ธปท.ผ่อนเกณฑ์ ‘คลินิกแก้หนี้’ ขยายเวลาก่อน 1 ก.ค.63-เปิดทาง ‘กู้เพิ่ม’

ธปท.ผ่อนเกณฑ์ ‘คลินิกแก้หนี้’ ขยายเวลาก่อน 1 ก.ค.63-เปิดทาง ‘กู้เพิ่ม’

“แบงก์ชาติ” ผ่อนเกณฑ์คลินิกแก้หนี้ หวังเปิดทางลูกหนี้เข้าโครงการมากขึ้น โดยขยับช่วงเวลาเป็นหนี้เสียก่อน 1ก.ค.63 พร้อมผ่อนเกณฑ์ห้ามก่อหนี้ใหม่ 5 ปี โดยผู้ที่ผ่อนชำระแล้วเกินครึ่งหนึ่งสามารถกู้เงินเพิ่มได้

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการคลินิกแก้หนี้เห็นชอบให้ปรับปรุงเงื่อนไขของโครงการ 2 เรื่อง เพื่อขยายความช่วยเหลือลูกหนี้ในวงกว้างมากขึ้น

ด้านแรก ได้ปรับคุณสมบัติผู้สมัครเข้าโครงการ จากเดิมผู้สมัครต้องเป็นหนี้เสีย หรือ "เอ็นพีแอล" ก่อนวันที่ 1ม.ค.2563 มาเป็น 1 ก.ค. 2563 เพื่อขยายความช่วยเหลือรองรับลูกหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น จากผลกระทบโควิด-19 ซึ่งคาดว่าหลังจากปรับเงื่อนไง ลูกหนี้น่าจะสมัครเข้าโครงการจำนวนมาก

ด้านที่สอง มีการปรับเกณฑ์ ห้ามก่อหนี้ใหม่ให้ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยให้ผู้เข้าโครงการที่สามารถผ่อนชำระเงินต้นได้อย่างน้อย 50% สามารถขอสินเชื่อใหม่ได้ จากเดิมห้ามผู้เข้าโครงการ ก่อหนี้ใหม่ภายใน 5 ปี โดยการปรับเกณฑ์ในครั้งนี้มุ่งหวังเพื่อจูงใจให้ลูกหนี้สมัครเข้าโครงการมากขึ้น เพราะบางส่วนกังวลเรื่องห้ามก่อหนี้ใหม่ 5 ปี อีกทั้งเพื่อจูงใจให้ลูกหนี้เร่งชำระหนี้คืน หรือชำระหนี้เมื่อมีเงินก้อนถ้ายังพอมีความสามารถ

ด้านที่สาม มีการปรับมาตรการระยะที่ 2 ให้ดีขึ้น เพื่อรองรับกลุ่มที่เป็นเอ็นพีแอล โดยผู้ให้บริการทางการเงิน จะต้องจัดให้มีช่องทางหรือกลไกแก้ไขหนี้ ในลักษณะเดียวกับคลินิกแก้หนี้ รวมทั้งการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ที่เอื้อต่อการผ่อนชำระเช่นเดียวกับ โครงการคลินิกแก้หนี้ ดังนั้น หากลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย นอกจากจะสมัครเข้าโครงการแล้ว ยังสามารถขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรนกับผู้ให้บริการทางการเงินได้

ทั้งนี้ หากมองไปข้างหน้า ผลกระทบโควิด-19 จะส่งผลให้มีลูกหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล มีแนวโน้มกลายเป็นหนี้เสียมากขึ้น ดังนั้นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จะเป็นทางออก เพื่อช่วยป้องกัน ไม่ให้ปัญหาหนี้บัตรของลูกหนี้รายย่อยจำนวนมาก ลุกลามกลายเป็นวิกฤตหนี้รายย่อยที่อาจจะมีการฟ้องร้องดำเนินคดี ยึดทรัพย์ในวงกว้าง ซึ่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดขึ้นไม่สามารถประเมินเป็นตัวเงินได้

ด้านนายนิตย มาศะวิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทบริหารสินทรัยพ์สุขุมวิท จำกัด  (SAM) กล่าวว่า การปรับเกณฑ์คลินิกแก้หนี้ ของธปท.ครั้งนี้ น่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ใหม่จำนวนมาก ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 และลูกหนี้ใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาสามารถเข้าโครงการได้ เพราะก่อนหน้า มีลูกหนี้บางส่วนที่ไม่ผ่านคุณสมบัติ เพราะเป็นหนี้เสีย หลัง ม.ค.2563 จึงเชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยแก้ปัญหาหนี้เสียให้กับลูกหนี้ได้มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ คาดว่า จะมีลูกหนี้จำนวนมาก ยื่นขอเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ หลังปรับเกณฑ์ โดยมีโอกาสที่จะเห็นลูกหนี้ลงนามเข้าโครงการสำเร็จในปีนี้ เกิน 10,000ราย หรือมีโอกาสไปถึงระดับ 15,000 ราย หรือเพิ่มขึ้น 3 เท่า หากเทียบกับปัจจุบัน ที่มีจำนวนลูกหนี้เข้าโครงการสะสมแล้ว 6.2 พันราย ทั้งนี้หากนับตั้งแต่ต้นปี จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีลูกหนี้ที่ยื่นความจำนงขอเข้าโครงการราว 3 หมื่นราย โดยเซ็นสัญญาเข้าโครงการแล้ว 3 พันราย และอยู่ระหว่างลงนามเพิ่มอีก 1.7 พันราย โดยหนี้ส่วนใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่ 2.8 แสนบาทต่อคน หรือต่อคนมีหนี้ 3 บัตร

“ผลกระทบจากโควิด-19 มา คลินิกแก้หนี้ก็มีการปรับเกณฑ์ด้านดอกเบี้ยด้วย โดยลดดอกเบี้ยลงเหลือ 2-5% จากเดิมที่ 4-7% และเรายังพักหนี้ให้ถึง 6 เดือนจนถึงก.ย. นี้"

นอกจากนี้ บริษัทยังได้นำสินทรัพย์รอการขาย หรือเอ็นพีเอ ออกมาลดราคามากขึ้น สูงสุด 30% เป็นกรณีพิเศษ ในช่วงโควิด -19 หรือภายในแคมเปญ “Final Call”ลดสะใจ โอกาสสุดท้ายก่อนปรับราคา ระหว่างวันที่ 20-31 ก.ค. 2563 ซึ่งเป็นการขายสินทรัพย์รอการขายที่ยิ่งใหญ่สุดในรอบ 20 ปี ดังนั้น ในช่วงที่ราคาสินทรัพย์มีราคาถูก ซึ่งน่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ซื้อมากขึ้น ทั้ง ที่ดินเปล่า คอนโด บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ อาคารพาณิชย์ ฯลฯ อีกทั้งยังมีโปรโมชั่นพิเศษ เช่น ฟรีค่าโอน 0.5-1%และGift Card มูลค่าถึง 5 หมื่นบาทด้วย

โดยบริษัทตั้งเป้าหมายในการขายสินทรัพย์รอการขายปีนี้ ราว 2.5 พันล้านบาท จากสินทารัพย์ คงค้างที่มีกว่า 2 หมื่นล้านบาท หรือราว 3 พันรายการ