ปตท.สผ.หวั่น 'เอราวัณ' สะดุด ชง 'พลังงาน' หนุนเข้าพื้นที่

ปตท.สผ.หวั่น 'เอราวัณ' สะดุด  ชง 'พลังงาน' หนุนเข้าพื้นที่

ปตท.สผ.ชงรัฐหนุนเปิดทางเข้าพื้นที่ตั้งแท่นผลิตแหล่งเอราวัณให้ได้ตามแผนไตรมาส 3 หวั่นล่าช้ากระทบอัตราการผลิตก๊าซขั้นต่ำ 800 ล้านลูบบาศก์ฟุต รัฐสูญรายได้ กระทบการลงทุน-จ้างงานกระตุ้นเศรษฐกิจแสนล้านบาท “พลังงาน”จ่อนัดเจรจา 3 ฝ่าย

การประมูลแหล่งเอราวัณภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ที่มีผู้รับสัญญา คือ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับพันธมิตร คือ บริษัท เอ็มพี จี 2 (ประเทศไทย) จำกัด ในนามมูบาดาลาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งผู้รับสัญญาต้องมีเวลาเตรียมการอย่างน้อย 3 ปี ก่อนสัญญาสัมปทานเดิมของ บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จะหมดในเดือน เม.ย.2565

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า ปตท.สผ.ยังเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณไม่ได้ตามแผน แม้ว่า ปตท.สผ.จะบรรลุข้อตกลงเข้าพื้นที่ระยะที่ 1 กับเชฟรอนฯ ตั้งแต่เดือน ส.ค.2562 แต่เป็นการเข้าพื้นที่สำรวจด้านสิ่งแวดล้อมและสำรวจพื้นผิวอื่นเท่านั้น

ทั้งนี้ ผู้รับสัมปทานปัจจุบันขอให้แยกการขอเข้าพื้นที่เพื่อกิจกรรมส่วนที่เหลือไปตกลงระยะที่ 2 เช่น การติดตั้งแท่นหลุมผลิต การเจาะหลุมผลิตบนแท่นใหม่ และการเชื่อมต่อท่อเข้ากับแท่นหลุมผลิต ซึ่งยังบรรลุข้อตกลงไม่ได้เพราะเชฟรอนฯ เปลี่ยนท่าทีและมีเงื่อนไขการบรรลุข้อตกลงกับการที่ตัวเองจะกลับเข้าพื้นที่มาทำงานรื้อถอนหลังสัมปทานหมดอายุ

รวมทั้งเชฟรอนฯยังให้รายละเอียดแผนงานการรื้อถอนไม่ได้ เพราะกำลังทำรายละเอียดเสนอกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยการดำเนินกิจกรรมจริงจะเกิดขึ้นหลังจากสัมปทานหมดอายุในปี 2565 ซึ่งการไม่มีรายละเอียดของแผนงานทำให้การเจรจาข้อตกลงเข้าพื้นที่เป็นไปไม่ได้

ปตท.สผ.พยายามเจรจาหาข้อสรุปข้อตกลงการเข้าพื้นที่ระยะที่ 2 ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรัฐและผู้รับสัมปทานปัจจุบันยังอยู่ระหว่างเจรจาหลักประกันและรื้อถอนที่ยังไม่ยุติ

รวมทั้งที่ผ่านมา ปตท.สผ.แจ้งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและเชฟรอนฯ ถึงความเร่งด่วนของการบรรลุข้อตกลงเข้าพื้นที่ระยะที่ 2 เพราะจะทบการอนุมัติแผนงาน แผนการลงทุนและการจัดซื้อจัดจ้างแต่ไม่เป็นผล

“ปตท.สผ.และมูบาดาลาในฐานะผู้ร่วมทุนกังวลความล่าช้านี้ จะกระทบการผลิตช่วงรอยต่อ การลงทุนและการจ้างงานในประเทศ ซึ่งหากไม่ใช่อำนาจรัฐ การเจรจาก็ดูจะไปต่อยาก”

ชง“พลังงาน”เปิดทางเข้าพื้นที่

ดังนั้น สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะทำงานและผู้บริหารของ ปตท.สผ.ได้หารือกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลสัญญา PSC โดยขอให้พิจารณาเร่งด่วนใช้อำนาจอนุมัติให้ ปตท.สผ.เข้าพื้นที่ไปติดตั้งแท่นหลุมผลิต การวางท่อ และการเจาะหลุมผลิตบนแท่นใหม่ ซึ่งเป็นการทำงานในทะเลเปิดที่ไม่กระทบระบบการผลิตของเชฟรอนฯ โดย ปตท.สผ.และผู้ร่วมทุนมั่นใจว่าอยู่ในอำนาจของรัฐสั่งการอนุมัติได้เพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงาน

นายพงศธร กล่าวว่า ปตท.สผ.เตรียมดำเนินกิจกรรมที่จำเป็นเพื่อให้ผลิตก๊าซจาก 2 แหล่ง (บงกช-เอราวัณ) ได้ตามสัญญา PSC และตามแผนการลงทุนปี 2562-2563 ที่ได้รับอนุมัติจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติแล้ว เช่น การจ้างผู้รับเหมาสร้างแท่นหลุมผลิต ซึ่งจะเกิดเงินทุนหมุนเวียนหลายพันล้านบาทและเกิดการจ้างงาน อีกทั้งจัดซื้อจัดจ้างกิจกรรมที่จำเป็นรวมมูลค่าทางเศรษฐกิจเกือบแสนล้านบาท

