แก้โควิดรอบ 2 รัฐต้องเข้มงวดตัวเอง

แก้โควิดรอบ 2 รัฐต้องเข้มงวดตัวเอง

กรณีการติดเชื้อของมหารอียิปต์และลูกสาวอุปทูตซูดาน เกิดเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง จนมีเสียงสะท้อนว่ารัฐสั่งประชาชนปฏิบัติตามการควบคุมโควิด-19 แต่กลับมาทำผิดเสียเอง หากรัฐบาลไม่รีบตัดไฟแต่ต้นลม อาจกลายเป็นกระแสต่อต้านรัฐบาลในที่สุด

แม้ไม่มีการพบเชื้อโควิดในประเทศเป็นวันที่ 51 แล้ว แต่การพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เป็นทหารอียิปต์และลูกสาวอุปทูตซูดานเมื่อวันที่ 14 ก.ค.63 ที่ผ่านมา ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ประเด็นส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปยังการได้รับสิทธิพิเศษ โดยเฉพาะกรณีนายทหารอียิปต์ที่สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจในจังหวัดระยอง ล่าสุดวานนี้ (15 ก.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ต้องลงพื้นที่ตามที่ตัวแทนผู้ประกอบการชาวระยองยื่นหนังสือขอมา ชาวระยองจี้นายกฯ ให้ลงพื้นที่เพื่อขอโทษคนระยองด้วยตัวเอง พร้อมเสนอให้ยกเลิกการอนุญาตชาวต่างชาติเข้าประเทศโดยไม่กักตัว 14 วัน

เป็นความเคลื่อนไหวหลังจากลูกค้านักท่องเที่ยวยกเลิกการจองโรงแรมที่พักเกือบทั้งหมดในจังหวัดระยอง ไม่เพียงเท่านี้ กระแสความไม่พอใจ ศบค.และรัฐบาลต่อกรณีเข้มงวดประชาชนในการดูแลตนเอง ให้ความร่วมมือเพื่อความปลอดภัยกับผู้อื่นทั้งรักษาระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือทำความสะอาด ห้ามทำมาค้าขายที่อาจสุ่มเสี่ยงกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ทว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่กี่ยวข้องกลับบกพร่องการ์ดตกเสียเอง การเริ่มไม่เชื่อฟังรัฐบาลเห็นได้จากผู้ประกอบการใน กทม.ติดป้ายประกาศต่อต้านการให้ความร่วมมือ

ธุรกิจห้างร้าน โดยเฉพาะรายย่อยเริ่มออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดในรอบแรก วันนี้กำลังประสบปัญหาทางธุรกิจ ส่วนใหญ่มีพนักงานที่ต้องดูแล เมื่อปัญหาเกิดจากความหละหลวมของเจ้าหน้าที่รัฐ กลายเป็นประเด็นปลุกใจผู้ประกอบการเริ่มต่อต้านมาตรการของ ศบค. เราเห็นว่ามาตรการที่ออกมาแล้วจำเป็นต้องแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ส่วนมาตรการที่จะออกมาหลังจากนี้ ก็ต้องใช้ความรอบคอบ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในรอบที่ 2 จึงเป็นโจทย์หินของรัฐบาลในการบังคับใช้ ไม่ใช่แค่แรงกดดันจากภายนอก การแพร่ระบาดของเชื้อในต่างประเทศ ช่องโหว่ในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น วันนี้การบังคับใช้ยังเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ท้าทายต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในการเชื่อฟังรัฐบาล

การที่ ศบค.การ์ดตกกรณีทหารอียิปต์ จึงเป็นปัญหารุนแรงที่ผู้นำรัฐบาลจำเป็นต้องใช้สติและความอดทนอดกลั้นในการแก้ไข รวมถึงการให้สัมภาษณ์ที่จะใช้อารมณ์หรือสั่งการในลักษณะ 2 มาตรฐานไม่ได้ การที่โลกออนไลน์แห่เข้าไปกดไลค์ให้เจ้าของร้านอาหารกลางกรุงรายหนึ่งที่ติดป้ายหน้าร้านในทำนองในเมื่อรัฐการ์ดตกเสียเอง ต่อไปจะไม่เชื่อฟัง ใครหน้าไหนมาสั่งปิดก็ไม่ทำตาม แสดงให้เห็นว่ารัฐสั่งประชาชนแต่มาทำผิดเสียเอง ดังนั้นหากการแพร่ระบาดระลอก 2 แล้วมาสั่งปิดร้านอาหารจะไม่ยอมให้ปิด เจ้าของร้านอ้างว่ามีหนี้สินกำลังจะอดตาย

เราเห็นว่าหากรัฐบาลไม่รีบตัดไฟแต่ต้นลม โดยการแก้ไขปรับปรุงสิทธิพิเศษข้อยกเว้นให้บางกลุ่มไม่ว่าแขกของรัฐบาลหรือชาวต่างชาติที่เป็นแหล่งนำเข้าเชื้อ ผู้ประกอบการจะมีพฤติกรรมเลียนแบบ เกิดแนวร่วม กลายเป็นกระแสต่อต้านรัฐบาลในที่สุด