‘ธนารักษ์’ดึงที่ราชพัสดุ เพิ่มสัดส่วนบริหารเอง10%

‘ธนารักษ์’ดึงที่ราชพัสดุ  เพิ่มสัดส่วนบริหารเอง10%

“ธนารักษ์” ตั้งเป้าดึงที่ราชพัสดุจากส่วนราชการกลับมาบริหารเองในสัดส่วน 10% ภายใน 2 ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 4% หวังเพิ่มรายได้ส่งเข้าคลังเป็น 2 หมื่นล้าน จากปัจจุบันที่ 1 หมื่นล้าน 

นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า กรมฯวางแผนดึงที่ราชพัสดุที่อยู่ในมือของส่วนราชการ มาบริหารจัดการเอง เพื่อให้การพัฒนาที่ราชพัสดุเกิดประโยชน์สูงสุด โดยปัจจุบันที่ดินราชพัสดุที่อยู่ในการบริหารจัดการของกรมฯโดยตรงมีอยู่ประมาณ 4% ของที่ดินราชพัสดุทั้งหมด 12.5 ล้านไร่ ตั้งเป้าเพิ่มขึ้นเป็น 10% ภายใน 1 -2 ปีข้างหน้า พร้อมประเมินว่า เมื่อนำที่ราชพัสดุดังกล่าวมาบริหารจัดการได้ดียิ่งขึ้นแล้ว จะทำให้กรมฯสามารถมีรายได้ส่งเข้าคลังได้มากขึ้นราวปีละ 2 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

“ปัจจุบันที่ราชพัสดุ ที่อยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์ทั่วประเทศมีอยู่ 12.5 ล้านไร่ ในจำนวนนี้อยู่ในความครอบครองและบริหารจัดการของส่วนราชการต่างๆมากถึง 96% มีเพียง 4% เท่านั้นที่เป็นที่ราชพัสดุที่กรมธนารักษ์ สามารถบริหารจัดการได้ด้วยตัวเอง”

ทั้งนี้ แนวทางในการดำเนินการเพื่อให้ถึงเป้าหมายดังกล่าว กรมธนารักษ์จะให้ส่วนราชการประเมินความคุ้มค่าของการใช้ที่ดินที่ตัวเองครอบครอง โดยใช้ราคาประเมินเป็นบรรทัดฐานว่า มูลค่าที่ดินที่ส่วนราชการนั้นๆ กับภารกิจที่ส่วนราชการนั้นทำอยู่ มีความคุ้มค่าในแง่ของประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมเพียงใด ซึ่งกรมฯจะต้องกำหนดมาตรฐานความคุ้มค่าขึ้นมาเพื่อเป็นตัวอ้างอิง ปัจจุบันมีส่วนราชการหลายแห่งปล่อยที่ดินในครอบครองให้รกร้างโดยเปล่าประโยชน์เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ ตามพ.ร.บ.ที่ราชพัสดุที่เพิ่งปรับปรุงใหม่ในปี 2562 ได้กำหนดให้รัฐวิสาหกิจ ที่เคยใช้ที่ราชพัสดุโดยไม่เสียค่าเช่า จะต้องจ่ายค่าเช่าให้กับกรมธนารักษ์ ซึ่งขณะนี้กรมฯอยู่ในระหว่างการออกกฎกระทรวงตามกฎหมายดังกล่าว เพื่อวางแนวปฏิบัติ คาดว่ากฎกระทรวงดังกล่าวจะสามารถออกมาใช้ได้ภายในเดือนก.ย.นี้ ส่งผลให้รัฐวิสาหกิจที่ครอบครองที่ดินจำนวนมากเพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งครอบครองที่ดินทั่วประเทศราว 1 ล้านไร่ จะขอคืนที่ดินให้กรมฯไปบริหารจัดการเอง 5 แสนไร่ ซึ่งก่อนหน้านี้ กฟผ.ได้คืนที่ดินให้กรมฯแล้ว 1.5 หมื่นไร่

“ทุกส่วนราชการที่ครอบครองที่ดินจะต้องดำเนินการประเมินต้นทุนและความคุ้มค่าของการใช้ประโยชน์ในที่ดินของตนเอง ให้เสร็จภายในปีหน้า”

เขายังกล่าวอีกว่า การจัดการใช้ประโยชน์ในที่ดินของส่วนราชการ ยังรวมไปถึงกรณีที่ส่วนราชการนำที่ดินบางส่วนของตนเอง ไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เช่น ให้ร้านสะดวกซื้อเช่าใช้ประโยชน์ ซึ่งส่วนราชการอาจมองว่าเป็นการให้บริการบุคลากรภายในหน่วยงานของตนเองและประชาชนที่มาใช้บริการ แต่เป็นเรื่องที่ก้ำกึ่งระหว่างการให้บริการกับการหาประโยชน์เชิงพาณิชย์ ดังนั้น ต้องจ่ายค่าเช่าที่ดินให้กับกรมฯด้วย