กกพ.จ่อออกประกาศซื้อไฟขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ รอพลังงานไฟเขียวหลักเกณฑ์ 

กกพ.จ่อออกประกาศซื้อไฟขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ รอพลังงานไฟเขียวหลักเกณฑ์ 

กกพ.พร้อมออกประกาศรับซื้อไฟขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ ตามโควตาแผนพีดีพี 2018 รอ กบง.เคาะปริมาณและราคา รับปีนี้ชะลอเปิดโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 100 เมกะวัตต์ และพลังงานลม 90 เมกะวัตต์ เหตุแผนพีดีพี 2018 ฉบับปรับปรุงใหม่ยังไม่ผ่าน ครม.

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1(PDP 2018 Rev.1) ที่ยังไม่ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น ส่งผลให้การออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าโครงการที่บรรลุอยู่ในแผนพีดีพีดังกล่าว ต้องชะลอออกไป เช่น โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อนเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 700 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 90 เมกะวัตต์ เป็นต้น

ดังนั้น ในปีนี้ จะมีโครงการที่ กกพ.สามารถเดินหน้าออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าได้ ตามแผนพีดีพี 2018 ฉบับปัจจุบัน คือ โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้ ทางกระทรวงมหาดไทย ที่เป็นผู้พิจารณาคัดเลือกโครงการ ได้ยื่นเสนอโครงการมายังกระทรวงพลังงานแล้ว คาดว่า จะนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)ในเร็วๆนี้ เพื่ออนุมัติปริมาณรับซื้อ และอัตรารับซื้อไฟฟ้า โดยโครงการดังกล่าวหากผ่านกระบวนการพิจารณาของกระทรวงพลังงานแล้ว ทาง กกพ.ก็พร้อมที่จะเดินหน้าออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าต่อไป

“เชื้อเพลิงขยะชุมชน ถูกบรรจุอยู่ในโควตาแผนพีดีพี 2018 ฉบับปัจจุบัน สามารถดำเนินการได้ หากกระทรวงพลังงาน ส่งเรื่องมายังกกพ. ก็ต้องดูว่า จะทยอยออกประกาศรับซื้อกี่เมกะวัตต์ เช่น ปีนี้ อาจเปิด 200 เมกะวัตต์ และอีก 200 เมกะวัตต์ในปีหน้า ก็ทำได้ขึ้นอยู่กับการพิจารณา”

นอกจากนี้ ในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่บรรจุอยูในแผนพีดีพี 2018 ก็จะยังเดินหน้าการลงทุนได้ตาม

ขณะที่ในส่วนของโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ในปีนี้ กกพ.ยังเปิดรับซื้อไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ในปี63 มีผู้สนใจยื่นเสนอโครงการและมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA)กับรัฐแล้ว 78 ราย ปริมาณรวม 468.32 กิโลวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD)แล้ว 15 ราย ปริมาณ 87.45 กิโลวัตต์

 นายคมกฤช กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มค่าไฟฟ้าปี 64 ยังต้องติดตามปัจจัยที่สำคัญคือ ปริมาณการใช้ไฟฟ้า และประมาณการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) จะเป็นอย่างไร ซึ่งตามข้อมูลอ้างอิงปัจจัยต่างๆจะพบว่า จีดีพี ที่ติดลบ 1% จะมีผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้า ลดลงประมาณ 0.7-0.8% รวมถึงทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท จะเปลี่ยนแปลงอย่างไรจากงวดสุดท้ายของปี63 อยู่ที่ 32 บาทต่อดอลลาร์

แต่หากดูเฉพาะต้นทุนค่าเชื้อเพลิง โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ พบว่า จะเอื้อให้ค่าไฟฟ้ามีแนวโน้มจะลดลง เนื่องจากราคาก๊าซฯของไทยอ้างอิงตามต้นทุนราคาน้ำมันย้อนหลัง 6-8 เดือนมีแนวโน้มปรับลดลง โดยคาดการณ์ราคาก๊าซฯ งวด ม.ค.-เม.ย.64 จะอยู่ที่ประมาณ 170 บาทต่อล้านบีทียู จากงวด ก.ย.-ธ.ค.63 อยู่ที่ประมาณ 179.80 บาทต่อล้านบีที

สำหรับการพิจารณาค่าไฟฟ้า งวดสุดท้ายของปีนี้ (ก.ย. – ธ.ค. 63) กกพ.มีมติปรับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร(ค่าเอฟที) สำหรับเรียกเก็บจากประชาชน ลดลง 0.83 สตางค์ต่อหน่วย หรือ เรียกเก็บค่าเอฟที -12.43 สตางค์ต่อหน่วย สะท้อนต้นทุนราคาเชื้อเพลิงที่แท้จริง ซึ่งลดลงจากเดิมที่เรียกเก็บ -11.60 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยลดลงเหลือ 3.63 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบันค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.64 บาทต่อหน่วย(ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาอัตราค่าไฟฟ้าดังกล่าว กกพ.ได้ใช้ตัวเลขประมาณการณ์จีดีพี ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่คาดว่า จะติดลบ 8.1%ในปี 63 จากเดิมที่ใช้ตัวเลขประมาณการณ์ติดลบ 5.5% ซึ่งจะส่งผลให้ประมาณการณ์การใช้ไฟฟ้าปีนี้ จะลดลง 6.5

นอกจากนี้ พบว่า มีหลายหน่วยงานของภาครัฐได้ทำหนังสือสอบถามมายัง สำนักงาน กกพ. ว่า สามารถปรับลดค่าไฟฟ้าเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือประชาชน หากโควิด-19 ระบาดรอบ 2 หรือไม่ ซึ่งทางสำนักงานฯ ได้ตอบกลับไปว่า หากต้องการลดค่าไฟฟ้า เพื่อดูแลประชาชนเพิ่มเติม ทางภาครัฐก็ต้องจัดสรรงบประมาณมาร่วมดูแล เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 รอบแรก ได้ใช้เงินบริหารจัดการค่าไฟฟ้า ของ 3 การไฟฟ้า หมดหน้าตักไปแล้ว