ฟื้นตัวเร็วกับกองทุน‘หุ้นกลาง-เล็ก’

ฟื้นตัวเร็วกับกองทุน‘หุ้นกลาง-เล็ก’

ภาพรวมของตลาดหุ้นไทย อิงจากดัชนี SET ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ค่อนข้างดี แต่เมื่อดูภาพรวมตั้งแต่ต้นปี ดัชนี SET ยังคงติดลบราว 14% (ณ 16 ก.ค.) ซึ่งการปรับตัวลงมาในปีนี้ ดูเหมือนว่าจะถูกกดดันโดยหุ้นขนาดใหญ่มากกว่า

ในขณะเดียวกันดัชนีตลาด MAI ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มหุ้นขนาดเล็ก ทำผลงานได้ค่อนข้างดีกว่าในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา โดยดัชนีสามารถฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้จนเหลือติดลบเพียง 3.7%

จากตัวเลขข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กของไทยในปีนี้ ทำผลงานได้ค่อนข้างจะดีกว่าหุ้นขนาดใหญ่ และเมื่อพิจารณาจากผลตอบแทนของกองทุนที่ลงทุนในหุ้นเหล่านี้อย่าง กองทุนเปิด ทิสโก้ Mid/Small Cap หุ้นระยะยาว (TMSLTF) ล่าสุด สามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ 1.97%

กลยุทธ์ของกองทุน TMSLTF จะเน้นลงทุนในหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอและ/หรือมีแนวโน้มการจ่ายเงินปันผลที่ดี ซึ่งธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตมั่นคง โดยเป็นหุ้นที่จดทะเบียนใน SET และ/หรือ MAI โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ราว 293.5 ล้านบาท โดยกองทุน TMSLTF จัดเป็นกองทุนประเภท Active Fund ซึ่งมุ่งหวังผลประกอบการที่สูงกว่าดัชนีชี้วัด

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นกองทุนประเภท Active Fund แต่เมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนหมุนเวียนการลงทุนของกองทุนรวม (Portfolio Turnover Ratio หรือ PTR) ซึ่งอยู่ที่ 0.92 สะท้อนให้เห็นว่าการปรับพอร์ตของกองทุนไม่ได้บ่อยมากนัก

พอร์ตการลงทุนของ TMSLTF (ณ 29 พ.ค. 2563) มีการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีสัดส่วนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ บมจ.เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ (MAGE) สัดส่วน 6.40% บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) สัดส่วน 5.91% บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) สัดส่วน 5.59% บมจ.โรงพยาบาลราชธานี (RJH) สัดส่วน 5.21% และ บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) สัดส่วน 5.12%

หากพิจารณาการลงทุนเป็นแต่ละอุตสาหกรรม ปัจจุบันกองทุนลงทุนในกลุ่มพาณิชย์ มากที่สุด 16.12% รองลงมาคือ กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 10% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ 9.05% กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม 8.56% และกลุ่มบรรจุภัณฑ์ 7.69%

สำหรับผลตอบแทนของกองทุนที่ผ่านมา ปี 2559 ทำได้ 12.33% ปี 2560 ทำได้ 21.65% ปี 2561 ติดลบ 20.85% และปี 2562 ทำได้ 8.67% โดยที่ผลการดำเนินงานของกองทุนในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ต่างเคลื่อนไหวมากกว่าดัชนีชี้วัดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นปีที่บวกหรือลบ โดยรวมแล้วกองทุนมีผลตอบแทน 20.65% นับแต่จัดตั้งกองทุน

ด้านความเสี่ยงของกองทุนที่ผ่านมาเคยมีผลขาดทุนสูงสุด 26% ขณะที่ความผันผวนของผลการดำเนินงานอยู่ที่ 18.40% ต่อปี โดยความผันผวนนี้เพิ่มขึ้นมาราว 6% ในปีนี้ ขณะที่ค่าระดับความเสี่ยงของกองทุนอยู่ในระดับ 6 จากทั้งหมด 8 ระดับ จัดเป็นกองทุนประเภทเสี่ยงสูง

ในส่วนของค่าใช้จ่ายกองทุนปัจจุบันอยู่ที่ 2.14% ต่อปี โดยมีค่าธรรมเนียมส่วนของการขายอยู่ที่ 1% แต่การรับซื้อคืนไม่มีการเรียกเก็บ

โดยภาพรวมกองทุน TMSLTF มีจุดเด่นจากการที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ค่อนข้างดีกว่าดัชนีชี้วัดในยามที่ตลาดดี แต่ในขณะเดียวสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นจุดด้อยคือ ในยามที่ตลาดติดลบ ผลการดำเนินงานของกองทุนก็ติดลบมากกว่าตลาดค่อนข้างมากเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ผลการดำเนินงานของกองทุน TMSLTF ในระยะสั้นนี้ถือว่าค่อนข้างน่าสนใจ จากการเป็นหนึ่งในกองทุนที่ค่อนข้างโดดเด่นในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา โดย NAV ของกองทุนฟื้นตัวกลับขึ้นมาอยู่ที่ 12.0647 บาทต่อหน่วย คิดเป็นผลตอบแทน 32.71%