ดังนั้น หาก ปตท.สผ.เข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณไม่ได้ตามแผนในไตรมาส 3 ปี 2563 จะกระทบแผนงานงานปี 2563 ต้องเลื่อนไป และอาจมีผลต่อการลงทุนตามสัญญา PSC ที่กำหนดผูกพันปริมาณการผลิตก๊าซขั้นต่ำ 10 ปีแรกของการผลิตหลังสิ้นสุดสัมปทานเดิมช่วงปี 2565-2566 ต้องไม่ต่ำกว่า 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไปด้วย

หวั่นกระทบแผนติดตั้งแท่น

ทั้งนี้ ตามแผนงานปี 2563 ปตท.สผ.ตั้งเป้าหมายได้รับอนุมัติให้เข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ เพื่อเสนอแผนงานละเอียดกับเชฟรอนฯ ในการเข้าพื้นที่ เนื่องจากเชฟรอนฯ ต้องการเวลาหลายเดือนพิจารณารายละเอียดก่อนเข้าพื้นที่ได้จริงในช่วงไตรมาส 3 ถึงไตรมาส 4 ปี 2563 เพื่อเตรียมงานและอุปกรณ์ติดตั้งแท่นและเจาะหลุม 

ขณะที่ไตรมาส 1 ถึงไตรมาส 4 ปี 2564 ปตท.สผ.จะเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นหลุมผลิต 150 หลุม และเชื่อมต่อท่อเข้ากับระบบเดิมของเชฟรอนฯ

ทั้งนี้เดิม ปตท.สผ.มีแผนเปิดประมูลหาผู้รับเหมาแท่นผลิตล็อตที่ 2 ซึ่งเป็นล็อตใหญ่ไตรมาส 2 แต่ต้องชะลอการลงทุนเพราะไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการเข้าพื้นที่ระยะที่ 2 ได้ และทำให้การประมูลแท่นผลิตล็อตที่ 2 ของแหล่งบงกชชะลอด้วย เพราะต้องเปิดประมูลพร้อมกันทั้ง 2 แหล่ง

ที่ผ่านมา ปตท.สผ.ใช้ความพยายามจนบรรลุข้อตกลงการเข้าพื้นที่ระยะที่ 1 ภายใต้กรอบระยะเวลาที่ตกลงกับรัฐ และเข้าไปสำรวจด้านสิ่งแวดล้อมเสร็จตามแผนในพื้นที่เปิด ซึ่งไม่กระทบต่อการผลิตของเชฟรอนฯ

สำหรับการบรรลุข้อตกลงการเข้าพื้นที่ระยะที่ 2 กับเชฟรอนฯ ถือว่าสำคัญต่อความพร้อมผลิตก๊าซให้ต่อเนื่องแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

1.กิจกรรมที่ทำในทะเลเปิด ไม่เข้าไปในระยะใกล้กับแท่นที่กำลังผลิตอยู่ จึงไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราการผลิตของผู้รับสัมปทานปัจจุบัน ได้แก่ การติดตั้งแท่นหลลุมผลิตใหม่ การวางท่อ การเจาะหลุมผลิตบนแท่นที่ติดตั้งใหม่ การวางท่อในพื้นที่เปิด

2.กิจกรรมที่กระทบกับการผลิตปัจจุบัน ได้แก่ การวางท่อข้ามท่อปัจจุบัน การเชื่อมต่อท่อเข้ากับแท่นหลุมผลิตปัจจุบัน (Wellhead Platform)

“พลังงาน”จ่อนัดเจรจา3ฝ่าย

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นและพร้อมทำหน้าที่ประสานงานระหว่างผู้รับสัมปทานปัจจุบันและผู้รับสัมปทานใหม่ โดยจะนัดหมายมาหารือร่วมกัน 3 ฝ่ายเร็วๆนี้ เพื่อให้การผลิตก๊าซช่วงรอยต่อไม่สะดุด

“เรื่องนี้ เราต้องช่วยอยู่แล้ว ก็จะเข้ามาเป็นคนกลางทำหน้าที่เจรจาให้ได้ข้อสรุปร่วมกันทั้ง2ฝ่ายโดยเร็ว เพื่อไม่ให้กระทบต่อแผนการเข้าพื้นที่ของ ปตท.สผ.”

ส่วนกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะมีอำนาจสั่งการให้ ปตท.สผ.เข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณหรือไม่นั้น หากยึดตามสัญญา PSC ก็อาจมีอำนาจ แต่ต้องพิจารณาข้อกฎหมายให้ครบถ้วนก่อนและต้องพูดคุยร่วมกันทั้ง 3 ฝ่ายให้ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม หากการเจรจาข้อตกลงการเข้าพื้นที่ ระยะที่ 2 ล่าช้า จนกระทบต่อแผนงานของ ปตท.สผ.เชื่อว่าด้านความมั่นคงทางพลังงานจะไม่มีผลกระทบ ส่วนรายได้ของรัฐคงไม่ได้สูญเสียทั้งหมด และอาจทยอยเข้ามาตามอัตราการผลิต

ก่อนหน้านี้ นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในฐานะผู้ดำเนินการแหล่งเอราวัณปัจจุบัน กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านของแหล่งเอราวัณต้องใช้ความร่วมมือทุกฝ่ายเพื่อให้การผลิตต่อเนื่องและพร้อมทำงานร่วมกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ 

รวมทั้งคาดใช้เวลาไม่นานที่จะลงนามข้อตกลงเข้าพื้นที่ระยะที่ 2 ซึ่งจะสนับสนุนให้ ปตท.สผ.เข้าพื้นที่เพื่อทำกิจกรรมที่ซับซ้อน เช่น การติดตั้งแท่นหลุมผลิต การขุดเจาะหลุม