โควิดฉุดกำไร 'TISCO' โค้งสองวูบ 25%

โควิดฉุดกำไร 'TISCO' โค้งสองวูบ 25%

“ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป” เผยไตรมาส 2 ปี 63 กำไรสุทธิลดลง 25.8% อยู่ที่ 1.33 พันล้าน จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 1.79 พันล้าน ผลพวงโควิดระบาด ฉุดเศรษฐกิจในประเทศหดตัวหนัก ด้าน “บัตรกรุงไทย” กำไรสุทธิ 1.14 พันล้าน ลดลง 13.15% จากไตรมาส2/62

นายสุทัศน์ เรืองมานะมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยเศรษฐกิจยังคงหดตัวสูง แม้การควบคุมโรคภายในประเทศจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ แต่ก็ยังไม่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติ

สำหรับปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,333.38 ล้านบาท ลดลง 25.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 1,798.15 ล้านบาท เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจและปัญหาการชำระหนี้ของลูกหนี้ โดยรายได้รวมหดตัว 6.2% ส่งผลให้ผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก 2563 มีกำไรสุทธิ 2,819.44 ล้านบาท ลดลง 20.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 3,527.75 ล้านบาท

ทั้งนี้เงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 30 มิ.ย.2563 มีจำนวน 228,165 ล้านบาท ลดลง 4.1% จากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.28% ทั้งนี้ บริษัทมีระดับเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) อยู่ที่ 155%

นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC  กล่าวว่า  ไตรมาส 2 ปี 2563  บริษัทมีกำไรสุทธิ อยู่ที่ 1,149.15 ล้านบาท  ลดลง 13.15% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 1,323,26 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบโควิด-19 ส่งผลงวด 6 เดือนแรกปีนี้ มีกำไรสุทธิ 2,790.29 ล้านบาท  ลดลง 4.20% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่  2,912.68 ล้านบาท  โดยช่วงครึ่งปีแรก 2563 บริษัท มีปริมาณการ ใช้จ่ายผ่านบัตรลดลง 9.6% คิดเป็นมูลค่ารวม 90,613 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราที่ดีกว่าอุตสาหกรรมในช่วงระยะเวลา 5 เดือน ประกอบกับบริษัทให้ความสำคัญกับการควบคุมค่าใช้จ่ายทางการเงิน และการบริหารคุณภาพพอร์ตลูกหนี้มาอย่างต่อเนื่อง 

ทำให้รายได้หนี้สูญได้รับคืนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ และพอร์ตลูกหนี้ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.3%  ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวม (NPL) ภายใต้มาตรฐานใหม่ TFRS 9 อยู่ที่ 6.6% เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวม (ยอดลูกหนี้การค้ารวม) เท่ากับ 83,486 ล้านบาท

“การดำเนินงานของบริษัทในไตรมาสที่ 2 และครึ่งแรกของปี 2563 ยังคงความสามารถในการหารายได้และการสร้างผลกำไร แม้ว่าการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบกับคุณภาพสินทรัพย์และปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรของบริษัทที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หากสถานการณ์โดยทั่วไปดีขึ้นและมีการผ่อนคลายมาตรการลง ผู้บริโภคได้เริ่มปรับตัวกลับมาใช้จ่ายดีขึ้นตามลำดับ ทำให้ช่วงครึ่งแรกของปี 2563”

บริษัทฯ ประเมินว่าหากเหตุการณ์ระบาดของโควิด-19 ไม่ส่งผลถึงระดับที่รัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณามาตรการที่เข้มข้นมากอีก เชื่อว่าไตรมาสที่สองนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบด้านคุณภาพสินทรัพย์มากที่สุดแล้ว อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลังจากนี้ การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัว และอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหากมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของโควิด-19 อีกครั้ง