เซ็นกรุ๊ปเขย่าพอร์ต!รับธุรกิจร้านอาหารฟื้น

เซ็นกรุ๊ปเขย่าพอร์ต!รับธุรกิจร้านอาหารฟื้น

การคลายมาตรการล็อกดาวน์จากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย หนุนบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคกลับเข้าใช้บริการร้านอาหารในเครือ “เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป” เฉลี่ย 80-85% เทียบช่วงปกติถือว่าดีเกินคาด

แม้เหตุการณ์ ทหารอียิปต์” จะทำให้เกิดกระแสความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดรอบใหม่ แต่เชื่อว่าธุรกิจผ่านจุดต่ำสุดพร้อมเทิร์นอะราวด์! รับการฟื้นตัวแบบ V-Shape

บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN ผู้ประกอบธุรกิจบริการอาหาร (Food Services) กล่าวว่า เซ็นกรุ๊ปได้มีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการ เพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมค่าใช้จ่าย บริหารจัดการต้นทุนและกำไร   มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.นี้เป็นต้นไป โดยหลักมีการผสานความร่วมมือของทุกแบรนด์มากขึ้น จากเดิมบริการแยกส่วนแต่ละแบรนด์มีผู้จัดการทั่วไป (GM) ดูแลได้ทำการจัดพอร์ต 2 กลุ่มหลัก อาหารญี่ปุ่น และอาหารไทย พร้อมดึงบุคลากรมาแชร์เซอร์ซิสต่างๆ เพื่อสามารถควบคุมงบประมาณการใช้จ่ายต่างๆ ได้ดีขึ้น แบรนด์ที่มีศักยภาพโดดเด่นจะได้งบทำการตลาดเพื่อดึงยอดขายและลูกค้ามากขึ้น 

การปรับโครงสร้างใหม่ทำให้เกิดกลยุทธ์ตามมาหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีจากนี้ที่ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีปัญหา! ต้องมุ่งโฟกัสไปที่ตลาดโลคัล ด้วยกลยุทธ์ราคาที่เหมาะสม จะช่วยให้ลดต้นทุนหลังบ้านได้มาก พร้อม "ทบทวนพอร์ตโฟลิโอร้านอาหารในเครือ" ที่มีในปัจจุบันมากกว่า 10 แบรนด์ มุ่งให้ความสำคัญ 7 แบรนด์หลักที่มีศักยภาพในการสร้างการเติบโต ประกอบด้วย เซ็น (ZEN) อากะ (AKA) ออนเดอะเทเบิล  โตเกียว คาเฟ่ (On the Table Tokyo café) ตำมั่ว  (Tummour) เขียง (Khiang)  ดินส์ (Din's) และ ลาวญวน (Lao Yuan) โดยจะมีการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง

"ร้านอาหารญี่ปุ่นเซ็นเป็นที่รู้จักของลูกค้า การันตีความเชื่อถือในมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในยุคโควิดนี้ ทั้งมีเครือข่ายในศูนย์การค้า ช่องทางหลักของคนไทยในการออกมาใช้ชีวิต สร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งในเวลานี้ที่ไม่สามารถเดินทางต่างประเทศ และไม่กล้าไปต่างจังหวัดมากนัก"

7  แบรนด์หลักมีการเติบโตที่ดี! ทำให้เซ็นมองแนวทางต่อยอดโดยปรับกลยุทธ์สร้างโอกาสใหม่ๆ อาทิ ร้านปิ้งย่างอากะ เตรียมขยายไลน์ชาบู ออนเดอะเทเบิล มีการปรับเมนูรองรับลูกค้าคนไทยมากขึ้นจากเดิมเน้นชาวต่างชาติ  

โดยเฉพาะร้านอาหารไทยตามสั่งแบรนด์ “เขียง” เน้นโมเดลแฟรนไชส์ แทบจะไม่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิดในช่วงที่ผ่านมา และยังเป็นการสร้างโอกาสแก่ผู้ที่ต้องการสร้างอาชีพ ลงทุนต่ำ คืนทุนเร็ว ภายใน 2-3 ปี  ซึ่งช่วง 5 เดือนแรกที่ผ่านมา เขียง เปิดสาขาเพิ่มขึ้นกว่า 20 แห่ง ปัจจุบันมีสาขารวม 72 แห่ง ในสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 100 สาขา ซึ่งจะเป็นแบรนด์ร้านอาหารไทยตามสั่ง หรือ สตรีทฟู้ด ที่มีสาขามากที่สุดในไทย

