'ประยุทธ์' ลั่นคุมทีมเศรษฐกิจ 'ประวิตร' ดอดพบส่งโผพปชร.- ชี้เก้าอี้มท.แล้วแต่นายกฯ

'ประยุทธ์' ลั่นคุมทีมเศรษฐกิจ 'ประวิตร' ดอดพบส่งโผพปชร.- ชี้เก้าอี้มท.แล้วแต่นายกฯ

นายกฯ ปัด “ประวิตร” ดอดพบส่งรายชื่อโผ ครม. พรรค พปชร. ยันไม่ได้มาขอเก้าอี้เพิ่ม-งานหนักอยู่แล้ว ยอมรับคนนอกปฏิเสธรับตำแหน่ง เผย “ประสาร” ครอบครัวไม่อนุญาต ส่วน “ปรีดี” ยังต้องรอคำตอบ ลั่นคุมทีมเศรษฐกิจเอง

พล.อ.ประวิตร เผย เก้าอี้มหาดไทย แล้วแต่นายกฯ พิจารณา ระบุเก้าอี้ว่าง เป็นโควตานายกฯ ส่วนสื่อญี่ปุ่นวิเคราะห์ ทีมเศรษฐกิจลาออกสะเทือนรัฐบาล นักธุรกิจห่วงนโยบายเศรษฐกิจเปลี่ยน 

ความเคลื่อนไหวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญ ทดแทนรัฐมนตรีกลุ่ม 4 กุมาร รวมทั้งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ยกทีมลาออก โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ระบุถึงกรอบเวลาในการสรรหาบุคคลมาทดแทนไม่เกินเดือน ส.ค.นี้ เนื่องจากอยู่ระหว่างรอคำตอบจากคนนอกที่กำลังทาบทาม

วานนี้ (17 ก.ค.) เวลา 15.25 น. พล.อ.ประยุทธ์ ตอบข้อถามผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงความคืบหน้าว่า รายชื่อรัฐมนตรีใหม่ทั้งหมด อยู่ในหัวหมดแล้ว แต่ในการทาบทามบุคคลต่างๆ ไปนั้นก็ต้องให้เวลา เขาต้องมีเวลาในการคิด และยืนยันว่าขั้นตอนจนถึงวันนี้ ยังไม่ทำอะไรเลย ไม่ว่าการกรอกคุณสมบัติหรืออะไรก็ตาม วันนี้ตนแค่ติดต่อ ถามว่ายินดีที่จะมาร่วมกันทำงานไหม ซึ่งหลายคนก็บอกว่าบ๊ายบาย

ทั้งนี้ ไม่ได้ปรับเล็กหรือปรับใหญ่ ไม่ถึง 50% ส่วนพรรคร่วมฯ ไม่มี ไม่เกี่ยว และพรรคร่วมก็ไม่ได้แสดงเจตนารมณ์ว่าจะปรับ ตนได้พูดคุยแล้ว

 “ประวิตร” ดอดพบ-ไม่ขอเก้าอี้เพิ่ม

ส่วนคำถามว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ยังนั่งเก้าอี้เดียวเหมือนเดิมหรือจะควบตำแหน่งใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ท่านไม่มี ท่านไม่ได้ต้องการไปที่ไหน ท่านก็งานหนักขึ้นอยู่แล้ว และได้ก็พูดกับผมว่า ที่ท่านอยู่นี้ก็เพื่อช่วยงานผมในด้านการเมือง และก็ไม่ได้ต้องการตำแหน่งอะไรอีก ท่านก็ตอบไปแล้วนี่ จะมาถามย้ำกันอีกทำไม วันนี้ผมตอบให้แล้วนะ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ พล.อ.ประวิตร ได้เข้าพบนายกฯ บนตึกไทยคู่ฟ้า ก่อนที่นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ขึ้นตามไป แต่ไม่ได้เข้าร่วมฟังการหารือ นายกฯ บอกว่า ที่ พล.อ.ประวิตร พบนั้นเพราะมาประชุมที่ตึกบัญชาการ ไม่ค่อยได้เจอกัน และไม่ได้ขึ้นมาส่งรายชื่อรัฐมนตรีในโควตาพรรคพลังประชารัฐตามที่มีกระแสข่าวแต่อย่างใด
“แค่มาทานข้าวกัน มาประชุมที่นี่ ก็เลยมากินข้าวด้วยกัน พูดคุยกันเรื่อยเปื่อย”
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ากินข้าวอร่อยไหม นายกฯ กล่าวว่า “กินก๋วยเตี๋ยว”

