ต่างชาติขายหุ้นไทย 8 แสนลบ. ใน 7 ปี KKP ชี้นโยบายรัฐไม่เอื้อการลงทุน

ต่างชาติขายหุ้นไทย 8 แสนลบ. ใน 7 ปี KKP ชี้นโยบายรัฐไม่เอื้อการลงทุน

นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยกว่า 8 แสนล้านบาท นับแต่ปี 2556 ขณะที่ FDI วูบเหลือ 14% 'เกียรตินาคินภัทร' ระบุสาเหตุนโยบายรัฐไม่ส่งเสริมการแข่งขันเสรี และรูปแบบการลงทุนไม่เอื้อให้เอกชนลงทุนตาม ขณะที่การเติบโตในประเทศต่ำลงทุนต่อเนื่อง

KKP research ของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติยังคงเป็นผู้ขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 รวมมูลค่ากว่า 8 แสนล้านบาท และยังทยอยลดการลงทุนโดยตรง (FDI) ในประเทศไทยเมื่อเทียบกับอาเซียน จากที่ไทยมีเคยสัดส่วน FDI สูงถึง 44% ในช่วงปี 2549 – 2553 ลดเหลือเพียง 14% ในปัจจุบัน

สำหรับปี 2563 นี้ นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยถึง 2.2 แสนล้านบาท หลังตลาดหุ้นเผชิญกับความตื่นตระหนกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การเทขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่อง กดดัชนี SET ให้ปรับตัวลดลงลึกสุดถึง 30% ในช่วงเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา แม้ภาวะตลาดจะปรับตัวดีขึ้นจากจุดต่ำสุด แต่ยังเห็นการขายสุทธิอย่างต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติแทบทุกสัปดาห์

เหตุผลสำคัญที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยต่อเนื่อง สวนทางกับนักลงทุนไทย คือ ต่างชาติมีตัวเลือกในการลงทุนทั่วโลก ต่างกับนักลงทุนไทยที่เงินลงทุนส่วนใหญ่ยังอยู่ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเพราะข้อจำกัดในการออกไปลงทุนต่างประเทศ รวมถึงความรู้ความเข้าใจที่ยังน้อยในตลาดของประเทศอื่น อีกทั้งคนไทยยังต้องใช้จ่ายด้วยเงินบาทเป็นหลัก จึงนิยมลงทุนในสินทรัพย์ในประเทศ

 

 

เมื่อย้อนดูแนวโน้มการเติบโตของตลาดหุ้นไทย อิงจากดัชนี MSCI Thailand Index เทียบกับประเทศอื่นๆ พบว่า ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นไทยแทบจะไม่เติบโต ยังคงอยู่ในระดับเดิมกับปี 2556 ขณะที่ดัชนี MSCI ของสหรัฐเติบโตกว่า 100% และดัชนีของภูมิภาคเอเชียโดยรวมโตกว่า 50%

ปัจจัยเหล่านี้ไม่เพียงกดดันผลตอบแทนตลาดหุ้นไทย แต่เป็นสัญญาณเตือนว่าประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจที่อาจทำให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในอนาคตต่ำลงอย่างยาวนานหรือแม้กระทั่งถาวร

ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยลดต่ำมาโดยตลอด จากค่าเฉลี่ย 7% ในช่วงก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง (ปี 2540) มาอยู่ที่ประมาณ 5% ในช่วงปี 2542 – 2555 ในขณะที่ช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 3% และเมื่อมองในแง่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในประเทศที่มักจะวัดโดยรายได้เฉลี่ยต่อหัว (GDP per capita) พบว่าไทยพัฒนาได้ช้ากว่าประเทศอื่นมาก อย่างประเทศจีนซึ่งเติบโตอย่างก้าวกระโดด จาก 20 ปีก่อนที่มี GDP per capita ที่ 959 ดอลลาร์ ต่ำกว่าไทยซึ่งอยู่ที่ 2,007 ดอลลาร์ แต่ปัจจุบันตัวเลขของจีนเพิ่มขึ้นเป็น 10,261 ดอลลาร์ ขณะที่ไทยอยู่ที่ 7,808 ดอลลาร์

ศักยภาพเศรษฐกิจไทยที่ลดลงเป็นผลจากการลงทุนในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน โดยสัดส่วนการลงทุนต่อ GDP ของไทยอยู่ที่เพียง 20-25% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกันซึ่งมีระดับการลงทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 30.5% ต่อ GDP

หากพิจารณาในรายบริษัท โดยใช้ข้อมูลงบการเงินของบริษัทในตลาดหุ้นไทย จะเห็นภาพคล้ายกันว่า บริษัทไทยลดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง สะท้อนผ่านตัวเลขค่าใช้จ่ายการลงทุน (Capital Expenditure) ซึ่งลดลงจากค่าเฉลี่ยที่เติบโตปีละ 16% ในช่วงปี 2547 – 2552 เหลือเพียงเติบโต 1.6% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ลดการลงทุนลงอย่างมาก ได้แก่ กลุ่มพลังงาน ก่อสร้าง ขนส่ง ไอที ศูนย์กระจายสินค้า อิเลกทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ จะมีเพียงกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวที่ยังรักษาระดับการเติบโตของการลงทุน

การลงทุนที่ลดลงของบริษัทไทย เป็นเพราะผลตอบแทนจากการลงทุนในไทยที่ลดลง ตามตลาดในประเทศที่ไม่โต ขณะที่ธุรกิจขาดแรงจูงใจในการแข่งขันและพัฒนานวัตกรรม รวมถึงความไม่มีเสถียรภาพด้านการเมืองและนโยบายเศรษฐกิจ สร้างความไม่แน่นอนในทิศทางเศรษฐกิจและฉุดรั้งการตัดสินใจลงทุน โดยเฉพาะนโยบายที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม รวมถึงรูปแบบการลงทุนของรัฐไม่ชักนำให้เกิดการลงทุนของเอกชน

โดยสรุปแล้ว การที่นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยต่อเนื่อง ไม่ใช่เรื่องของภาวะตลาดระยะสั้น หรือผลกระทบชั่วคราวจากโควิด-19 แต่เป็นเครื่องสะท้อนที่ชัดเจนอีกด้านหนึ่งถึงการขาดความเชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ซึ่งเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างในหลายมิติ ที่สำคัญคือ ระดับการลงทุนที่ต่ำมาเป็นเวลานานและไม่กระจายตัว จนขาดความสามารถแข่งขันในเวทีโลก