นอกจากนี้มุ่งปั้น 2 แบรนด์พรีเมียม ซูชิชู  (Sushi Cyu) ร้านอาหารปิ้งย่างและปลาดิบสไตล์โอมากาเสะ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 2,000-5,000 บาทต่อหัว ปัจจุบันเปิดบริการ 4 สาขา และแบรนด์ เทสสึ (Tetsu) ปิ้งย่างเน้นคัดสรรเนื้อจากต่างประเทศ มีสาขาบริการ 1 แห่งที่เซ็นทรัล เอ็มบาสซี 

สำหรับแบรนด์รองต่างๆ อาทิ  มุฉะ บาย เซ็น (MUSHA by ZEN) ฟู เฟเวอร์ (FOO Flavor) แจ่วฮ้อน (Jaew Hon) เฝอ (Pho) จะชะลอแผนขยายสาขา และปรับเปลี่ยนพื้นที่เปิดทางให้แบรนด์หลัก รวมถึงโมเดล คลาวด์คิทเช่น และ เวอร์ชวลคิทเช่น” หรือครัวกลาง รองรับการปรุงอาหารแบรนด์อื่นในเครือ เช่น ร้านลาวญวณหรือตำมั่วบางสาขาที่สามารถปรุงอาหารแบรนด์เขียงได้ เพื่อเพิ่มยอดขายในแต่ละสาขา ทั้งเป็นแพลตฟอร์มรองรับการขยายตลาดดีลิเวอรีมากขึ้น 

กำลังซื้อในกลุ่มพรีเมียม และมิดเดิล-ไฮ ยังไปได้ แต่มิดเดิล-โลว์ ค่อนข้างได้รับผลกระทบมาก ที่ผ่านมาคนไทยบินไปรับประทานอาหารมิชลินในต่างประเทศกันไม่น้อย วันนี้เป็นโอกาสและจังหวะสำคัญในการเปิดเกมรุกใหม่! ของเซ็นกรุ๊ป” 

สอดรับแนวโน้มธุรกิจครึ่งปีหลังมั่นใจว่า เซ็นกรุ๊ป” จะกลับมาสร้างผลกำไรที่ดีอีกครั้ง จากครึ่งปีแรกภาพรวมธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบจากมาตรการเคอร์ฟิวและการล็อกดาวน์ในเดือน เม.ย.-พ.ค. เป็นจุดต่ำสุด! ซึ่งไตรมาสแรก มีผลประกอบการขาดทุน 44 ล้านบาท จากการปิดบริการร้านอาหารราว 10 วัน  หลังรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ระยะที่ 4 เมื่อกลางเดือนมิ.ย. บรรยากาศการจับจ่ายฟื้นตัวชัดเจน ธุรกิจร้านอาหารทยอยกลับมาเปิดให้บริการมากขึ้น และฟื้นตัวแบบ V-Shape กล่าวคือ หลังผ่านจุดต่ำสุดจะทะยานพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากร้านอาหารส่วนใหญ่ทั้งในและนอกศูนย์การค้า ของเซ็นกรุ๊ป มีลูกค้ากลับมาใช้บริการนั่งทานภายในร้าน 80-85% เมื่อเทียบกับช่วงปกติ  คาดว่าไตรมาสสุดท้ายธุรกิจจะกลับมาได้ถึง 90-95% 

บุญยง กล่าวต่อว่า เซ็นกรุ๊ป ยังมุ่งเพิ่มสัดส่วนรายได้จากช่องทางดีลิเวอรีผ่านแพลตฟอร์มแกร็บฟู้ด ไลน์แมน เก็ท ฟู้ดแพนด้า คอลเซ็นเตอร์ 1376 การพัฒนาเมนูใหม่ ชิกเก้นซี (Chicken Z) ไก่ทอดสูตรลับฉบับเซ็น เบื้องต้นปีนี้รายได้จากดิลิเวอรีคิดเป็นสัดส่วน 10% ของยอดขายรวม

ในครึ่งปีหลังนี้ เซ็นกรุ๊ป จะใช้งบกว่า 100 ล้านบาทในการขยายสาขาต่อเนื่อง รวมทั้งมีการลงทุนระบบเทคโนโลยีไอที เพื่อเสริมประสิทธิภาพ 

การปรับกลยุทธ์ธุรกิจ! ก้าวทันสถานการณ์ เพื่อทำให้ เซ็นกรุ๊ป กลับมาแข็งแกร่งกว่าเดิม พร้อมมองหาจังหวะในการปั้นแบรนด์ตัวเอง หรือ ซื้อกิจการ เพื่อต่อยอดการเติบโต โดยที่ “M&A” ยังคงเป็นโรดแมพของเซ็นกรุ๊ป ที่เชื่อว่าจะมีธุรกิจที่ยอมปล่อยมือ! พอสมควร