“ประวิตร” ชี้เก้าอี้ มท.แล้วแต่นายกฯ

ก่อนหน้าเข้าพบนายกฯ พล.อ.ประวิตร รองนายกฯและหัวหน้าพรรค พปชร.ตอบคำถามที่ทำเนียบฯถึงกรณีที่ พปชร.จะหารือกก.บห.เรื่องปรับครม.วันที่ 21 ก.ค.นี้ว่า ก็ว่ากัน ซึ่งหัวหน้าพรรคต้องคุยกันกับทุกคน
พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า 3 รัฐมนตรีกลุ่ม 4 กุมารที่ลาออกไปเป็นโควตาของนายกฯ เป็นเรื่องของนายกฯ
ส่วนกระแสข่าวจะมีการสลับเก้าอี้ระหว่าง พล.อ.ประวิตร กับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “โหย ไม่มี แล้วแต่นายกฯ ไม่รู้ ไม่มี ไม่ย้าย”

เมื่อถามการปรับครม. ครั้งนี้จะปรับแค่ในส่วนของ พปชร.ใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร ตอบกลับว่า “ฟังไม่รู้เรื่องหรือ บอกว่าเป็นเรื่องของนายกฯ”

เมื่อถามว่าขณะนี้สถานการณ์ภายในพรรคเรียบร้อยดีใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “เรียบร้อยดี ไม่มีอะไร” 

นายกฯ ลั่นคุมทีมเศรษฐกิจเอง

กรณีนายกฯ ยังจำเป็นต้องมีหัวหน้าทีมเศรษฐกิจใหม่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ฟังนะ ในเมื่อนายกฯ เป็นฝ่ายเศรษฐกิจแล้ว นายกฯ ก็ต้องดูแลทุกกระทรวง อะไรที่มีรายได้นายกฯ สั่งการได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องมาหารือกัน ซึ่งต้องเข้าใจว่า เมื่อก่อนนี้มันต่างกันที่ เศรษฐกิจมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้คุม ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มีจากการจัดตั้งเป็นกรณีพิเศษ ท่านก็สามารถจัดการประชุมและสั่งการได้ทุกกระทรวงแต่วันนี้กระทรวงเศรษฐกิจหลายกระทรวงไปอยู่ในสัดส่วนพรรคร่วมรัฐบาล แต่ผมเป็นผู้คุมทั้งหมด"

"ดังนั้นเมื่อนายกฯ เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ไม่ใช่ว่าผมเก่งเศรษฐศาสตร์ หรือเก่งด้านอะไร แต่ผมต้องการเอาทุกอย่างมาพิจารณา และวิเคราะห์ ศึกษา และปรึกษากับที่ปรึกษา ที่มีหลายภาคส่วนด้วยกัน วันนี้ทั้งหมดเราต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จำเป็นต้องเอาคนที่มีความรู้มาเสริมด้วย จะได้เหมาะกับห้วงเวลานี้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ส่วนทีมเศรษฐกิจที่จะเข้ามาใหม่ เน้นงานด้านใดเป็นหลัก พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ต้องเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ต้องฟื้นฟูโดยเร็ว วันนี้การฟื้นฟูงานด้านเศรษฐกิจบางทีต้องใช้ทั้งนักเศรษฐศาสตร์ การเงินการธนาคารมาช่วยกัน อีกทั้งสิ่งที่ตนได้ไปรับฟังจากภาคเอกชน และกลุ่มสมาคมต่างๆ รวมถึงภาคประชาชนและสื่อ จึงต้องทำทั้งหมด มาประมวลและแจกจ่ายงานให้ทีมเศรษฐกิจ ว่าจะต้องทำงานอะไรกันบ้าง

