ธอส.ห่วง ‘เอ็นพีแอล’ พุ่ง จ่อตั้งสำรองเพิ่ม 5 พันล.

ธอส.ห่วง ‘เอ็นพีแอล’ พุ่ง จ่อตั้งสำรองเพิ่ม 5 พันล.

ธอส. ยอมรับแนวโน้มหนี้เสียพุ่ง เตรียมตั้งสำรองเพิ่มอีกกว่า 5 พันล้านบาท คาดทั้งปีแตะระดับ 4.75% จากสิ้นปีก่อนที่ 4.09% เผยพิษโควิดทำรายได้ลูกค้าวูบ หั่นเป้าสินเชื่อใหม่ปีนี้เหลือ 1.7 แสนล้าน จากเดิม 2.1 แสนล้าน ขณะ กำไรปีนี้ส่อเหลือ 7 พันล้าน

นายฉัตรชัย ​ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) เปิดเผยว่า ธอส.เตรียมตั้งสำรองหนี้เสียเพิ่มในปีนี้อีก 5 พันล้านบาท เพื่อรองรับปัญหาหนี้เสียที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่(โควิด-19)ที่กระทบต่อรายได้ของผู้กู้ ทำให้​คาดว่า ปีนี้ทั้งปี ​ระดับหนี้เสียของธอส.จะอยู่ที่​ 4.75% ทั้งนี้ ลูกค้าของ​ธอส. ในสัดส่วน 40% เป็นผู้มีอาชีพอิสระ​ที่มีรายได้น้อย

ดังนั้น เพื่อรองรับหนี้เสียที่อาจจะเพิ่มขึ้นได้​ ธอส.จึงได้วางแผนสำรองเพิ่มเติม​ โดยในระยะ 5 เดือนที่เหลือของปีนี้​ จะสำรองลูกค้าที่อยู่ในโครงการลดผลกระทบโควิด-19 ทั้ง 8 มาตรการ​ รวมเป็นวงเงินสำรอง​ 2.5 พันล้านบาท​ และสำรองตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)อีกเดือนละ ​500 ล้านบาท

โดยระดับหนี้เสียของธนาคาร​ณ​สิ้นไตรมาสที่สองของปีนี้อยู่ที่​ 4.52% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีที่แล้วที่อยู่ที่​ 4.09%ของสินเชื่อรวม ทั้งนี้ ระดับหนี้เสียขอธอส.ในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมากระโดดขึ้นไปอยู่ที่​ 4.71% ก่อนที่จะปรับลดมาอยู่ที่​ 4.52% ณ ​สิ้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม​ ปัจจุบันฐานะของ​ ธอส​. ยังถือว่า มีความมั่นคง​ โดย​ ณ​ พ.ค.ที่ผ่านมา เงินสำรองต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่​ 15.35%สูงกว่าเกณฑ์ของ​ ธปท.​ ที่ตั้งไว้ไม่ต่ำกว่า​ 8.5%

เขากล่าวว่า​ หากมีการแพร่ระบาดโควิด-19รอบสอง​ อาจจะส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า​ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ยังสามารถชำระหนี้ได้ตามปกติในปัจจุบันยังไม่ได้เข้าโครงการช่วยลดผลกระทบจากโควิด-19ของธอส​. ซึ่งทั้งหมด 8 มาตรการ​ รวมมีวงเงินกู้ที่เข้ามาตรการช่วยเหลือ​ 4.8แสนล้านบา​ท​

อย่างไรก็ตาม​ ธอส.​ ได้อนุมัติขยายระยะเวลาการพักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยของลูกค้าที่เข้าโครงการ(มาตรการที่5)​ไปอีก 3 เดือนสิ้นสุดในปลายเดือนต.ค.นี้ เพื่อลดผลกระทบลูกค้าที่รายได้ยังไม่กลับคืนปกติ

เขากล่าวด้วยว่า จากผลกระทบโควิด​-19 ทำให้​ธอส.ได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลังให้ปรับลดเป้าหมายการขยายสินเชื่อเหลือ​ 1.7 แสนล้านบาท​จากเดิมอยู่ที่​ 2.1แสนล้านบาท​ และลดเป้าหมายกำไรลงเหลือ​ 7 พันล้านบาท​ จากเป้าเดิม​ 1.3 หมื่นล้านบาท

สำหรับยอดการปล่อยสินเชื่อ ณ​ สิ้นไตรมาสที่สองของปีนี้​ปล่อยได้​ 1.009 แสนล้านบาท​ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน​ 12.99% ผลมาจากมาตรการลดดอกเบี้ยเงินกู้ของ​ธอส​.ตามโครงการสนับสนุนให้คนรายได้น้อยมีบ้านเป็นของตนเอง​ ล่าสุดยอดปล่อยสินเชื่อ​ ณ​ วันที่ ​16 ก.ค.นี้​ อยู่ที่​ 1.07แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม​ หากสถานการณการแพร่ระบาดโควิด-19ยุติลง​ บวกกับมีมาตรการสนับสนุนด้านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำจากรัฐเพิ่มเติม​ เชื่อว่า​ ธอส.​ จะสามารถปล่อยกู้ได้เฉลี่ยเดือนละ 1.7-1.8 หมื่นล้านบาทต่อเดือน​ ซึ่งจะทำให้​ ณ​ สิ้นปีนี้​ ยอดปล่อยสินเชื่อ​สามารถทำได้ ​2.1แสนล้านบาท

ตัวเลขทางบัญชีที่สำคัญของ​ ธอส. ณ​ สิ้นไตรมาสที่สองของปีนี้​ ยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่​ 1.256 ล้านล้านบาท​ เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีทีแล้ว​ 3.89% เงินฝากรวมอยู่ที่​ 1.060 ล้านล้านบาท​ เพิ่มขึ้น​ 6.76% และมีกำไรสุทธิ​ 4.83พันล้านบาท​ ต่ำกว่าเป้าหมาย 14.87%