"หัวเว่ย" แถลงการณ์อังกฤษแบน 5จี ปลุกความเหลื่อมล้ำดิจิทัล

"หัวเว่ย" แถลงการณ์อังกฤษแบน 5จี ปลุกความเหลื่อมล้ำดิจิทัล

“การตัดสินใจอันน่าผิดหวังของรัฐบาลสหราชอาณาจักรครั้งนี้ถือเป็นข่าวร้ายของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทุกคนในสหราชอาณาจักร"

จากกรณีที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรประกาศเมื่อวันอังคารที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา ว่ารัฐบาลมีมติห้ามมิให้บริษัทผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมของสหราชอาณาจักรซื้ออุปกรณ์ 5G จากหัวเว่ยหลังสิ้นสุดปี 2020 เป็นต้นไป และต้องถอดชุดอุปกรณ์ 5G ของหัวเว่ยออกจากเครือข่ายทั้งหมดของผู้ให้บริการภายในปี 2027

นายเอ็ดเวิร์ด บรูว์สเตอร์ (Edward Brewster) โฆษกหัวเว่ยแห่งสหราชอาณาจักรชี้แจงว่า “การตัดสินใจอันน่าผิดหวังของรัฐบาลสหราชอาณาจักรครั้งนี้ถือเป็นข่าวร้ายของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทุกคนในสหราชอาณาจักร นอกจากจะเสี่ยงต่อความล่าช้าในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นแล้ว ยังจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลมากขึ้นอีกด้วย การแบนครั้งนี้เป็นการเดินถอยหลังแทนที่จะก้าวไปข้างหน้า เราจึงขอให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรพิจารณาการตัดสินใจนี้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม เรายังคงเชื่อมั่นว่ามาตรการกีดกันครั้งใหม่จากสหรัฐฯ นี้จะไม่กระทบกับด้านความยืดหยุ่นและด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ของเราที่มีการใช้งานในสหราชอาณาจักร น่าเสียดายที่อนาคตของหัวเว่ยในสหราชอาณาจักรได้ตกเป็นเหยื่อทางการเมืองซึ่งเกี่ยวข้องกับนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ โดยมิได้เกี่ยวข้องกับเรื่องความปลอดภัยของอุปกรณ์แต่อย่างใด

ในระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา หัวเว่ยมุ่งมั่นในการสร้างการเชื่อมต่อที่ดีขึ้นในสหราชอาณาจักร และในฐานะองค์กรที่ยึดมั่นในการแสดงความรับผิดชอบ เราจะยังคงมุ่งให้บริการและช่วยเหลือผู้บริโภคอย่างที่ปฏิบัติมาโดยตลอด ทั้งนี้ เราจะทำการตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้งว่าการประกาศในวันนี้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของเราในด้านใด และเราจะทำงานร่วมกับรัฐบาลสหราชอาณาจักรเพื่อชี้แจงว่าหัวเว่ยจะสามารถช่วยยกระดับการเชื่อมต่อในสหราชอาณาจักรให้ดียิ่งขึ้น"

ขณะที่ ก่อนหน้านี้ หัวเว่ยประกาศผลประกอบการธุรกิจช่วงครึ่งแรกของปี 2563 โดยระบุว่า ช่วงเวลาดังกล่าว บริษัทสร้างรายได้รวม 4.54 แสนล้านหยวน (ประมาณ 2.07 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 เมื่อเทียบปีต่อปี อัตรากำไรสุทธิ (NPM) อยู่ที่ร้อยละ 9.2 ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจแคร์ริเออร์, กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ และกลุ่มธุรกิจคอนซูมเมอร์ของหัวเว่ย มีรายได้ 1.596 แสนล้านหยวน (เกือบ 7.29 แสนล้านบาทโดยประมาณ), 3.63 หมื่นล้านหยวน (เกือบ 1.66 แสนล้านบาทโดยประมาณ) และ 2.558 แสนล้านหยวน (เกือบ 1.17 ล้านล้านบาทโดยประมาณ) ตามลำดับ

สืบเนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) จึงไม่เพียงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับไวรัสเท่านั้น แต่ยังเป็นเสมือนเครื่องยนต์ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง นอกจากนี้ หัวเว่ยยังได้เน้นย้ำถึงจุดยืนในการทำงานร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายและพาร์ทเนอร์ในแวดวงอุตสาหรรมเดียวกัน เพื่อรักษามาตรฐานการบริหารจัดการเครือข่ายให้มีเสถียรภาพ เร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และสนับสนุนการควบคุมการแพร่ระบาดในระดับประเทศ รวมทั้งฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

ด้วยปัจจัยภายนอกที่ซับซ้อนส่งผลให้เกิดความร่วมมือแบบเปิดกว้างและก่อให้เกิดเชื่อมั่นต่อห่วงโซ่แห่งคุณค่า (value chains) ในระดับโลกมากกว่าครั้งไหนๆ หัวเว่ยให้คำมั่นสัญญาว่าจะเดินหน้าปฏิบัติตามพันธกิจที่มีต่อลูกค้าและซัพพลายเออร์ รวมทั้งจะยืนหยัดต่อสู้ ขับเคลื่อนไปข้างหน้า และอุทิศตนให้กับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัลของโลก ไม่ว่าบริษัทจะต้องเผชิญกับอุปสรรคและความท้าทายใดๆ ในอนาคตก็ตาม