัน มากกว่าการโค่นล้มกัน

สิ่งมีชีวิตอยู่กันแบบประชาคม ร่างกายของมนุษย์ก็คือประชาคมของเซลล์ต่างๆ และมนุษย์ก็อยู่ในประชาคมของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ประชาคมของชีวิตต่างๆ ช่วยกันและกันให้อยู่รอดยืนยงมาได้ตลอดเวลา 4.5 พันล้านปีที่โลกวิวัฒนาการมา แม้ในบางยุคสมัยจะเกิดปัญหาการขาดความสมดุล การทำลายล้างสิ่งมีชีวิตบางอย่างสูญพันธุ์ไปบ้าง แต่ประชาคมต่างๆ ในระบบธรรมชาติของโลกก็สามารถปรับตัวและฟื้นตัวได้อย่างยืดหยุ่น พยายามสร้างความสมดุลขึ้นมาใหม่ ชีวิตส่วนใหญ่ในโลกอยู่รอดและดำเนินต่อไปได้

ปัญหาการขาดความสมดุลครั้งใหญ่ในปัจจุบัน เป็นฝีมือมนุษย์ในยุคการพัฒนาอุตสาหกรรมในรอบ 200 กว่าปีที่ผ่านมา เพราะมนุษย์พยายามเอาชนะธรรมชาติมากกว่าที่จะเรียนรู้อยู่กับธรรมชาติ

“คาปร้า” เสนอว่าถ้ามนุษย์ซึ่งฉลาดกว่าสัตว์อื่นจนได้เป็นผู้ครองโลก เรียนรู้จากกลไกการทำงานธรรมชาติ พยายามสร้างประชาคม สังคม ที่ใช้ชีวิตการผลิต การบริโภค ตามแนวทางการทำงานของธรรมชาติ คือใช้ชีวิตตามความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ไม่โลภ ใช้ทรัพยากรพลังงานมากไป เร็วไป ฟุ่มเฟือยมากไป จนเกิดมลภาวะ ความไม่สมดุล และปัญหาภัยพิบัติต่างๆ

มนุษย์ต้องออกแบบการผลิตและการบริโภคแบบใหม่ ที่มุ่งอนุรักษ์ระบบนิเวศ (Eco Design) เช่น ใช้พลังงานทางเลือกที่สะอาดกว่าแทนพลังงานจากฟอสซิล (ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ) ที่ก่อมลภาวะสูง ออกแบบการผลิต การบริโภคสินค้าให้มีการนำกากของเหลือใช้ไปทำประโยชน์อย่างอื่นได้แบบหมุนเวียน ออกแบบโครงงานอาคารที่ประหยัดพลังงาน การใช้การขนส่งสาธารณะโดยใช้พลังงานสะอาดแทนการใช้รถส่วนตัว ระบบการผลิตและการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ ควรคิดต้นทุนทางธรรมชาติและต้นทุนทางสังคมตามความเป็นจริงด้วย มนุษย์จะได้ไม่ผลิตและบริโภคมากเกินไป เก็บภาษีสิ่งแวดล้อม ภาษีคาร์บอน เพื่อลดการผลิต การบริโภคที่ก่อมลภาวะมากลง

“คาปร้า” วิจารณ์ว่าระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเป็นตัวการที่สำคัญและรัฐบาลต่างๆ ก็ไม่มีความกล้าหาญที่จะปฏิรูป แต่เป็นความผิดของนักคิด นักวิทยาศาสตร์ในยุคการทำให้โลกสว่างด้วยเหตุผล และการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ของโลกตะวันตก มากกว่าที่จะมองว่าเป็นความผิดของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม ที่เน้นการหากำไรสูงสุดของนายทุน และการบริโภคสูงสุดของผู้บริโภค

“คาปร้า” กล่าวไว้นิดหน่อยว่า พวกมาร์กซิสต์และประเทศ (ที่เรียกตัวเอง) สังคมนิยม ก็คิดในเชิงมุ่งแข่งขันพัฒนาอุตสาหกรรมโดยไม่เข้าใจเรื่องธรรมชาติหรือระบบนิเวศด้วยเช่นกัน แต่นักนิเวศวิทยาทางสังคมที่ก้าวหน้าจริงๆ มองว่าสังคมนิยมในอุดมคติแตกต่างจากระบบสังคมนิยมที่ทดลองทำกันมา ซึ่งยังคิดในกรอบเพิ่มการผลิตเพื่อแข่งขันกับโลกทุนนิยมอุตสาหกรรม

ข้อเสนอของ “คาปร้า” และกลุ่มที่คิดแนวเดียวกับเขา ค่อนข้างประนีประนอมกับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมที่ทั่วโลกใช้อยู่ พวกเขาเน้นการแก้ปัญหาเชิงเทคนิคมากกว่าที่จะปฏิวัติ/ปฏิรูประบบเศรษฐกิจสังคมทั้งหมด พวกเขามองในแง่ต้องให้การศึกษาเด็กเยาวชนรุ่นใหม่เข้าใจปัญหานี้และช่วยกันปฏิรูปมากกว่าที่จะคิดในเชิงปฏิวัติทั้งระบบแบบพวกพรรคกรีนหัวก้าวหน้า พวกนิเวศวิทยาทางสังคม พวกสังคมนิยมประชาธิปไตยแนวระบบนิเวศ

อย่างไรก็ตาม สำหรับสังคมไทยซึ่งสนใจและมีความรู้เรื่องนิเวศน้อยมาก แนวคิดของ “ฟริตจอฟ คาปร้า” ก็เป็นประโยชน์ที่น่าจะมีคนแปลมาให้เยาวชนและคนทั่วไปได้อ่านกัน หนังสือเขาออกจะหนา และเป็นวิชาการมาก แต่ก็มีบทความสั้นๆ ที่น่าสนใจ รวมทั้ง คาปร้า” ซึ่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์ Eco liferacy (การรู้ภาษาเรื่องนิเวศวิทยา) ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง พยายามเน้นเรื่องการให้การศึกษาเรื่องนิเวศวิทยาแก่เด็กและเยาวชนที่เขาน่าจะเรียนรู้อย่างยิ่ง

ตัวอย่างของ“เกรต้า” เด็กผู้หญิง สวีเดน อายุ 14 ปี ที่ลุกขึ้นมาประท้วงเรื่องที่ผู้ใหญ่ทำลายสิ่งแวดล้อม จนเป็นข่าวไปทั่วโลก ทำให้นึกถึงเด็กวัยรุ่นของไทยที่นอกจากไม่รู้ภาษาเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังไม่รู้ภาษาในเรื่องชีวิตสังคมและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (ทั้งธรรมชาติและสังคม) ที่ควรรู้อีกหลายเรื่อง เพราะระบบการศึกษาอบรมเลี้ยงดูของไทยเป็นแบบจารีตนิยมที่ล้าหลัง นิยมสอนแบบท่องจำ ฝึกทักษะบางอย่างเพื่อไปทำงานแบบกลไกในระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม ไม่ได้สอนให้คนเข้าใจชีวิต ธรรมชาติ สังคม อย่างเป็นองค์รวม และรู้จักวิเคราะห์เรื่องความสัมพันธ์พึ่งพาของสรรพสิ่งต่างๆ อย่างเชื่อมโยงกัน