'พิเชษฐ' ดัน 'ไลน์' โตสวนวิกฤติ ปักธง 'นิวนอร์มอล ไลฟ์สไตล์'

'พิเชษฐ' ดัน 'ไลน์' โตสวนวิกฤติ ปักธง 'นิวนอร์มอล ไลฟ์สไตล์'

“ไลน์” ย้ำจุดยืน ไลฟ์ อินฟราสตรัคเจอร์ ประกาศเป็นแพลตฟอร์มสำหรับนิว นอร์มอล ไลฟ์สไตล์ของคนไทย ชูบริการหลากหลาย ตอบโจทย์ผู้บริโภค-ธุรกิจ โชว์สถิติช่วงโควิดระบาด ครองแชมป์แพลตฟอร์มดิจิทัลที่ได้รับความนิยมสูงสุด ผู้ใช้งานแตะ 46 ล้านคน

ไลน์มีพนักงานในไทยกว่า 500 กว่าคน ให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศไทยทั้งด้านการพัฒนาธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ รวมถึงบุคลากร มองไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพ การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลทำให้มีช่องว่างที่จะไปต่อ ดังนั้นมีโอกาสที่จะได้รับการจัดสรรงบประมาณการลงทุนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ด้านความท้าทายไม่ใช่คู่แข่งทางการค้า มองว่ายิ่งมีผู้เล่นเข้ามามากขึ้นยิ่งผลักดันให้ตลาดเติบโต โจทย์คือการปรับตัวให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค ตอบโจทย์นักการตลาดและนักโฆษณา ครึ่งปีหลังคาดว่าการแข่งขันของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจะยิ่งทวีความรุนแรง ซึ่งไลน์มองว่าเป็นเรื่องดี ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ สำหรับไลน์เชื่อมั่นในศักยภาพของตนเองว่ามีผลิตภัณฑ์จำนวนมากที่สามารถตอบโจทย์

รายได้ไทยติดท็อปเทียร์โลก

พิเชษฐ เผยว่า หลังวิกฤติโควิดพบว่ามีพื้นที่สำหรับการเติบโตของโฆษณาออนไลน์ และไลน์พร้อมที่จะเติบโตไปพร้อมกับตลาด แม้จะเกิดการระบาดละลอก 2 แต่เชื่อว่าจะยังเดินหน้าต่อไปได้ เนื่องจากทั่วโลกเริ่มเรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่ออยู่กับโรคระบาด ขณะเดียวกันมีช่องทางดิจิทัลมาช่วยเพิ่มโอกาส ไม่ใช่แค่มาดิสรัป แต่ยังช่วยให้ชีวิตมีความสะดวกสบายมากขึ้น

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เติบโตได้โดดเด่นช่วงวิกฤติคือ ไลน์แมน และไลน์มายช้อป และที่น่าสนใจเพียงระยะเวลาสั้นๆ ช่วงของการล็อกดาวน์ ไลน์ออฟฟิเชียลแอคเคาท์(ไลน์โอเอ) เพิ่มจำนวนจาก 3 ล้านบัญชี ไปเป็น 4 ล้านบัญชี เมื่อเดือนพ.ค. โดย 4 เซ็กเตอร์ที่มีการใช้งานมากขึ้นประกอบด้วย ยานยนต์ ค้าปลีก เอสเอ็มบี และภาครัฐ ซึ่งนอกจากใช้เพื่อการตลาดและการค้าแล้ว เป็นช่องทางสำหรับการสื่อสาร ให้การศึกษาเกี่ยวกับโรคระบาด

ส่วนไลน์คอลล์ เมื่อเทียบระหว่างเดือนม.ค. และ มี.ค. 2563 มียอดการใช้งานวอยซ์คอลล์เพิ่มขึ้น 236% วีดิโอคอลล์ 270% ด้านยอดการเติบโตของจำนวนร้านค้าที่ใช้มายช้อปจากเดือนม.ค.ถึงเม.ย.สูงถึง 180% ปัจจุบันมีจำนวนร้านค้าบนไลน์โอเอที่ใช้เครื่องมือมายช้อปหลักหมื่น จากช่วงแรกๆ มีเพียงหลักร้อยเท่านั้น เฉพาะผู้ค้ารายใหม่เติบโต 69% จำนวนคำสั่งซื้อต่อเดือนเติบโต 334%

ขณะที่ ไลน์ชอปปิง ยอดคำสั่งซื้อเติบโตมากกว่า 100% มูลค่าการซื้อขาย(จีเอ็มวี) เติบโตกว่า 138% เพจวิวเติบโต 233% กลุ่มสินค้ายอดนิยมคือ เครื่องใช้ภายในบ้าน สุขภาพและความงาม โมบายและอุปกรณ์เสริม แฟชั่น และอุปกรณ์กีฬา สัตว์เลี้ยง เครื่องเล่น ของสะสม

ด้านไลน์แมนการใช้งานเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของปี ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 300 % เมื่อเทียบกับการใช้งานในสถานการณ์ปกติ เมนูยอดนิยมคือ อาหารไทย อาหารอีสาน อาหารตามสั่ง และที่มาแรงคืออาหารประเภทชาบูและปิ้งย่าง กล่าวได้ว่าทั้งการกินและใช้สอยยังมีดีมานด์ แต่ไปอยู่บนออนไลน์ และอยู่บนแพลตฟอร์มของไลน์

ไลน์เผยว่า ธุรกิจไลน์ประเทศไทยเติบโตต่อเนื่องทุกปี และเชื่อว่าทุกผลิตภัณฑ์มีโอกาสเติบโต ครึ่งปีแรกนี้ทำได้ตามเป้าหมายเป็นที่น่าพอใจ โดยรายได้มาจาก 3 กลุ่มหลัก คือ ธุรกิจคอนเทนท์, สตราทิจิคบิสิเนส, และโฆษณา ขณะนี้รายได้ของไลน์ประเทศไทยติดอันดับท็อปเทียร์ของไลน์ระดับโลก และติดอันดับ 2-3 มาโดยตลอด

พร้อมระบุว่า พร้อมให้ความร่วมมือกับนโยบายการจัดเก็บภาษีดิจิทัลของรัฐบาล ที่ผ่านมาปฏิบัติตามกฏของกรมสรรพากรมาตั้งแต่ต้น บริษัทแม่เองให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกฎหมายและจากนี้ยินดีที่จะปฏิบัติตามทุกกฎหมายของไทย