ดังนั้นคณะทำงานของเราที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจ จะต้องใช้ทั้งคณะทำงานที่ปรึกษาทำงานร่วมกับครม.เศรษฐกิจแล้วไปขับเคลื่อนงานด้านเศรษฐกิจ ดังนั้น ครม.เศรษฐกิจก็คือทีมของรัฐบาล ทุกอย่างจะได้หลากหลายมากขึ้น

สำหรับรองนายกด้านเศรษฐกิจ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ แต่มีก็ดี ซึ่งตนก็ดูทั้งหมดอยู่แล้ว เผยรอคำตอบ “ปรีดี ดาวฉาย”

สำหรับคณะที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจที่เคยพูดคุยกับนายกฯ มีความเป็นไปได้ที่จะมาร่วมทีมเศรษฐกิจหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ก็มีชื่อที่ออกมาบ้าง และยอมรับว่าได้มีการทาบทามนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย แต่ก็ต้องรอดูว่า จะตอบรับมาว่าอย่างไร ต้องรอก่อน แต่ยอมรับว่าเศรษฐกิจต่อจากนี้หนักแน่นอน เราจึงต้องเลือกคนให้ตรงกับสถานการณ์ปัจจุบัน ส่วนที่มีข่าวว่าชื่อนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล นั้น นายกฯ ตอบว่า ครอบครัวไม่อนุญาต

ส่วนนายทศพร แม้ไม่อยากมา วันนี้ก็ต้องช่วยงาน เพราะเป็นข้าราชการอยู่ เมื่อถามว่า นายกฯ ยังคงควบเก้าอี้ รมว.กลาโหมหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ทำไมละ ผมมีปัญหาอะไร ไม่มี วันนี้ผมควบม้าอยู่ วันนี้ทุกอย่างยังเหมือนเดิม”

เมื่อถามย้ำว่าทุกอย่างเรียบร้อย เหลือเพียงขั้นตอนธุรการใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “อย่ามาซักเรื่อยเปื่อย ย้ำว่าวันนี้อยู่ในขั้นตอนการติดต่อ บางคนก็ตอบแล้วบางคนยังไม่ตอบ บางคนก็ขอกลับไปปรึกษาครอบครัวก่อน สิ่งสำคัญที่สุดคือครอบครัว”

ผู้สื่อข่าวถามว่า ยืนยันได้หรือไม่ว่า การปรับ ครม. ครั้งนี้จะเสร็จสิ้นภายในเดือน ส.ค. พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “เป็นไปตามนั้นการปรับครม.ครั้งนี้ให้ความหวังกับประชาชนได้ว่า เราจะทำทุกอย่างให้ดีขึ้น และที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีความบกพร่องเสียหายอะไร เพียงแต่ว่าสถานการณ์หลายอย่างมันกดทับเข้ามา ทั้งสถานการณ์ภายนอกประเทศ ทั้งภูมิภาค เติมเรื่องโควิดเข้ามา”“อย่างที่บอก หลายอย่างอยู่ในช่วงแก้ปัญหา ดังนั้นคนแก้ปัญหาเปลี่ยนหน้ากันไป ประชาชนก็อาจรู้สึกดีขึ้น เราต้องไปหาความรู้สึกประชาชนด้วย แต่อย่าไปโทษคนเก่า เพราะการทำงานร่วมกันไม่ได้การจากตายเสียเมื่อไหร่ เราก็อยู่กันด้วยดี รัฐมนตรีที่ลาออกทั้ง 4 ท่านเขาก็ดีกับผม ไม่ได้มีการพูดจาอะไรเสียหาย เรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์กันผมก็ฟัง แต่ก็ยังวิจารณ์และพูดกันไม่เลิก จนกว่ามีการจัดตั้ง ครม.เสร็จ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว แบ่งงาน รมต.แทนเก้าอี้ว่างอังคารนี้


