'ยูเอ็น' เร่งปฏิรูประบบอาหาร ชี้หลังโควิดคลาย กว่า 132 ล้านคนขาดแคลน

'ยูเอ็น' เร่งปฏิรูประบบอาหาร ชี้หลังโควิดคลาย กว่า 132 ล้านคนขาดแคลน

สหประชาชาติ เรียกร้องประเทศสมาชิกเร่งการปฏิรูประบบอาหารของโลก ชี้หลังโควิด ทำความมั่นคงอาหารย่ำแย่ กว่า 132 ล้านคนได้รับอาหารไม่เพียงพอ

นายธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูตฝ่ายเกษตรสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโรม และผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงโรม (FAO/IFAD/WFP) ในฐานะ ประธานคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก (CFS) เปิดเผยว่า ผลกระทบของการระบาดโควิด-19 ได้ตอกย้ำถึงปัญหาด้านความมั่นคงอาหารและโภชนาการของโลกให้เลวร้ายลงไปอีก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าระบบอาหารของโลก และระดับประเทศ (Food systems) มีปัญหาหรือระบบมีข้อบกพร่อง

ดังนั้น นาย António Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ร่วมแถลง รายงานสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการโลก ประจำปี 2563 มีเป้าหมายร่วมยุติความหิวโหยและภาวะทุพโภชนาการในทุกรูปแบบ ซึ่งปัจจุบัน CFS ได้จัดทำแนวทางปฏิบัติเชิงนโยบายด้านระบบอาหารและโภชนาการ และ นโยบายด้านเกษตรเชิงนิเวศและนวัตกรรมภาคเกษตร ซึ่งจะนำเข้าสู่การพิจารณารับรอง ในเดือน ก.พ. 2564 รวมทั้งจะไปสู่การหารือในการปฏิรูประบบอาหารโลก ในระหว่างการประชุมสุดยอดระดับผู้นำด้านระบบอาหารโลก (Food Systems Summit) ในปี 2564

  159489452474

อย่างไรก็ดี จากรายงานสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการโลก ปี 2563 พบว่า ปัจจุบันโลกผลิตอาหารได้เพียงพอกับจำนวนประชากรโลก แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเข้าถึงอาหารได้ โดย 1 ใน 10 ของประชากรโลก ยังคงอยู่ในภาวะเสี่ยงสูงที่จะมีอาหารไม่เพียงพอแก่การบริโภค ประชากรโลกกว่า 2 พันล้านคน มีโอกาสน้อยที่จะเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการได้อย่างเพียงพอ

อีกทั้ง ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ประเมินว่ามีประชากรกว่า 83 ถึง 132 ล้านคน ได้รับอาหารและสารอาหารไม่เพียงพอ เด็กเล็กกว่า 144 ล้านคน ที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ อยู่ในสภาพแคระแกร็น และกว่า 47 ล้านคน อยู่ในสภาพอดอาหาร นอกจากนี้ อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีต้นทุนและมีราคาแพง ดังนั้น จึงต้องจัดการปรับเปลี่ยนระบบอาหารทั้งระบบ food supply chain

159489454073