‘วอชอีซี่’ โมเดลสตาร์ทอัพ ซักผ้าง่ายๆ ไร้เงินสด

‘วอชอีซี่’ โมเดลสตาร์ทอัพ ซักผ้าง่ายๆ ไร้เงินสด

“เปลี่ยนเพนพ้อยท์ให้เป็นธุรกิจ”โมเดลเริ่มต้นกิจการของสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ โดยมีเทคโนโลยีรูปแบบต่างๆ เป็นเครื่องมือการทำงาน เช่นเดียวกับ “วอชอีซี่”สตาร์ทอัพน้องใหม่จากรั้ว มข.ประยุกต์ใช้“ไอโอที”สร้างกล่องควบคุมเครื่องซักผ้าหรือเครื่องอบผ้าและจ่ายผ่านแอพฯ

การันตีไอเดียด้วยรางวัลหลากหลายจากการประกวดแผนธุรกิจสตาร์ทอัพ ทั้งในระดับมหาวิทยาลัย ระดับภูมิภาคและระดับประเทศ เช่น 10 ทีมสุดท้ายของโครงการ Startup Thailand League 2560, 3 ทีมสุดท้ายของโครงการ Startup Innovation Apprentice 2560, รางวัลชนะเลิศ Pitching Day Startup Start Now KKU 2561, ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Ted Fund) ล่าสุดทุนสนับสนุนจากธนาคารออมสินในโครงการ GSB Smart SMEs Smart Startup และ โครงการ Startup pitching day for KKU เพื่อพัฒนาต่อยอดธุรกิจในเชิงพาณิชย์ จัดขึ้นโดยอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ต่อยอดวิทยานิพนธ์เป็นธุรกิจ

คุณัญญา ยุปาระมี กรรมการผู้จัดการบริษัท​ วอชอีซี่​ จำกัด เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นการทำธุรกิจเกิดจากประสบการณ์ขณะกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์พบความไม่สะดวกในการใช้บริการเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ เช่น เครื่องไม่ว่าง เหรียญไม่พอจ่าย จึงขบคิดหาทางแก้ไขแล้วนำแนวคิดเข้าร่วมประกวดโครงการต่างๆ เพื่อหาทุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระทั่งเมื่อจบการศึกษาจึงได้เปิดเป็นบริษัทร่วมกับ “ปภวรินท์ ศรีมีชัย” เพื่อนร่วมสถาบัน

159499800850

ทีมงานประยุกต์ใช้ความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีไอโอที ซึ่งเชื่อมต่ออุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ สู่โลกอินเทอร์เน็ต ทำให้สามารถควบคุมการใช้งานผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบกล่องแล้วนำไปติดกับเครื่องซักผ้าและเครื่องอบ พร้อมทั้งพัฒนาซอฟต์แวร์สั่งการควบคุมเครื่องผ่านกล่องไอโอที

ผู้ใช้สามารถสั่งซักผ้าและชำระเงินผ่านแอพพลิเคชั่น สามารถค้นหาเครื่องที่ใกล้ที่สุด ตรวจสอบสถานะเครื่องว่างหรือไม่ว่างแบบเรียลไทม์ เครื่องไหนมีการจองคิวอยู่ หรือเครื่องไหนไม่ได้ใช้งาน และบอกเวลาซักผ่านสมาร์ทโฟน ทั้งยังแจ้งเตือนเมื่อทำงานเสร็จและการสะสมแต้มเพื่อรับสิทธิพิเศษต่างๆ

159499804753

ส่วนเจ้าของเครื่องซักผ้าสามารถเช็คสถิติการใช้เครื่อง ยอดเงินที่ได้รับแต่ละเครื่อง ยอดเงินรวมทั้งหมด โดยแสดงการใช้งานและยอดเงินในรูปแบบกราฟ อีกทั้งการแจ้งเตือนหากเครื่องขัดข้องในกรณีต่างๆ เช่น น้ำไม่ไหล ฝาถังปิดไม่สนิท ไฟดับ เครื่องเสีย หรือน้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่มหมด ทำให้ทั้งผู้ใช้และเจ้าของเครื่องลดขั้นตอนยุ่งยากในการดูแลและติดตามสถานะของเครื่อง

กล่องไอโอทีนี้จะเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ที่ลงทุนมากขึ้น โดยไม่ต้องไปเก็บเหรียญตามเครื่องซักผ้า มีความปลอดภัยด้านการเงิน ไม่เกิดความเสี่ยงที่จะถูกงัดตู้หยอดเหรียญ หรือความเสี่ยงจากการทุจริตของพนักงาน เพราะคุณไม่สามารถรู้ได้เลยว่า กล่องหยอดเหรียญมีเงินจริงอยู่เท่าไหร่ ขณะที่ระบบอัตโนมัตินี้จะจัดการเงินให้เข้าบัญชีโดยตรง และยังเพิ่มรายได้มากขึ้นจากการลดช่วงเวลาที่ผู้ใช้ทิ้งผ้าไว้ในเครื่อง เพราะระบบจะแจ้งเตือนไปยังมือถือของผู้ใช้ทันที รวมทั้งเพิ่มรายได้จากการจองคิวซักผ้าที่ต่อเนื่อง ทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องเสียเวลารอคิว”

159499807244

รายได้ของบริษัทมาจากการจำหน่ายกล่องไอโอทีประมาณ 4,000 บาทและค่าบริการดูแลระบบ 1 บาทต่อการซัก เช่น เมื่อลูกค้าซักผ้า 40 บาทเจ้าของเครื่องจะได้ 39บาท บริษัทจะได้ 1 บาท จากการคำนวณเบื้องต้นที่มีจำนวนการซักผ้า 10 ครั้งต่อวันต่อเครื่อง ในการลงทุนนี้ใช้เวลาคืนทุนประมาณ 2 เดือน

พื้นที่บ่มเพาะสตาร์ทอัพ

อรพรรณ สุวรรณวิจิตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านสื่อสารและบริการสังคม อุทยานวิทยาศาสตร์ มข. กล่าวว่า อุทยานฯ ตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งกำเนิดผู้ประกอบการรายใหม่ที่กำลังจะเริ่มต้นธุรกิจ หรือสร้างสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรม โดยมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับทั้งอุปกรณ์เครื่องมือ พื้นที่อาคาร ห้องปฏิบัติการและองค์ความรู้ อีกทั้งเป็นหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการหรือนักลงทุนรุ่นใหม่ได้เข้าใช้นวัตกรรม แล้วนำองค์ความรู้ที่ได้ไปต่อยอดธุรกิจและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับประเทศ

159499809461

พื้นที่แห่งนี้ยังมีสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่เติบโตโดยการสนับสนุนจากสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผ่านกลไกอุทยานฯ ที่ให้บริการพื้นที่และให้คำปรึกษาด้านธุรกิจสำหรับนักศึกษา สตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี ก่อเกิดเป็นระบบนิเวศนวัตกรรมที่สร้างความเข้มแข็งในพื้นที่ภาคอีสาน