วันเดียวกัน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตอบข้อถามผู้สื่อข่าวถึงตำแหน่งรัฐมนตรีที่ว่างลงว่าในที่ประชุม ครม.วันที่ 21 ก.ค.นี้ นายกฯจะสั่งการใหม่ จะปล่อยว่างไม่ได้ ส่วนตำแหน่ง รมว.คลัง ไม่มีปัญหา เพราะมี รมช.คลัง รักษาการอยู่

ด้านความเคลื่อนไหว พปชร. นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) และรองหัวหน้า พปชร.เปิดเผยว่า วันที่ 21 ก.ค.จะมีการประชุมกรรมการบริหารพรรค และพูดคุยถึงการปรับ ครม.ในส่วนของพรรคเชื่อว่าจะสามารถตกลงตามกติกาของพรรค  เมื่อได้รายชื่อแล้วจะผ่านการพิจารณาของหัวหน้าพรรคเเล้วเสนอต่อไปยังนายกรัฐมนตรี   ‘ประสาร’ไม่รับตำแหน่งรองนายกฯ

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวยอมรับว่า นายกรัฐมนตรีได้ทาบทามให้มารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเพื่อดูแลงานด้านเศรษฐกิจจริง ซึ่งได้กล่าวขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี และปฎิเสธที่จะไม่รับตำแหน่งไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เจ้าตัวปฎิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุของการไม่รับตำแหน่งดังกล่าว

เช่นเดียวกับนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า เรื่องที่ปรากฏเป็นข่าวว่าตอบรับเข้าร่วม ครม.ไม่เป็นความจริง ยังคงปฏิบัติหน้าที่เป็นเลขาธิการ สศช.ตามปกติ และยังมีภารกิจสำคัญที่ต้องดูแลและกลั่นกรองโครงการและแผนงานเงินกู้ 4 แสนล้านบาทให้แล้วเสร็จ  

โผล่าสุดพปชร.ชูหัวหน้าพรรคยึดมท.

ผู้สื่อข่าวรายงานโผ ครม.ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ทาบทามล่าสุด นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร โดยคาดว่าจะนั่ง รมว.พลังงาน ส่วนนายปรีดีนั่ง รมว.คลัง  มีรายชื่อนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาฯ กสทช.คาดว่าจะนั่ง รมว.ดีอีเอส ส่วนกระทรวงที่มีแนวโน้มจะเป็นปัญหา คือ กระทรวงพลังงาน ที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ต้องการทวงคืน และหากทำสำเร็จ อาจขยับนายสันติ พร้อมพัฒน์ ไปนั่ง รมว.อุตสาหกรรมแทน และดันนายอนุชา นาคาศัย ไปนั่งรมช.คลังแทนนายสันติ

ขณะที่ มท.มีความพยายามของกลุ่ม ส.ส.ผลักดันให้ พล.อ.ประวิตร ไปควบมหาดไทยเพื่อดูแลงานท้องถิ่น เพื่อเตรียมรับการเลือกตั้งท้องถิ่น และคุมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเสนอให้โยก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ไปเป็น รมว.กลาโหมซึ่งสูตรนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกฯ ส่วนโควตา พปชร.นายสุชาติ ชมกลิ่น จอง รมว.แรงงาน โดยจะแลกโควตากับ รปช. ที่เสนอชื่อนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ให้ไปนั่ง รมว.อุดมศึกษาฯ

นักธุรกิจญี่ปุ่นห่วงนโยบายศก.เปลี่ยน

เว็บไซต์นิกเคอิเอเชียนรีวิวของญี่ปุ่นรายงานว่า ฉากหน้าของการลาออกของ รมต.เศรษฐกิจคือการแสดงความรับผิดชอบที่เศรษฐกิจไทยตกต่ำ แต่อีกมุมหนึ่งก็มองได้ว่า เป็นความแตกแยกของพรรคการเมือง เป็นไปได้ว่าคนที่มารับตำแหน่งแทนเป็นคนจากพรรคพลังประชารัฐแกนนำรัฐบาลหรือคนใกล้ชิด

