ดีแทคหั่นค่าใช้จ่าย-เงินลงทุน มองครึ่งปีหลังฟื้นยาก

 ดีแทคหั่นค่าใช้จ่าย-เงินลงทุน   มองครึ่งปีหลังฟื้นยาก

บริษัทจดทะเบียนได้เข้าสู่ช่วงการทยอยประกาศผลประกอบการ ไตรมาส 2 ปี 2563  และในรอบครึ่งปีกันแล้ว ซึ่งบริษัทแรกที่ประกาศตัวเลขออกมาได้สร้างเซอร์ไพส์เกินกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้มาก   

บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC  โชว์ตัวเลขกำไร 1,888 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 25 % จากไตรมาสก่อน และยังเพิ่มขึ้น 20 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน

การปรับตัวเพิ่มขึ้นของกำไรในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่ธุรกิจได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการปิดสถานบริการ  หยุดดำเนินธุรกิจ  มีการกักตัวอยู่ที่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไวรัส  ส่งผลทำให้เม.ย- มิ.ย. ทำให้คาดว่าจะเป็นช่วงที่ผลการดำเนินการปรับตัวลดลงต่ำสุดของปี

สำหรับธุรกิจสื่อสารในฐานะโอเปอเรเตอร์ ถือว่าเป็นธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มได้รับผลกระทบน้อยที่สุดก็ว่าได้ เพราะประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้อินเตอร์เน็ต  และการสื่อสารผ่านโทรศัพท์แทนการพบปะพูดคุย  จึงทำให้กลายเป็นหนึ่งธุรกิจที่รอด (ตาย) จากไวรัสโควิด-19 ก็ว่าได้

ดีแทค รายงานรายได้ในไตรมาสดังกล่าว 19,160 ล้านบาท  ลดลง 4.3 % จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน  เป็นการลดลงจากทั้งรายได้ค่าบริการและรายได้ขายเครื่องโทรศัพท์   แม้ว่าในช่วงดังกล่าวจะมีมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ ให้ประชาชนรับสิทธิโทรฟรี 100 นาที และ อินเตอร์เน็ต 10 กิกะไบต์  ซึ่งทาง กสทช. จะจ่ายคืนให้โอเปอเรเตอร์แทน  แต่บริษัทยังได้รับผลกระทบไม่น้อย

จากนักท่องเที่ยวที่หายไป แรงงานต่างด้าวที่ออกจากประเทศไทย และการปิดตัวลงของร้านดีแทคเป็นเวลายาวนาน มากกว่าหนึ่งเดือนซึ่งส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของลูกค้าใหม่    ซึ่งหากดูจากตัวฐานลูกค้าของดีแทคได้รับผลกระทบไม่น้อย

โดยไตรมาส 1 ปี 2563  ดีแทคมีฐานลูกค้าที่สิ้น 18.8 ล้านเลขหมาย ลดลงจากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 19.6 ล้านเลขหมาย   ขณะที่ฐานลูกค้าใหม่ยังลดต่อเนื่อง 8.3 แสนราย จากไตรมาสก่อนลดลง 1 ล้านราย

สอดคล้องกับรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมาย ไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (ARPU)  253 บาทต่อเดือน ซึ่งทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส  หากเป็นกลุ่มลูกค้ารายเดือน เท่ากับ 525 บาทต่อเดือน ลดลง 0.7 % จากไตรมาสก่อน และกลุ่มลูกค้าระบบเติมเงิน เฉลี่ย 125 บาทต่อเดือน ลดลง 4.1 % จากไตรมาสก่อน

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ดีแทคกลับทำได้ดีและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในไตรมาสดังกล่าวคือสามารถลดต้นทุนลงมาได้แทบทุกส่วนเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน  ทั้งต้นทุนการดำเนินงานไม่รวมค่าเชื่อมโครงข่าย (IC)  ลดลง 0.9 % ต้นทุนค่าธรรมเนียม ลดลง 17.1  ค่าใช้จ่ายด้านโครงข่ายลดลง 8.6 และค่าใช้จ่ายการขายและบริหารลดลง  14.2 %

การไล่ปรับลดค่าใช้จ่ายและต้นทุน ถือว่าเป็นสัญญาณที่บ่งบอกชัดเจนว่าบริษัทอยู่ในโหมดระมัดระวังตัวมากแค่ไหน    รวมไปถึงการที่ดีแทคออกมาปรับมุมมองธุรกิจในปี 2563 เข้าสู่การรักษาเงินสดและลดการลงทุนลงยิ่งตอกย้ำถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในระยะข้างหน้าได้เป็นอย่างดี

ต้นปีบริษัทมีมุมมองท้าทายแต่มองไปข้างหน้ายังเห็นโอกาสซึ่งรวมถึงการกลับมาอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและแรงงานต่างด้าว      ขณะที่ช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 หลังประกาศงบฯ ดีแทคปรับปรุงแนวโน้มปี 2563 รายได้จากการให้บริการที่ไม่ร่วมค่า IC ติดลบอัตราร้อยละที่เป็นเลขหลักเดียวในระดับต่ำ และปรับเงินลงทุนเหลือ 8,000 -10,000 ล้านบาท จากต้นปี ประกาศ 13,000-15,000 ล้านบาท

ท่ามกลางการปรับมุมมองธุรกิจแต่อีกด้านดีแทค ซึ่งมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เทเลนอร์ ยังยอมควักเงินในกระเป๋าที่ต้องการตุนเอาไว้ออกมาจ่ายปันผลระหว่างกาลงวดปี 2563  ในอัตรา 0.87 บาทต่อหุ้น เป็นเม็ดเงินรวม 2,059 ล้านบาท ซึ่งจะขึ้นเครื่องหมายกำหนดรับสิทธิ (XD)  24 ก.ค. และจ่ายปันผล 14 ส.ค.  คิดเป็นอัตราจ่ายปันผลที่ 2.2 %

เปรียบเทียบปี 2562 บริษัทมีการจ่ายปันผล รวม 2.87 บาทต่อหุ้น   รวมเป็นเม็ดเงิน 6,795 ล้านบาท แบ่งเป็นการจ่ายระหว่างกาล 1.61 บาท ต่อหุ้น    และรอบครึ่งปี 1.26 บาทต่อหุ้น  ทำให้หุ้น DTAC กลายเป็นหุ้นที่มีการจ่ายปันผลดีและสม่ำเสมอไปโดยปริยาย