นิกเคอิระบุว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถวายสัตย์เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2562 หลังเลือกตั้งเมื่อเดือน มี.ค.2562 แต่เศรษฐกิจที่สูญเสียแรงส่งอย่างกะทันหันท้าทายฝีมือรัฐบาลเลือกตั้งที่มีรากเหง้ามาจากคณะรัฐประหาร

ตั้งแต่โควิด-19 ระบาดไทยต่ออายุ พรก.ฉุกเฉิน 3 ครั้ง พรก.นี้ลดบทบาทของคณะรัฐมนตรีและสภาลง แต่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีมากถึงขนาดจำกัดสิทธิประชาชนได้

เมื่อวันที่ 9 ก.ค. นายกฯ เตือนว่า อาจปรับ ครม.เร็วกว่าที่คิด ซึ่งการลาออกของ 4 รมต.บีบให้พล.อ.ประยุทธ์ต้องทำเช่นนั้น

นิกเคอิกล่าวถึงนายสมคิดว่าได้รับแต่งตั้งจากพล.อ.ประยุทธ์ ในปี 2558 ให้เป็นรองนายกฯ ดูแลเศรษฐกิจ ตั้งแต่นั้นทีมของเขาก็เป็นศูนย์กลางกำหนดนโยบายเศรษฐกิจไทย และอยู่ต่อมาตั้งแต่คณะรัฐประหารมาเป็น ครม.จากการเลือกตั้ง

นายสมคิดเคยเป็นรองนายกฯ และรัฐมนตรีคลังสมัยรัฐบาลนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร จากปี 2544-2549 และเป็นที่ปรึกษาด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจต่างประเทศให้กับพล.อ.ประยุทธ์หลังรัฐประหารปี 2557 ได้ไม่นาน

สำหรับเศรษฐกิจไทยนั้นเคยเติบโตดีกว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2560 และ 2561 แต่เสื่อมถอยนับจากนั้น ปี 2562 จีดีพีไทยโต 2.4% ต่ำกว่าจีดีพีโลกที่โต 2.9%

ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ว่า เศรษฐกิจไทยที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะหดตัวลง 8.1% ในปีนี้ผลจากโควิดระบาด เทียบกับเศรษฐกิจโลกที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่าหดตัว 4.9%

ผลกระทบรุนแรงที่ไทยได้รับจากโควิด-19 สะท้อนว่าประเทศพึ่งพาความต้องการจากภายนอก รวมทั้งการท่องเที่ยวและการส่งออก เป้าหมายเศรษฐกิจประการหนึ่งของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์คือเปลี่ยนเศรษฐกิจประเทศจากเน้นการส่งออกมาเน้นการบริโภคภายในประเทศ แต่การเปลี่ยนแปลงไม่เร็วพอกำราบการแพร่ระบาดได้

ตั้งแต่ปี 2558 ไทยใช้นโยบายประเทศไทย 4.0 ตั้งใจเปลี่ยนจากพึ่งพาอุตสาหกรรมหนักไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งนายสมคิด เป็นกลไกสำคัญในการคิดแผน บริษัททั้งในและต่างประเทศต่างลงทุนไปกับประเทศไทย 4.0

“เราหวังว่าประเทศไทย 4.0 และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะเดินหน้าต่อไปไม่ต้องคำนึงถึงการปรับ ครม. เจซีซียังหวังด้วยว่าธนาคารแห่งประเทศไทยภายใต้ผู้ว่าฯ คนใหม่จะเดินหน้าลดการแข็งค่าของเงินบาท” นายนาโอกิ ซากาโมโต เลขาธิการหอการค้าญี่ปุ่น (เจซีซี) ประจำกรุงเทพฯ กล่าว.